เรื่อง+ภาพ : Apochtophy’s

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 237/2017 June

การถ่ายภาพเด็กเป็นเรื่องที่ท้าทายและฝึกฝีมือได้ในหลายๆ ด้าน โดยส่วนใหญ่แล้ว เด็กแทบจะทุกคนมักจะไม่ค่อยอยู่นิ่งๆ กับที่ได้นาน ดังนั้นการถ่ายภาพเด็กให้สวยงาม จึงเป็นเรื่องของการเลือกใช้เทคนิครวมทั้งการใช้จิตวิทยาในการหาโอกาสสำหรับการถ่ายภาพเพื่อให้ได้จังหวะของภาพที่ต้องการ การถ่ายภาพเด็กจึงเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการถ่ายภาพที่น่าสนใจและมีเทคนิคที่ช่วยพัฒนาการถ่ายภาพของเราให้ดีขึ้นได้ สิ่งที่เราจะพิจารณาในการถ่ายภาพเด็กนั้นมีอยู่ด้วยกันไม่กี่เรื่องดังนี้ครับ

อารมณ์ สีหน้า แววตา

นับเป็นสิ่งสำคัญในการถ่ายภาพเด็ก การแสดงออกทางสีหน้าและแววตาของเด็กในภาพจะทำให้ภาพถ่ายนั้นน่าสนใจ ภาพที่เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกที่ถูกแสดงออกมา ทางสีหน้าและแววตาจะให้ความรู้สึกที่ดีกว่า การจับจังหวะของอารมณ์ สีหน้า และแววตาของภาพเด็กนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญช่างภาพต้องใช้การสังเกตอากัปกิริยาท่าทางการเคลื่อนไหวของเด็กที่เรากำลังถ่ายภาพ เด็กมักจะมีแววตาที่สดใส การมองหาจังหวะกดชัตเตอร์

ท่าทางที่ดูเป็นธรรมชาติ และ จิตวิทยาในการสั่งโพส

ท่าทางต่างๆ ในการถ่ายภาพเด็กนั้นเราจะได้มาด้วยจากสองวิธีอย่างแรก คือการหาจังหวะบันทึกภาพเอาเองอย่างที่เรียกว่าการถ่ายแคนดิต และวิธีที่สองคือการสั่งโพสท่า การถ่ายภาพแคนดิตเราต้องหาจังหวะและโอกาสซึ่งในบางครั้งเราอาจจะไม่ได้ท่าทางที่ตรงกับความต้องการ แต่เราจะได้ลักษณะภาพที่เป็นธรรมชาติ ในขณะที่การสั่งโพสท่านั้นอาจจะทำให้ได้ภาพที่ดูแข็ง แม้ว่าจะได้ท่าทางที่เราต้องการก็ตามที ดังนั้นการสั่งโพสท่าสำหรับการถ่ายภาพเด็กแล้วจึงต้องมีเทคนิคบางอย่างที่ทำให้เด็กที่เราถ่ายภาพทำท่าทางได้ตามที่เราต้องการ และดูเป็นธรรมชาติไม่เกร็งหรือเขอะเขิน เราอาจจะชวนเด็กพูดคุยเรื่องที่เขาชอบ หรือสนใจ เช่น โตขึ้นอยากเป็นอะไร ถ้าเด็กตอบว่าอยากเป็นทหาร เราก็ให้เขาทำท่าทหารให้ดู หรือบางครั้งอาจจะเริ่มจากให้เด็กเลียนแบบท่าทางของสัตว์ เช่น ให้ทำท่ากระต่าย หรือให้ทำท่าสัตว์ต่างๆ ที่เด็กรู้จักใช้ความเร็วชัตเตอร์

เพราะเด็กส่วนมากจะไม่หยุดนิ่งๆ ให้เราถ่ายภาพง่ายๆ ดังนั้นการเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์สูงน่าจะเป็นคำตอบ ให้ระวังเรื่องของความสว่างของภาพที่จะมืดลงดังนั้นการชดเชยแสงและการเลือกใช้ ISO ที่สัมพันธ์กันจะทำให้ได้ภาพที่สวยงาม โหมดควบคุมความเร็วชัตเตอร์เช่นโหมด s หรือ Tv จะทำให้เราควบคุมความเร็วชัตเตอร์ได้ง่ายขึ้น

ใช้ ISO

ถ้าเราใช้ความเร็วชัตเตอร์สูง มักจะส่งผลต่อความสว่างของภาพที่ลดลง การดัน ISO ให้เพิ่มขึ้นจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น เพื่อให้เราสามารถใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่สูงพอกับการถ่ายภาพได้ ระวังเรื่องของสัญญาณรบกวนที่เพิ่มขึ้นจากการใช้ ISO ที่สูงขึ้น

ทั้งความเร็วชัตเตอร์และ ISO เราสามารถควบคุมได้เมื่อเราตั้งค่า ISO แบบ Auto ซึ่งเราจะสามารถกำหนดขอบเขตของ ISO ได้ว่าให้ดันไปได้ตั้งแต่เท่าไหร่ไปจนถึงเท่าไหร่ เช่น ISO 100-1600 และกำหนดความเร็วชัตเตอร์ต่ำสุดที่ใช้ได้เช่นเมื่อความเร็วชัตเตอร์ต่ำกว่า 1/125 sec  ค่า ISO จะเพิ่มขึ้นอัตโนมัติตั้งแต่ ISO 100-1600 (ควรศึกษาจากคู่มือของกล้องแต่ล่ะรุ่นในเรื่องของการตั้งค่าและสัญญาณรบกวนที่รับได้)

 

ควบคุมระยะชัด

การเลือกระยะชัดที่เหมาะสมจะช่วยทำให้ภาพถ่ายน่าสนใจ อย่างที่เอ่ยไปแต่แรกส่วนมากเด็กๆ จะไม่อยู่นิ่งให้เราถ่ายรูป บางครั้งจังหวะที่ดีมักจะมาพร้อมฉากหลังที่รกและรบกวนสายตาจากระยะชัดที่มากเกินไป หรือจังหวะสีหน้าที่ดีมาพร้อมกับความเบลอของภาพจากระยะชัดที่น้อยเกินไป จึงควรควบคุมระยะชัดให้เหมาะสม ค่ารูรับแสงที่กลางๆ มักจะใช้บ่อยกว่าค่าอื่นๆ

จับจังหวะ

จังหวะของภาพที่ดีไม่ได้มาจากการกดชัตเตอร์รัวๆ แต่เป็นการสังเกตการณ์เคลื่อนไหวของสิ่งที่จะถ่าย โดยเฉพาะการถ่ายภาพเด็กที่มีการเคลื่อนไหวตามอารมณ์ของเด็กแต่ล่ะคนที่ไม่แน่นอน คาดเดายาก เรายิ่งต้องอาศัยการสังเกตให้มากขึ้น การพูดคุย หรือหาสิ่งที่เด็กสนใจมาช่วยจะทำให้เราจับจังหวะต่างๆ ได้ง่ายขึ้นสำหรับการเคลื่อนไหวบางอย่างเราสามารถคาดเดาล่วงหน้าได้ เช่น การให้เด็กแสดงท่าทางของสัตว์ต่างๆ หรือการให้เด็กกระโดดตบ  

 

การแพนกล้อง

การเคลื่อนไหวกล้องไปในทิศทางเดียวกันกับสิ่งที่เราจะถ่ายภาพอย่างการแพนกล้องจะช่วยให้เราได้ภาพที่มีลักษณะของการเคลื่อนไหว เหมาะสำหรับการนำมาใช้ในการแสดงถึงการเคลื่อนไหวของท่าทางต่างๆ เช่น การวิ่ง การกระโดด ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นกับเด็กหลายคนอยู่แล้ว ดังนั้นเทคนิคการแพนกล้องจึงนำมาใช้งานได้เป็นอย่างดีถ้าเราต้องการให้ภาพมีอารมณ์ของการขยับเกิดขึ้น

การถ่ายภาพเด็กนั้นเพียงแค่เราเลือกใช้เทคนิคการถ่ายภาพให้เหมาะสมและคอยสังเกตท่าทางการเคลื่อนไหวของเด็ก เราก็สามารถถ่ายภาพเด็กได้อย่างง่ายดาย แต่ว่าในบางครั้งถ้าเราต้องการให้เด็กโพสท่าบางอย่าง เราอาจจำเป็นต้องใช้จิตวิทยา พูดคุยในเรื่องที่เขาสนใจเช่น ถามถึงอาชีพที่เขาอยากเป็นหรือความสนใจในด้านอื่นๆ อาจจะเป็นขนมที่ชอบหรือของเล่นที่ชอบ เราสามารถนำมาใช้ในการพูดคุยได้ทั้งนั้น สิ่งสำคัญที่เราไม่ควรลืมก็คือเด็กส่วนใหญ่แล้วจะมีสมาธิกับเราไม่นานนัก ดังนั้นเราไม่ควรปล่อยให้โอกาสบันทึกภาพที่ดีหลุดลอยไปนะครับ…

ขอบคุณ…นายแบบ-นางแบบตัวน้อย

เด็กๆ จากโรงเรียนอนุบาลสังขละบุรี และ สถาบันสอนการแสดงโตเร็วสตาร์คลับ (TSC)