เรื่อง+ภาพ : poch

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 248/2018 May

ถ้าหากว่าเราเดินถ่ายรูปอยู่ริมถนน เด็กกำลังเลียไอติม จังหวะนั้นเรายกกล้องกดชัตเตอร์ถ่ายภาพไว้ หรืออะไรก็ได้ที่เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาเราแบบกะทันหัน เด็กกำลังวิ่งเล่น นกกำลังบินมาเกาะสายไฟ ภาพแบบนี้เราเรียกกันว่าภาพ “Snapshot”

และในหลายครั้งหลายหน ที่เราเดินถ่ายรูป แล้วมองเห็นเครื่องปั้นดินเผาน่าสนใจใบหนึ่ง เรายกกล้องขึ้นถ่ายภาพเอาไว้ หรือว่ามีกระถางดอกไม้อยู่ริมรั้วที่เราบังเอิญเดินไปเจอแล้วถ่ายภาพเก็บไว้ ภาพแบบนั้นแหล่ะครับ ที่เราเรียกว่า “Found objects” 

มีภาพถ่ายอีกลักษณะหนึ่งที่มีการจัดฉาก จัดวางวัตถุ สิ่งของ ต่างๆ รวมทั้งการจัดแสง โดยจะมีแนวคิดในการถ่ายเป็นตัวกำหนด รูปร่าง รูปทรง สีสัน ทิศทางแสง รวมทั้งวัตถุที่นำมาจัดถ่ายด้วยภาพแบบนั้นเรียกว่าภาพ “Still-life” หรือ “หุ่นนิ่ง”

ภาพทั้งสามประเภทมักจะทำให้หลายคนสับสน โดยเฉพาะภาพ Found objects กับ Still life มองแล้วเป็นภาพวัตถุสิ่งของเหมือนกัน และภาพ Found objects กับภาพ Snapshot ที่อาศัยความรวดเร็ว และการพบเจอเหมือนกัน ในวันนี้เรามาคุยกันในภาพสามประเภทนี้ถึงความเหมือนและความแตกต่างของภาพแต่ล่ะแบบกันครับ

ภาพ Snapshot เริ่มมีมาตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 แล้ว เดิมทีกระบวนการผลิตภาพถ่ายในสมัยก่อนนั้นผลิตด้วยเทคโนโลยีแบบ wet platre (ระบบผลิตภาพถ่าย แผ่นพิมพ์เปียก wet platre ใช้สารละลายในอีเธอร์และแอลกอฮอล์ กับแผ่นกระจก) แต่แล้วในปี 1880 ก็มีระบบผลิตภาพถ่ายแบบ dry plate (ระบบพิมพ์ภาพถ่ายด้วยสารเจลาติน (Gelatin) ฉาบบนแผ่นกระจกตอนหลังมีการพัฒนาเป็นกระดาษม้วน) การเกิดขึ้นของระบบ Dry plate นี่เองที่ทำให้การถ่ายภาพง่ายขึ้นกว่าเดิม ทำให้เกิดการถ่ายภาพในรูปแบบใหม่ ซึ่งกลุ่มผู้ถ่ายภาพประเภท Snapshot จึงเกิดขึ้นมาด้วย  

ภาพถ่ายที่เกิดขึ้นใหม่นี้มีความหลากหลายมากขึ้น มีภาพถ่ายจำนวนมากที่เป็นเพียงเรื่องบังเอิญที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผู้คนในย่านร้านค้า สัตว์เลี้ยง ฯลฯ ภาพแบบ Snapshot นั้นหลายคนอาจจะคิดว่าเหมือนกับภาพ Candid แต่อันที่จริงแล้วมีความแตกต่างกันอยู่เล็กน้อยที่วิธีการ ภาพแคนดิตจะมาจากการที่เราเฝ้ารอ หรือคอยจังหวะที่จะกดชัตเตอร์ จากบุคคลที่เราต้องการจะแอบถ่าย แต่ภาพ Snapshot นั้นเกิดขึ้นก่อนที่เราหรือขณะที่เราคิดจะถ่าย โดยที่เราอาจจะไม่จำเป็นต้องทำการแอบถ่าย ไม่ต้องวางแผน หรือรอคอยใดๆ เรียกว่าพบเจอแบบปัจจุบันทันด่วนก็กดชัตเตอร์ถ่ายภาพทันทีเลย

ตรงนี้แหละที่เป็นลักษณะแบบเดียวกันกับภาพ Found objects ความแตกต่างก็อยู่ตรงที่ ภาพแบบ Found objects ตีกรอบไปที่วัตถุ สิ่งของ ในขณะที่ภาพแบบ Snapshot จะเปิดกว้างกว่า คือเป็นได้ทั้งสิ่งของ หรือผู้คนและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ  ภาพถ่ายแบบ Found objects หรือว่าแบบ Snapshot นั้นถึงแม้ว่าจะเป็นภาพที่เกิดจากความบังเอิญเป็นส่วนใหญ่ บางภาพดูน่าสนใจ บางภาพก็อาจจะชวนให้ปล่อยผ่านเลยไป บางภาพอาจจะดูเฉยๆ บางภาพอาจจะดูเหมือนง่ายๆ ซึ่งทั้งหมดคือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง เป็นภาพถ่ายที่ถ่ายทอดเหตุการณ์ ชีวิต คน สัตว์ หรือแม้แต่สิ่งของ ที่ช่างภาพให้ความสนใจ และบันทึกไว้

 เมื่อภาพแบบ Found objects เป็นภาพของวัตถุสิ่งของต่างๆ จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิดกับภาพแบบ Still-life ที่เป็นภาพวัตถุ สิ่งของเช่นกัน แต่มีที่มาของภาพที่ต่างกัน

ภาพ Still life มีมาตั้งแต่ในสมัยศตวรรษที่ 15-18 นับเป็นช่วงที่งาน Still life เป็นที่นิยมกันมาก ลักษณะจะเป็นภาพสิ่งของ หรือวัตถุต่างๆ ที่ศิลปินจัดวางวัตถุสิ่งของต่างๆ เหล่านี้ ในมุมที่ได้น้ำหนัก แสง-เงา ที่สวยงาม อาจวางให้มีความ สูง-ต่ำ ลดหลั่นกัน เพื่อแสดงให้เห็นถึงความรู้ในเรื่องการจัดองค์ประกอบ โดยจะให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างรูปทรง และสีเป็นหลัก

Still life photography จึงเป็นภาพถ่ายลักษณะหนึ่งที่มีการจัดฉาก จัดวางวัตถุสิ่งของ ต่างๆ รวมทั้งการจัดแสง โดยจะมีแนวคิดในการถ่ายเป็นตัวกำหนด รูปร่าง รูปทรง สีสัน ทิศทางแสงรวมทั้งวัตถุที่นำมาจัดถ่ายด้วย ซึ่งวัตถุที่นำมาจัดเซทนั้น ก็จะเป็นวัตถุ (Subject) ที่มีความหลากหลายสารพัด ตามแนวคิด (Concept) ที่คิดไว้ ซึ่งจะเป็นวัตถุที่ไม่สามารถจะเคลื่อนไหวได้ จึงทำให้มีการเรียก “Still life”

เราจะเห็นว่าภาพเหล่านี้มีลักษณะภาพที่ใกล้เคียงกัน แต่ล้วนต่างกันอย่างสิ้นเชิง ภาพแบบ Snapshot จะเปิดกว้างกว่าคือเป็นได้ทั้งสิ่งของ หรือผู้คนและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ภาพแบบ Found subjects เป็นภาพในลักษณะของ วัตถุสิ่งของ ที่เราได้พบเจอระหว่างทาง แต่ก็เป็นในเชิงของภาพ Snapshot ไม่ใช่ภาพแนวคิด (Concept) เช่น รูปปั้นตามสถานที่ต่างๆ ฯลฯ  ส่วนภาพ Still-life จะมองในเชิงของ รูปร่าง รูปทรงของวัตถุ แสง-เงาและพื้นผิว หรือการจัดกลุ่มของสีสันต่างๆ ทั้งหมดนี้ก็คือความ ‘เหมือน’ และ ‘ต่าง’ ของภาพทั้งสามประเภทครับ…