เรื่อง+ภาพ : ศุภฤกษ์ นฤเบศร์ไกรสีห์

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine ฉบับ 208/2015 January

บทที่ 4 ปรับตั้งค่าต่างๆ ให้ใกล้ค่ามาตรฐาน

การแสดงผลภาพดิจิตอลมีผลมากสำหรับภาพที่มีรายละเอียดส่วนเงาที่ลึกและรายละเอียดส่วนสว่างจางๆ หากแสดงผลผิดพลาด ย่อมจะทำให้เกิดการปรับค่าแสงผิดพลาดไปด้วย การปรับตั้งอุปกรณ์แสดงผลจึงจำเป็นมากในกระบวนการผลิตภาพดิจิตอล

ในการฝึกวัดแสง จำเป็นต้องอ้างอิงภาพกับอุปกรณ์แสดงผล เพราะภาพดิจิตอลเป็นเพียงข้อมูลเท่านั้น จำเป็นต้องแปลงออกมาเป็นภาพเสียก่อนเราจึงจะบอกได้ว่า ภาพนั้นเป็นอย่างไร อุปกรณ์แสดงผลที่ใช้กับในระบบดิจิตอล มีตั้งแต่จอ LCD ด้านหลังกล้อง จอคอมพิวเตอร์ ทีวี เครื่องพิมพ์ ภาพอัดขยายจากเครื่องมินิแล็บ งานพิมพ์ ฯลฯ อุปกรณ์แสดงภาพแต่ละชนิดที่กล่าวมานั้นให้ภาพไม่ตรงกัน ซึ่งเป็นปัญหาพื้นฐานของการแสดงภาพดิจิตอล การฝึกวัดแสงนั้นจึงต้องอ้างอิงกับอุปกรณ์แสดงผลที่มีคุณภาพสูงสุดและได้มาตรฐานมากที่สุด รวมทั้งสะดวกและประหยัดในระยะยาวอีกด้วย ซึ่งอุปกรณ์แสดงภาพแต่ละชนิดมีข้อดีข้อด้อยในเบื้องต้นดังนี้

  1. จอ LCD ด้านหลังกล้อง มักแสดงภาพไม่ได้มาตรฐานนัก (ในด้านของ Color Gamut หรือขอบเขตของสี) ทั้งเรื่องจำนวนเฉดสี ความสว่าง ความถูกต้องของเฉดสี รวมทั้งความเปรียบต่าง จอ LCD ด้านหลังกล้องใช้สำหรับแสดงข้อมูลและแสดงภาพเบื้องต้น สำหรับสังเกตความคมชัด ความปกติและผิดปกติของภาพเท่านั้น มิควรยึดถือภาพที่ด้านหลังจอ LCD เป็นมาตรฐาน แม้ว่ากล้องนั้นจะราคาแพงเท่าไรก็ตาม

3. ทีวีและโปรเจคเตอร์ จอทีวีแม้จะมีลักษณะเช่นเดียวกับมอนิเตอร์คอมพิวเตอร์ แต่มักออกแบบให้สีสันสวยงามเหมาะกับการเล่นเกมส์และดูภาพยนตร์เป็นหลัก และไม่ละเอียดมากนัก ไม่เหมาะกับการมองภาพในระยะใกล้ ทำให้ภาพไม่สามารถใช้อ้างอิงในการฝึกวัดแสงได้ ยกเว้นจะได้รับการปรับจูนสีและสร้าง Color Profile ในการควบคุมการแสดงภาพจึงจะสามารถใช้อ้างอิงในการฝึกวัดแสงได้ซึ่งการปรับตั้งจะมีค่าใช้จ่ายสูง

  1. ภาพอัดขยายจากเครื่องมินิแล็บ ภาพจากเครื่องมินิแล็บสามารถใช้อ้างอิงการวัดแสงได้หากมีการปรับตั้งสีเครื่องได้อย่างถูกต้องและปิดระบบอัตโนมัติ ปัญหาของการอัดขยายภาพจากมินิแล็บอยู่ที่ระบบของเครื่องจะปรับแก้สีและความสว่างให้อัตโนมัติแม้ว่าช่างจะไม่สั่งปรับแก้ก็ตาม ซึ่งผู้ใช้ส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่าหากช่างไม่ปรับแก้เครื่องก็จะไม่ปรับแก้ให้ ความเป็นจริงคือ เครื่องจะปรับแก้ให้อยู่เสมอจนกว่าช่างจะเข้าไปปิดระบบแก้สีภาพอัตโนมัติเสียก่อน ภาพที่อัดขยายจากมินิแล็บที่ไม่ปิดระบบอัตโนมัติจึงไม่สามารถใช้อ้างอิงการวัดแสงได้ ปัญหาอีกข้อหนึ่งคือ ค่าใช้จ่ายสูง และสีที่เกิดขึ้นในกระบวนการอัดขยายภาพมักจะไม่ตรงมากเท่าไรนัก คุณภาพภาพอัดขยายจากมินิแล็บเมื่อเทียบกับเครื่องพิมพ์ชั้นดีแล้วจะเป็นรองอยู่พอสมควร
  2. ภาพจากงานพิมพ์ ไม่สามารถใช้อ้างอิงการวัดแสงได้ เพราะการผลิตสีภาพมีขั้นตอนค่อนข้างมากและมักมีความผิดพลาดอยู่เสมอ ยกเว้นมีกระบวนการผลิตที่ดีมากๆ ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายสูงมากจนไม่เหมาะกับการใช้เรียนรู้การวัดแสงได้เลย

2. จอ Monitor คอมพิวเตอร์ เป็นอุปกรณ์ที่ส่วนตัวแล้วแนะนำให้ใช้เป็นมาตรฐานในการอ้างอิงสำหรับฝึกวัดแสง แต่จำเป็นต้องปรับตั้งและใช้จอภาพที่ได้มาตรฐานเพียงพอ ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปในเรื่องของการเลือกจอ LCD และการปรับตั้งจอภาพด้วยตนเองในโอกาสต่อไป

  1. เครื่องพิมพ์ สามารถให้ภาพมาตรฐานสำหรับอ้างอิงได้ แต่มักจะต้องเป็นเครื่องพิมพ์รุ่นใหม่คุณภาพสูงที่ใช้หมึกมากกว่า 6 สีขึ้นไป ใช้หมึกและกระดาษระดับ Photo Quality ทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายสูงมาก ส่วนเครื่องพิมพ์รุ่นประหยัดรวมทั้งหมึกเติมและกระดาษสำหรับถ่ายเอกสารไม่เหมาะกับการพิมพ์ภาพเพื่อใช้อ้างอิงในการเรียนรู้การวัดแสง

ในเบื้องต้นผมแนะนำให้ใช้จอคอมพิวเตอร์สำหรับอ้างอิง เป็นมาตรฐานสำหรับเรียนรู้การวัดแสง ผมเชื่อว่าผู้ใช้กล้องดิจิตอลส่วนใหญ่จะมีคอมพิวเตอร์ใช้กันอยู่แล้ว นั่นหมายถึงมีจอมอนิเตอร์ด้วยเช่นกัน

 

การเลือกใช้จอมอนิเตอร์

จอมอนิเตอร์ที่เหมาะกับการใช้งานถ่ายภาพต้องเป็นจอภาพที่มีจำนวนเฉดสีสูง อย่างน้อยที่สุดคือ 16.7 ล้านเฉดสี มีความอิ่มตัวของสีสูง สีสด ความเปรียบต่างสูง ส่วนดำเป็นดำ ให้รายละเอียดส่วนสว่างและส่วนมืดชัดเจน คุณสมบัติข้อนี้จะทำให้จอมอนิเตอร์สามารถแสดงเฉดสีได้กว้างสามารถปรับตั้งสี ง่าย ควรใช้จอภาพแบบผิวด้าน จะช่วยลดแสงสะท้อนซึ่งมักจะรบกวนการมอง ต้องมีมุมมองกว้าง สังเกตได้โดยการขยับตำแหน่งการมองไปทางซ้าย ขวา บน ล่าง ควรจะต้องให้ภาพที่มีความสว่างและสีสันคงที่ไม่ว่าจะมองภาพมุมใดก็ตาม หากมุมมองแคบจะทำให้สีเปลี่ยนไปตามตำแหน่งการมองภาพ ไม่เหมาะสำหรับนำมาใช้งานทางถ่ายภาพ

การพิจารณาจอมอนิเตอร์เบื้องต้น ผมแนะนำให้ทดสอบง่ายๆ โดย

  1. ตั้งภาพที่พื้นจอเป็นสีขาว จากนั้นลองดูว่าความสว่างของจอสม่ำเสมอทั้งจอหรือไม่
  2. ลองปรับจอให้เป็นพื้นดำแล้วดูว่าความดำสม่ำเสมอหรือไม่
  3. ลองปรับเป็นเฉดสีเขียว แดง และน้ำเงินดูความสม่ำเสมอด้วยเช่นกัน ถ้าความสว่างไม่สม่ำเสมอไม่ควรเลือกมาใช้งานด้านถ่ายภาพ เพราะจะทำให้ความสว่างของภาพในแต่ละตำแหน่งไม่สม่ำเสมอ
  4. ลองนำภาพสี RGB ขาวดำ Greyscale แล้วแปลงเป็น RGB อีกครั้ง จากนั้นตั้งภาพขาวดำนี้เป็นภาพพื้นจอลองดูว่าภาพขาวดำสีเป็นขาวดำจริงๆ หรือไม่โดยปกติภาพจะมีสีผิดเพี้ยนไปด้านในด้านหนึ่ง เช่น ออกไปทางเหลือง ให้ปรับตั้งสีของจอภาพใหม่โดยไปปรับที่อุณหภูมิสีของจอแบบ Custom แล้วตั้งค่า RGB ให้ภาพที่ปรากฏเป็นขาวดำมากที่สุด หากจอภาพสามารถปรับตั้งจนเกือบขาวดำได้ และมีความผิดเพี้ยนไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด จอภาพนั้นสามารถปรับแก้เพื่อใช้อ้างอิงได้แต่ถ้ามีการผิดเพี้ยนในลักษณะคนละสี เช่น ส่วนสว่างออกเหลือง ส่วนเทาออกม่วง ไม่ค่อยแนะนำให้ใช้สักเท่าไร เพราะจอลักษณะนี้จะปรับตั้งสียากมากๆ และสุดท้ายมักจะไม่ให้ผลที่ดีเท่าไรนัก

จอภาพที่ผมมักจะแนะนำให้พวกชอบถ่ายภาพใช้ในงบประหยัด ส่วนมากจะเป็นของ Dell Ultrasharp รองรับสีในระดับ sRGB หากงบมากเพียงพอแนะนำ Dell 2407WFP 24” UltraSharp Wide Screen Flat Panel LCD, Dell Ultrasharp 2408WFP (24”), DELL UltraSharp 3008WFP (30” monitor), EIZO ColorEdge CG241W (24-inch monitor) , Eizo CG301W 30” Widescreen ColorEdge Monitor และ NEC MultiSync LCD2490WUXi-BK (24-inch) ซึ่งจะมีคุณภาพสูงให้สีแม่นยำ รองรับการแสดงผลในระดับ Adobe RGB ได้

การปรับตั้งสีจอมอนิเตอร์และสภาพแวดล้อมในการมองภาพ โดยปกติมอนิเตอร์ที่เราใช้งานไม่ว่าจะเป็น CRT หรือ LCD จะต้องมีการปรับตั้งสีจอให้ได้มาตรฐานการปรับตั้งทำได้ 2 แบบคือ ปรับตั้งโดยใช้ค่าจากโรงงาน ปรับตั้งด้วยสายตา และปรับตั้งโดยใช้ Spectophotometer และยังต้องควบคุมสภาพแวดล้อมของห้องที่ใช้ดูภาพอีกด้วย หากแสงสีของห้องที่ตั้งจอมอนิเตอร์ไม่คงที่จะทำให้การมองเห็นภาพไม่คงที่ไปด้วย การปรับตั้งต้องเริ่มจากสภาพแวดล้อมก่อน

Spectrophotometer สำหรับการจูนสีในระบบภาพดิจิตอล มีให้ใช้งานหลายยี่ห้อ เช่น Spyder, X-Rite ซึ่งหาซื้อหรือใช้บริการได้ในเมืองไทย

ห้องที่ใช้ในการดูจอมอนิเตอร์ควรเป็นแสงสีขาว ห้ามใช้ไฟฟลูออเรสเซนท์สีอมน้ำเงิน (Cool tone) หรืออมเหลือง (Warm Tone) ผนังรอบห้องควรเป็นสีขาวหรือเป็นสีกลาง เช่น เทา หรือมีสีสันโดยรวมเฉลี่ยเป็นสีกลาง เพื่อให้แสงโดยรวมไม่ทำให้ตาเกิดการปรับสี มีความสว่างพอเหมาะ มองเห็นสิ่งต่างๆ ในห้องได้ชัดเจน และต้องไม่สว่างจ้าเกินไป แสงต้องคงที่ตลอดทั้งวันมิเช่นนั้นจะมองเห็นภาพสว่างมืดตามสภาพแสงที่ส่องเข้ามาในห้องตลอดทั้งวัน

เมื่อปรับสภาพแวดล้อมสำหรับการดูภาพแล้ว ให้ทำการปรับตั้งภาพพื้นจอโดยใช้ภาพขาวดำ แนะนำให้ใช้ภาพที่มีการไล่โทนต่อเนื่อง แล้วใส่สเกลไล่โทนขาวดำและสเกลไล่โทนสีเอาไว้ด้วยเพื่อสังเกตเฉดสีและความถูกต้องของสีด้วยสายตา แล้วนำภาพนั้นไปตั้งเป็นภาพพื้นหลังของ Desktop แล้วทำการปรับตั้งสีต่อไป

โดยส่วนตัวผมชอบแนะนำให้ตั้งภาพพื้นหลังเป็นขาวดำ (ภาพขาวดำ แต่เป็นโหมดสี RGB) เพื่อเช็คความเป็นกลางในการแสดงสีของ Monitor

การปรับตั้งจอมอนิเตอร์กระทำได้ 3 วิธีคือ

  1. ปรับตั้งโดยใช้ค่าจากโรงงาน โดยการเข้าไปที่เมนูของ Color จากนั้นเลือกสีเป็น sRGB จะเหมาะสมที่สุด ภาพอาจจะทึมนิดๆ และอมเหลืองเล็กน้อย แต่ถ้าสีภาพผิดเพี้ยนไปมาก (ดูจากสเกลสีขาวดำที่สร้างไว้ในภาพพื้นฉากหลัง) อาจจะต้องปรับไปที่ค่าอื่น
  2. ปรับตั้งโดยผู้ใช้เอง โดยการปรับตั้งค่า Brightness และ Contrast โดยดูจากสเกลสีเทาและภาพขาวดำที่พื้นจอ ให้ภาพมีความสว่างเหมาะสม ส่วนขาวมีรายละเอียดและขาวจัด ส่วนดำต้องดำจัดและมีรายละเอียด จากนั้นไปปรับสีที่ Custom RGB จากนั้นทำการปรับตั้งค่าสเกลสี R, G และ B ให้ภาพขาวดูเป็นภาพขาวดำมากที่สุด

นอกจากการปรับตั้งที่จอมอนิเตอร์แล้ว ยังสามารถปรับสีที่โปรแกรมการ์ดจอได้ด้วย แต่มักจะปรับตั้งยากและไม่ละเอียด โดยปกติหากจอที่ใช้มีคุณภาพดีเพียงพอ การปรับค่า RGB ก็จะทำให้สีสันของภาพที่ปรากฏบนจอใกล้เคียงมาตรฐานแล้ว

  1. ปรับตั้งโดยใช้ Spectrophotometer อุปกรณ์ชนิดนี้จะทำหน้าที่วัดสีแต่ละเฉดที่เกิดขึ้นบนจอภาพ ความสว่าง และความเปรียบต่าง จากนั้นจะสร้าง Color Profile หรือแผนที่สีของจอภาพนั้นๆ ขึ้นมา และแสดงขอบเขตสีของจอภาพที่ทำการจูนสีแล้วกันขอบเขตสีมาตรฐาน ทั้งนี้ขึ้นกับคุณภาพของจอภาพและการปรับตั้งค่าตัวเลือกในระหว่างการคาลิเบรทจอภาพด้วย โดยส่วนตัวแล้วผมแนะนำให้ใช้ Spectrophotometer ในการปรับตั้งจอ เพราะจะสามารถทราบมาตรฐานของจอภาพและมี Color Profile ของจอภาพเอาไว้ใช้งาน แม้ว่าราคาของ Spectophotometer เหมือนจะสูงแต่ก็ถือว่าคุ้มมากในระยะยาว

ผมใช้จอ Dell U3014 แสดงสีในขอบเขตได้ถึง Adobe RGB เมื่อทำการจูนจอด้วย Spyder 4 Elite จะแสดงให้เห็นว่า ขอบเขตการแสดงสีของจอกว้างแค่ไหนเมื่อเทียบกับ Adobe RGB และ sRGB

หลังจากปรับสีจอภาพแล้ว ภาพขาวดำที่ปรากฏบนจอแทบจะเป็นขาวดำแท้ๆ

หากต้องการมี Spectrophotometer ลองหาเพื่อนๆ ที่ชอบถ่ายภาพและเห็นความสำคัญของการปรับตั้งจอภาพ รวมกันหลายๆ คน แชร์กับซื้อ จะตกคนละไม่กี่บาทเท่านั้น จูนจอครั้งหนึ่งสามารถอยู่ได้เป็นเวลานับเดือนกว่าจะจูนใหม่อีกครั้ง ใช้หลายๆ คนจะคุ้มค่าและประหยัดอีกด้วยตัดปัญหาเรื่องจอภาพไม่ตรงไปได้เลย

เมื่อปรับตั้งจอภาพซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญในการเรียนรู้การวัดแสงแล้ว กลับมาที่ตัวกล้อง แนะนำให้ทำการปรับตั้งระบบต่างๆ ของตัวกล้องให้อยู่ที่ Normal หรือค่า 0 ทั้งหมด ทั้งความอิ่มตัวของสี ความเปรียบต่าง ส่วนความสว่างของจอ LCD ที่หลังกล้องแนะนำให้ปรับตั้งไว้ที่ 0 หรือปกติด้วยเช่นกัน] ลองสังเกตสีภาพที่ปรากฏบนจอ LCD หลังกล้องกับมอนิเตอร์ว่าต่างกันอย่างไร  ให้ถือเอาภาพที่มอนิเตอร์เป็นภาพอ้างอิงเป็นหลัก

การแสดงผลภาพดิจิตอลมีผลมากสำหรับภาพที่มีรายละเอียดส่วนเงาที่ลึกและรายละเอียดส่วนสว่างจางๆ หากแสดงผลผิดพลาด ย่อมจะทำให้เกิดการปรับค่าแสงผิดพลาดไปด้วย การปรับตั้งอุปกรณ์แสดงผลจึงจำเป็นมากในกระบวนการผลิตภาพดิจิตอล