เรื่อง+ภาพ : Apochtophy’s

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 236/2017 May

ในอดีต เราๆ ท่านๆ ที่ถ่ายภาพกันมาพอสมควร หรือแม้แต่นักถ่ายภาพมือใหม่ก็ตาม คงจะเคยได้ยินได้ฟังกันมาบ้างเกี่ยวกับประโยคที่ว่าภาพถ่ายที่ดีนั้น ต้องมีแสงเงาที่สวยงาม องค์ประกอบที่ดี และที่สำคัญเลยก็คือ ต้องมีความคมชัด ไม่สั่นไหวพร่ามัว เป็นเพราะว่าคนถ่ายภาพมีความต้องการจะบันทึกภาพให้มีความเหมือนจริงมากที่สุด สังเกตจากวิวัฒนาการในโลกของการถ่ายภาพที่ผ่านมาการถ่ายภาพมีจุดเริ่มในทางวิทยาศาสตร์ เรามีการพัฒนาในเรื่องของประสิทธิภาพของการเก็บรับแสง ความสามารถในเรื่องของความไวแสง และสปีดของความเร็วชัตเตอร์

การถ่ายภาพในสมัยก่อนนั้นการที่จะถ่ายภาพนิ่งๆ ดีๆ คมชัดละเอียดเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะกล้องบันทึกภาพในสมัยก่อนนั้น ใช้เวลาในการเปิดรับแสงที่นานกว่าจะได้ภาพหนึ่งภาพ จนมาสมัยนี้ภาพที่นิ่งสนิท คมชัดจะต้องมาจากช่างภาพที่มีฝีมือ หรือเก่ง มีทักษะดี แต่ในขณะเดียวกันสิ่งที่เดินทางตามมาอย่างติดๆ ในโลกของการถ่ายภาพก็คือเรื่องของศิลปะ ซึ่งนอกจากจะเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องขององค์ประกอบภาพอย่างเต็มตัวแล้ว ยังมีส่วนร่วมในเรื่องของการสร้างมิติที่ 4 ให้กับภาพถ่ายอีกด้วย

อะไรคือมิติที่ 4 ในภาพ

ภาพ 1 ภาพ ไม่ว่าจะมองจากภาพที่อัดขยาย หรือจากจอคอมฯ ก็เป็นเพียงแผ่นสี่เหลี่ยม 1 แผ่น ที่มีมุมมองในการชม 2 มิติ คือ มิติด้านกว้าง และมิติด้านยาว และด้วยผลจาก ระยะ, แสง, เลนส์, ฉากหน้า ฯลฯ จนทำให้สามารถถ่ายทอดมิติที่ 3 ออกมาได้นั่นก็คือ มิติด้านลึก แต่แค่นั้นศิลปินช่างภาพยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงได้เกิดการสร้างมิติที่ 4 ขึ้นมาด้วยการที่ทำให้เห็นว่าภาพนั้นมีการเคลื่อนไหว (Movement) เกิดขึ้น

ภาพที่แสดงการเคลื่อนไหวในภาพนั้น มีการยอมรับกันมานานว่าสามารถสร้างมิติที่ 4 ที่ทำให้ผู้ชมภาพเกิดความรู้สึก ของการเคลื่อนไหวของวัตถุในภาพได้ ในการยอมรับนั้นได้มีความเห็นเกิดขึ้นอีกว่าภาพที่แสดงถึงการเคลื่อนไหวนั้น ควรจะมีตำแหน่งหนึ่งตำแหน่งใดในภาพที่เห็นชัดๆ หรือยังมีความคมชัดบ้าง หยุดนิ่งบ้าง นั่นถึงจะเป็นการแสดงฝีไม้ลายมือของผู้ถ่ายภาพอย่างแท้จริง  เช่น ภาพม้าที่วิ่งอยู่ในสนาม ถ้าสามารถถ่ายให้เห็นขาที่วิ่งควบอยู่ดูเคลื่อนไหว แต่ส่วนหัว หรือส่วนตัวยังคมชัดอยู่ อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าเป็น ภาพเคลื่อนไหวที่สมบรูณ์ 

กับอีกความเห็นหนึ่งได้มองในมุมกลับกัน โดยมุ่งเน้นที่ว่าถ้าต้องการจะแสดงการเคลื่อนไหวในภาพแล้ว ความคมชัดบางส่วน หรือจะไม่มีเสียเลยจะเป็นไรไป ถ้าหากว่าภาพนั้นไม่ไหว พร่า มัว เสียจนดูไม่ออกว่าเป็นภาพอะไร สื่อความหมายอย่างไรแล้ว ก็ถือว่าเป็นภาพการเคลื่อนไหวเหมือนกัน เพราะภาพถ่ายศิลปะนั้น เป็นการแสดงออกของจินตนาการที่สูง ผู้ชมสามารถมีส่วนร่วมในจินตนาการนั้นได้

แต่โดยรวมแล้วนั้น ภาพศิลปะที่แสดงการเคลื่อนไหวของวัตถุหรือภาพเคลื่อนไหวนั้นโดยส่วนมากมักจะเป็นภาพแนวนามธรรมหรือภาพกึ่งนามธรรมเสียเป็นส่วนมาก ซึ่งภาพในลักษณะนี้นั้นจะมุ่งเน้นไปที่อารมณ์ ความรู้สึก เป็นหลัก โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงความคมชัด หรือ รายละเอียดใดๆ มากนัก

หยุดการเคลื่อนไหวในภาพถ่าย

ภาพที่แสดงการเคลื่อนไหวนั้นหลักๆ แล้วจะมีอยู่ไม่กี่รูปแบบ ก็คือ ภาพที่ทุกสิ่งในภาพหยุดนิ่ง, ภาพที่มีส่วนที่ชัดและไม่ชัดอยู่ในภาพ, ภาพที่ทุกส่วนของภาพเคลื่อนไหวแต่ยังพอดูรู้เรื่อง, และภาพที่ไหวทั้งภาพจนดูไม่รู้เรื่องเลย แบบแรกและแบบสุดท้ายเราจะไม่พูดถึงกันล่ะ เพราะคิดว่าน่าจะคุ้นเคยกันพอสมควรแล้ว เรามาดูกันที่สองแบบที่เหลือดีกว่าเพราะนั่นคือ รูปแบบของภาพเคลื่อนไหวที่ถือว่าดีที่สุด

ภาพที่มีทั้งส่วนที่ชัด และส่วนที่เคลื่อนไหว

ภาพแบบนี้มีเทคนิคการถ่ายภาพ หลายวิธีขึ้นอยู่กับว่าภาพที่ถ่ายเป็นภาพอะไร แต่ส่วนสำคัญจะอยู่ที่การปรับ ความเร็วชัตเตอร์และการเคลื่อนไหวกล้อง

เกจิอาจารย์ท่านหนึ่งเคยพูดไว้ว่า ถ้าวัตถุหยุดนิ่ง กล้องนิ่ง ใช้ชัตเตอร์เท่าใดก็ได้ภาพที่นิ่ง ถ้าวัตถุหยุดนิ่งกล้องสั่นไหว ใช้ชัตเตอร์เท่าใดก็ได้ภาพสั่นไหว ถ้าวัตถุเคลื่อนที่ หรือสั่นไหว กล้องนิ่ง ใช้ชัตเตอร์ช้ากว่าความเร็วของวัตถุ ภาพที่ได้ก็สั่นไหว ถ้าวัตถุเคลื่อนที่สั่นไหว กล้องสั่นไหว แฮะๆ จะใช้ชัตเตอร์เท่าใดภาพก็สั่นไหวแน่ๆ

ดังนั้น สำหรับการถ่ายภาพให้ดูเคลื่อนไหวแบบมีส่วนที่ชัด และไม่ชัดนั้น อันดับแรกก็คือกล้องของเราควรจะอยู่นิ่งพอสมควรหรืออยู่ในลักษณะที่เราสามารถควบคุมกล้องของเราได้ ภาพเคลื่อนไหวในลักษณะนี้ที่เห็นกันมากก็คือ ภาพวัตถุที่เคลื่อนที่ในแนวระนาบ เช่น คนวิ่ง รถแข่ง ฯลฯ ภาพแบบนี้จะใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำ บวกกับการเคลื่อนกล้องไปในทิศทางเดียวกันกับวัตถุ หรือแพนตามนั่นเอง พร้อมกันกับการกดชัตเตอร์ในจังหวะที่แพนกล้องตาม ในการโฟกัสนั้นแนะนำให้ใช้ระบบโฟกัสแบบแมนนวล อาจจะตั้งโฟกัสไว้ล่วงหน้าก่อน หรือจะโฟกัสตามวัตถุในขณะแพนตามมาด้วยก็ได้เพราะกล้องของเราจะมีระบบโฟกัสแบบที่ติดตามวัตถุที่เคลื่อนที่ อันนี้แล้วแต่ความถนัด พอวัตถุเคลื่อนที่มาตรงจุดที่เราต้องการก็กดชัตเตอร์ทันที

อีกลักษณะหนึ่งจะเป็นภาพการแสดง เช่น โขน ละคร ต่างๆ เราก็สามารถถ่ายภาพเคลื่อนไหวได้เช่นกัน แต่คราวนี้กล้องถ่ายภาพควรตั้งอยู่บนขาตั้งกล้อง เพื่อให้กล้องนิ่งที่สุดแล้ว เลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ ในการถ่าย โดยต้องรอจังหวะที่ตัวแสดงมีการเคลื่อนไหวที่สวยงาม ซึ่งทางที่ดีหากเป็นไปได้ควรจะรู้ข้อมูลการแสดงนั้นๆ บ้างก็จะทำให้การถ่ายภาพของเราสะดวกขึ้น ถ้าสามารถรู้จังหวะในการแสดงบ้าง จังหวะการกดชัตเตอร์ดีๆ ก็เกิดขึ้นได้

อีกวิธีหนึ่งก็คือการใช้แฟลชร่วมด้วยหรือ ที่เรียกกันว่า สัมพันธ์แฟลชกับม่านชัตเตอร์ชุดที่ 2 วิธีนี้กล้องถ่ายภาพต้องมีระบบการทำงานของชัตเตอร์ชุดที่ 2 ด้วย ในบางครั้งก็อาจใช้แค่แฟลชกับความเร็วชัตเตอร์ต่ำ โดยจะใช้ในสภาพแสงที่น้อยๆ โดยที่เราต้องการแสงจากฉากหลังของภาพ และลักษณะการเคลื่อนไหวของวัตถุไปพร้อมกัน

ภาพเคลื่อนไหวที่ทุกส่วนของภาพเคลื่อนไหว

แม้ว่าทุกส่วนในภาพจะไม่ชัดเจนทั้งหมดแต่ยังพอดูรู้เรื่องว่าเป็นภาพอะไร ภาพแบบนี้แหละครับที่จะเป็นปัญหาระหว่างภาพไหวกับภาพชัด เพราะอย่างที่ผมได้บอกไปในตอนแรกว่า ภาพศิลปะนั้นแต่ละคนก็ต่างความคิดกัน ซึ่งจุดสำคัญของภาพแบบนี้นั้นอยู่ที่ “ทำอย่างไรถึงจะทำให้ภาพถ่ายของเราดูรู้เรื่อง ไม่ใช่ไหวเสียจนดูไม่ออกว่าเป็นภาพอะไร” วิธีการก็คือ การเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ไม่ต่ำจนเกินไปและไม่สูงจนสามารถหยุดการเคลื่อนไหวของวัตถุได้นั่นเอง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตัววัตถุที่เราจะถ่ายด้วยว่า มีการเคลื่อนที่อย่างไร ทิศทางใด หรือแม้ว่าวัตถุที่เราถ่ายไม่ได้เคลื่อนที่เลยอยู่นิ่งกับที่ แต่การเคลื่อนที่ของกล้องของเราก็สามารถทำให้เกิดการเคลื่อนไหวได้เหมือนกัน หรือในบางครั้งกล้องอาจจะอยู่นิ่งบนขาตั้ง ใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ แล้วปล่อยให้วัตถุเคลื่อนที่ไปเลยโดยเราบันทึกการเคลื่อนที่นั้นไว้ แต่ควรจะเป็นการเคลื่อนที่ที่ค่อนข้างมีจังหวะตายตัวสักหน่อยภาพของเราก็ดูสวยงามได้เหมือนกัน ภาพในแบบที่ 2 นี้วิธีการจะไม่ตายตัวถือเป็นอิสระ ซึ่งเป็นเสน่ห์อีกแบบหนึ่งของการสร้างงานศิลปะ ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราจะถ่ายด้วยว่าเป็นอะไร

การถ่ายภาพเคลื่อนไหวแบบนี้เป็นศิลปะแบบหนึ่งที่ทำให้ภาพถ่ายของเราดูมีชีวิตขึ้นมาได้ อารมณ์ของภาพที่มีการเคลื่อนไหวหรือ Movement ที่เกิดขึ้นในภาพถ่าย มีผลต่อความรู้สึกของผู้ดู ว่าช่างภาพต้องการจะสื่ออะไรออกมา ซึ่งไม่ว่าจะเป็นแบบเคลื่อนไหวที่หยุดนิ่ง หรือ แบบเคลื่อนไหวที่ดูเคลื่อนไหว ภาพแบบนี้นี่แหละที่สามารถหยุดผู้ชมให้อยู่นิ่งแล้วชมภาพของเราได้เป็นอย่างดี

ในการถ่ายภาพเคลื่อนไหวนั้น สิ่งที่มองข้ามไปไม่ได้เลยก็คือ การสื่อแนวคิดของเราออกมาทางภาพถ่ายให้ได้ แม้ว่าภาพที่ออกมาจะขาดความคมชัดแต่สิ่งที่เราต้องการจะสื่อต้องไม่ขาดความชัดเจนในเรื่องของความหมาย ไม่เช่นนั้นคงไม่เกิดประโยชน์อันใด แล้ว ‘ภาพเคลื่อนไหว’ ของเราก็จะกลายเป็นเพียง ‘ภาพไหว’ ธรรมดาไป

ก่อนจากกันมีสิ่งหนึ่งอยากฝากเตือนไว้สักนิดว่า ภาพเคลื่อนไหวนั้น เป็นภาพศิลปะซึ่งภาพศิลปะนั้นอย่างที่เรารู้ๆ กันอยู่ว่ามีทั้งผู้ที่ชอบ และไม่ชอบ ยอมรับได้และยอมรับไม่ได้ เหมาะสำหรับการถ่ายภาพประเภท Fine Art ที่เราถ่ายเก็บเป็นผลงานส่วนตัวของเราเอง นั่นทำให้ต้องระวังเรื่องการนำมาใช้นะครับไม่ใช่ไปรับงานถ่ายภาพงานรับปริญญา หรือภาพงานพิธี แล้วใส่ Movement ในภาพเสียเต็มที่ จนเจ้าของงานไม่ชอบขึ้นมาจะมาโทษผมไม่ได้นะครับ เอ…ว่าแต่ว่าจะมีใครอยากลองถ่ายภาพรับปริญญาเป็นภาพแบบเคลื่อนไหวบ้างไหมหนอ ถ้าเป็นไปได้ไม่แน่นะว่าอาจจะถูกใจวัยรุ่นก็เป็นได้…