เรื่อง+ภาพ : ศุภฤกษ์ นฤเบศร์ไกรสีห์

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine ฉบับ 214/2015 July

บทที่ 16  ระบบวัดแสงแบบต่างๆ ในกล้องดิจิตอล

ระบบวัดแสงในกล้องดิจิตอลเกือบทั้งหมดเป็นระบบวัดแสงผ่านเลนส์ มีข้อดีคือวัดแสงจากภาพที่ถ่ายโดยตรงจริงๆ และไม่มีปัญหาเมื่อใช้กับอุปกรณ์เสริมเช่น ฟิลเตอร์ PL ฟิลเตอร์ ND หรือฟิลเตอร์สี รวมทั้งเมื่อใช้กับแฟลช หากมีความเข้าใจในระบบเทากลางจะทำให้สามารถคุมสีของภาพได้แม่นยำมาก ระบบวัดแสงแบบสะท้อนผ่านเลนส์ในตัวกล้องแบ่งรูปแบบการคำนวณปริมาณแสงออกเป็น 5 ระบบใหญ่ๆ ขึ้นกับชนิดของกล้องดังนี้

กล้องดิจิตอลมีระบบวัดแสงผ่านเลนส์ เรียกว่าระบบ TTL  โดยจะมีเซ็นเซอร์หน้าระนาบ Image Sensor และที่ด้านบนของช่องมองภาพ

1.ระบบวัดแสงแบบเฉลี่ยทั้งภาพ (Average Light Metering)

การทำงานของระบบวัดแสงเฉลี่ยทั้งภาพ กล้องจะนำเอาความสว่างของพื้นที่ต่างๆ ในภาพมาเฉลี่ยความสว่างกันในระดับความสำคัญเท่ากัน เหมือนการหารเฉลี่ยธรรมดาทั่วไป ไม่ได้เน้นความสำคัญของตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งเป็นพิเศษ ระบบวัดแสงเฉลี่ยทั้งภาพจึงเหมาะกับการถ่ายภาพทิวทัศน์ ภาพบุคคลตามแสง ภาพที่ไม่มีส่วนสว่างหรือมืดมากเกินไป มีโทนสีเฉลี่ยรวมๆ อยู่แถวๆ โทนกลาง ปกติแนะนำให้ใช้ระบบวัดแสงเฉลี่ยกับการถ่ายภาพทิวทัศน์เป็นหลัก

ลักษณะการคำนวณแสงจะเป็นดังภาพตัวอย่าง คือ หากมีวัตถุสว่าง 100 ที่ขอบภาพ 10 ที่กลางภาพ จะเฉลี่ยค่าแสงได้ (100+10)/2 = 55

ลักษณะการทำงานของระบบเฉลี่ย ไม่เน้นพื้นที่ส่วนใดเป็นพิเศษ ใช้การเฉลี่ยเท่ากันทั้งหมด

2.ระบบวัดแสงเฉลี่ยหนักกลางภาพ (Centerweight Average Light Metering)

ระบบวัดแสงเฉลี่ยหนักกลางภาพถูกพัฒนาจากระบบวัดแสงเฉลี่ยทั้งภาพ โดยจะมีการเน้นพื้นที่วัดแสงส่วนกลางภาพมากขึ้นดังนั้น ลักษณะการให้ความสำคัญมักจะอยู่ตรงกลางมาก ลดหลั่นไปที่ส่วนขอบภาพ ทำให้วัตถุที่อยู่กลางภาพจะมีผลต่อค่าแสงมากกว่าพื้นที่ส่วนขอบภาพ เหมาะกับการวัดแสงที่ต้องการเน้นจุดวัดแสงส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นพิเศษ เช่น การถ่ายภาพบุคคลภาพทิวทัศน์ หากภาพไม่มีส่วนมืดหรือส่วนสว่างมากเกินไป การวัดแสงจะมีความแม่นยำดี หรือวัตถุส่วนมากเฉลี่ยแล้วใกล้เคียงโทนกลาง การวัดแสงจะมีความแม่นยำสูงด้วยเช่นกัน

ลักษณะการคำนวณแสงของระบบวัดแสงเฉลี่ยหนักกลางจะเน้นจุดกลาง ยกตัวอย่างเช่น บริเวณกลางภาพให้ความสำคัญ 100 ส่วนขอบภาพให้ความสำคัญ 20 หากมีวัตถุสว่าง 10 อยู่กลางภาพ และ 40 อยู่ขอบภาพ หากเป็นระบบวัดแสงเฉลี่ยจะเฉลี่ยค่าแสงอยู่ที่ (10+40)/2 = 25 แต่ในระบบวัดแสงเฉลี่ยหนักกลางจะกลายเป็น (10×100 + 40×20) / (120) = 15 แต่ถ้าวัตถุสว่าง 40 อยู่กลางภาพ 10 อยู่ขอบภาพ ค่าเฉลี่ยจะกลายเป็น (40×100 + 10×20) / (120) = 35 จะเห็นว่าน้ำหนักการให้ความสำคัญและตำแหน่งที่อยู่นั้นมีผลมากต่อค่าวัดแสงของระบบวัดแสงเฉลี่ยหนักกลาง

การใช้งานระบบวัดแสงเฉลี่ยหนักกลางจะให้จุดสนใจอยู่กลางภาพ แต่จุดสนใจนั้นต้องไม่ใช่วัตถุสีดำหรือขาว เป็นส่วนเงาหรือส่วนสว่างจ้าเพราะจะทำให้ค่าวัดแสงผิดพลาดไปมาก

ลักษณะการวัดแสงของ Center-weight เน้นส่วนกลางไล่ระดับลงมาที่ขอบ  มักสามารถตั้งรูปแบบและน้ำหนักได้ใน Custom Function ได้ด้วย

3.ระบบวัดแสงแบบเฉพาะจุด (Spot Light Metering)

ระบบวัดแสงเฉพาะจุดจะวัดแสงเฉพาะจุดกลางภาพเป็นพื้นที่เล็กๆ ประมาณ 3-1% ของพื้นที่ช่องมองภาพเท่านั้นโดยไม่วัดแสงในพื้นที่ส่วนอื่นๆ ในบางรุ่นอาจจะเปลี่ยนพื้นที่วัดแสงตามตำแหน่งปรับความชัดได้ด้วย การใช้งานผู้ใช้ต้องยึดหลักเทากลางและสามารถอ่านค่าสี ชดเชยแสงได้อย่างแม่นยำจึงจะใช้งานระบบวัดแสงเฉพาะจุดได้อย่างมีประสิทธิภาพ การวัดแสงมักจะใช้ตำแหน่งวัดแสงเฉพาะจุดวัดแสงที่จุดสนใจ หากจุดสนใจมีสีใกล้เคียงโทนกลางสามารถใช้ค่าเปิดรับแสงนั้นได้เลย แต่ถ้าโทนสีหรือแสงออกไปทางโทนขาวต้องชดเชยแสงโอเวอร์ มิเช่นนั้นภาพจะมืดทั้งภาพ หรือถ้าวัดแสงในส่วนเงามืด โทนเข้ม ต้องชดเชยแสงอันเดอร์ มิเช่นนั้นภาพจะสว่างมากทั้งภาพ

การวัดแสงเฉพาะจุดสามารถวัดแสงในตำแหน่งนั้นๆ โดยไม่ถูกรบกวนจากพื้นที่ส่วนอื่นๆ ความแม่นยำขึ้นกับว่าพื้นที่วัดแสงเข้าไปอยู่ภายในวัตถุหรือไม่ หากวัตถุใหญ่กว่าพื้นที่วัดแสง การอ่านค่าจะแม่นยำมาก แต่ถ้าวัตถุเล็กกว่าพื้นที่วัดแสงก็จะเท่ากับเป็นการเฉลี่ยค่าแสงของส่วนกลางภาพ การวัดแสงจะแม่นยำน้อยลง

ส่วนมากผมจะถ่ายภาพโดยใช้ระบบวัดแสงเฉพาะจุด เพราะว่าระบบวัดแสงเฉพาะจุดอ่านค่าแสงส่วนเล็กๆ ทำให้การคาดเดาโทนสี และการควบคุมโทนสีกระทำได้ง่ายกว่ามาก หากมีการทดสอบช่วงการรับแสงของกล้องและโทนสีที่เกิดขึ้นในค่าแสงต่างๆ อย่างที่เคยแนะนำไปแล้วในช่วงต้น จะทำให้การใช้ระบบวัดแสงเฉพาะจุดมีประสิทธิภาพสูงสุด โอกาสผิดพลาดน้อยมากๆ

ระบบ Spot จะวัดพื้นที่เล็กๆ ส่วนกลางภาพ  หรือสามารถย้ายตำแหน่งตามจุดโฟกัสได้

4.ระบบวัดแสงแบบเฉพาะพื้นที่ (Partial Light Metering)

ระบบวัดแสงแบบเฉพาะพื้นที่มักเรียกกันสั้นๆ ว่า Partial คล้ายกับระบบวัดแสงเฉพาะจุด แต่มีพื้นที่การวัดแสงใหญ่กว่ามาก ประมาณ 7-11% ของพื้นที่ช่องมองภาพ เพื่อให้ใช้งานได้ง่ายขึ้นและหากเกิดความผิดพลาดจะได้ไม่ผิดพลาดมาก (ในกรณีคุมโทนสีไม่เป็น) เหมือนระบบวัดแสงเฉพาะจุด Partial จึงมีลักษณะคล้ายระบบวัดแสงเฉลี่ยที่อ่านค่าแสงส่วนกลางภาพเท่านั้น เหมาะกับการถ่ายภาพบุคคลเป็นหลัก จะมีใช้ในเฉพาะกล้อง Canon เท่านั้น

ระบบ Patrial มีความคล้ายคลึงกับระบบ Spot  เพียงแต่มีพื้นที่ใหญ่กว่า

5.ระบบวัดแสงแบ่งพื้นที่ (Multi-segment Light Metering)

ระบบวัดแสงแบ่งพื้นที่จะทำงานไม่เหมือนกับระบบวัดแสงอื่นๆ ข้างต้น โดยพื้นที่ทั้งภาพจะถูกแบ่งออกเป็นส่วนๆ ตั้งแต่ 2 จนถึงมากกว่า 1000 ส่วนแล้วแต่รุ่นกล้อง แต่ละส่วนจะทำหน้าที่วัดแสงอิสระจากกัน อ่านค่าแสงพื้นที่ของใครของมัน จากนั้นกล้องจะนำค่าแสงที่ได้ในตำแหน่งต่างๆ เข้าไปเปรียบเทียบเพื่อหาลักษณะภาพที่ถ่ายว่าเป็นภาพลักษณะอย่างไร ปรับความชัดที่ตำแหน่งใด สีสันของภาพเป็นอย่างไร (ในกรณีที่อ่านค่าสีด้วย) ระยะห่างระหว่างวัตถุถึงกล้องเท่าไร (เมื่อใช้กันแฟลช) จากนั้นกล้องจะคิดคำนวณค่าแสงให้ตามรูปแบบของภาพที่ใกล้เคียงที่สุด ซึ่งค่าแสงจะไม่เท่ากับการเฉลี่ยเหมือนการใช้ระบบวัดแสงเฉลี่ยหนักกลาง

ระบบวัดแสงแบ่งพื้นที่มีความฉลาดค่อนข้างมาก ตัวกล้องมักจะใช้ระบบ Fuzzy Logic ในการคำนวณค่าแสงโดยอ้างอิงข้อมูลต่างๆ หลายค่า หรือใช้วิธีบรรจุ Template ของภาพตัวอย่างเอาไว้นับหมื่นภาพ เมื่อพบว่าลักษณะค่าแสงในตำแหน่งต่างๆ ใกล้เคียง TEMPLATE ตัวใดจะนำเอาวิธีการคำนวณแสงของ Template นั้นมาใช้งาน การใช้ระบบวัดแสงแบ่งพื้นที่จึงไม่สามารถรู้ได้ว่ากล้องคำนวณค่าแสงให้อย่างไรกันแน่ จึงไม่แนะนำให้ชดเชยแสงก่อนการถ่ายภาพ ควรถ่ายภาพหนึ่งภาพก่อน แล้วดู Histogram ว่าเหมาะสมถูกใจหรือไม่ จากนั้นจึงชดเชยแสงเพื่อปรับค่าแสงอีกครั้ง และไม่สามารถยึดหลักการเทากลางได้เพราะกล้องไม่ได้คำนวณแสงตรงๆ ตรงมาตามหลักของเทากลาง

ระบบวัดแสงแบ่งพื้นที่มีการทำงานก้าวหน้ามาก  สามารถใช้ข้อมูลด้านโฟกัส เช่น ระยะทาง ตำแหน่งโฟกัส เข้ามาทำงานร่วมด้วย ทำให้วัดแสงได้อย่างแม่นยำมาก

ระบบวัดแสงแบ่งพื้นที่เหมาะมากกับการใช้งานโดยรวม ทั้งมือใหม่ไปจนมืออาชีพ โดยเฉพาะเมื่อใช้งานร่วมกับระบบถ่ายภาพแบบอัตโนมัติ ถ่ายภาพที่ไม่มีเวลาปรับแต่งอะไรมากมาย  ถ่ายภาพโดยใช้แฟลช TTL ภาพส่วนใหญ่จะดีไม่มีปัญหาอะไร ยิ่งแบ่งพื้นที่มากเท่าไร การคำนวณค่าแสงยิ่งผิดพลาดน้อย แต่ไม่เหมาะกับผู้ที่ต้องการคุมสีภาพด้วยตัวเอง หากต้องการคุมสีเองแนะนำให้ใช้ระบบวัดแสงเฉพาะจุดมากกว่า