เรื่อง+ภาพ : poch

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 258/2019 March

การถ่ายภาพศิลปะการแสดงบนเวที เป็นการถ่ายภาพที่มีโอกาสไม่บ่อยนักโดยส่วนใหญ่การแสดงต่างๆ มักไม่อนุญาตให้ทำการบันทึกภาพ เนื่องด้วยหลายเหตุผลทางธุรกิจ การที่มีการถ่ายภาพแล้วนำไปเผยแพร่ หลายครั้งไม่ได้สร้างผลดีให้กับการแสดง เพราะผู้เผยแพร่ขาดความเข้าใจในการนำเสนอ ด้านสมาธิของผู้แสดง หลายคนเห็นการแสดงสวยๆ ก็อยากเก็บภาพ แต่พอแสงน้อยก็ใช้ไฟแฟลช ทำให้เป็นรบกวนทั้งนักแสดง และผู้ชมคนอื่น รวมทั้งเหตุผลอื่นๆ อีกหลายข้อจึงทำให้การแสดงบนเวทีส่วนมากห้ามไม่ให้ถ่ายรูป

แต่ก็ยังมีงานต่างๆ อีกไม่น้อย ที่มักจะเปิดโอกาสให้เราสามารถถ่ายภาพศิลปะการแสดงต่างๆ ได้ ดังนั้นเพื่อมารยาทอันดีงาม และเพื่อคุณภาพของภาพที่เราต้องการ เรามาดูกันสิว่าเราควรจะทำอย่างไรได้บ้างเวลาที่เรามีโอกาสได้ไปถ่ายภาพการแสดงต่างๆ บนเวที สำหรับภาพตัวอย่างในคราวนี้ผมได้มีโอกาสไปถ่ายภาพโขนที่โรงละครเฉลิมกรุงจึงนำภาพบางส่วนและเทคนิคการถ่ายมาฝากครับ

ศิลปะการแสดงบนเวทีที่ผมพูดถึงนั้น เช่น โขน ละคร การรำ ฯลฯ ต่างๆ เหล่านี้มักจะมีการแต่งกายด้วยเครื่องประดับที่งดงาม มีการออกท่าทางที่สวยงามน่าถ่ายภาพ การแสดงเหล่านี้ส่วนมากมักแสดงในโรงละคร หอประชุม หรือถ้าแสดงกลางแจ้งก็มักจะเป็นช่วงเวลาเย็น ค่ำ และแสดงบนเวทีมีส่วนของที่นั่งคนชมการแสดง และส่วนของผู้แสดงชัดเจน ดังนั้นก่อนอื่นใด เรามาดูกันก่อนว่าสิ่งใดบ้างที่เราไม่ควรทำเวลาที่เราจะถ่ายภาพการแสดงต่างๆ เหล่านี้

การใช้แฟลช ถือเป็นข้อห้ามที่เราไม่ควรทำอย่างยิ่งเพราะจะเป็นการรบกวนการแสดง ทั้งแสงสี และสมาธิของนักแสดงเองดังนั้นเรื่องใช้แฟลชถือเป็นข้อห้ามที่เราต้องระวังเป็นอย่างมากครับ สำหรับทางแก้ปัญหานั้น ให้เราใช้การปรับคา ISO ให้สูงขึ้นแทนการใช้แฟลช โดยส่วนใหญ่แล้วผมมักจะตั้งค่า ISO ในรูปแบบ Auto เอาไว้เลย โดยตั้งเอาไว้ตั้งแต่ค่า 100-1600 (หรือมากกว่าตามคุณภาพที่รับได้ของกล้องที่เราใช้) เพราะแสงบนเวทีนั้นมักจะเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา จะได้ไม่ต้องคอยเปลี่ยนค่า ISO ตามไปด้วย

ข้อห้ามอีกข้อที่สำคัญเวลาที่เราถ่ายภาพมักจะลืมก็คือ แสงจากหน้าจอ LCD ของกล้องที่จะรบกวนสายตาของผู้ชมการแสดงด้านหลัง โดยส่วนมากจะเกิดขึ้นเพราะเรายกกล้องถ่ายภาพสูงเกินไป ถ้าเรานั่งอยู่ในที่นั่งที่ทีมงานจัดไว้ เราไม่ควรยกกล้องสูงกว่าระดับศีรษะของเรา และเวลาที่เราเปิดดูภาพให้เอากล้องมาไว้ในระดับของตักเพื่อให้ตัวเราบังแสงจากกล้องไม่ไปรบกวนผู้อื่น

ในการลุกขึ้นยืนถ่ายภาพนั้น ถือเป็นการเสียมารยาทอย่างมากในขณะที่ทำการแสดง ดังนั้นควรเลือกตำแหน่งการตั้งกล้องของเราเสียแต่แรกว่าจะอยู่บริเวณไหนของพื้นที่ โดยส่วนมากแล้วถ้าจะยืนถ่ายภาพควรไปอยู่แถวหลังสุดของผู้ชม แล้วใช้เลนส์ซูมในการถ่ายภาพ

เสียง เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เราพึงต้องระวัง เสียงชัตเตอร์ที่เรากดชัตเตอร์ต่อเนื่องๆ รัวๆ ในการแสดงปกติจะไม่เป็นปัญหามากนัก เพราะเสียงบนเวทีกลบเสียงของชัตเตอร์เอาไว้ แต่สำหรับจังหวะที่เกิดความเงียบขึ้นบนเวที เสียงกดชัตเตอร์จะกลายเป็นการรบกวนและเป็นจุดเด่นได้ ดังนั้นควรประเมินเหตุการณ์ทั้งหมดให้ดีๆ ก่อนที่จะกดรัวชัตเตอร์

มาถึงวิธีการถ่ายภาพกันบ้าง สิ่งสำคัญคือ การเลือกใช้เลนส์ และ การตั้งค่ากล้อง เลนส์ที่ใช้ควรเป็นเลนส์ซูมเพื่อความสะดวกในการจัดองค์ประกอบภาพ โดยการตั้งค่ากล้องนั้น นอกจากที่ผมจะตั้ง ISO ในรูปแบบ Auto แล้ว ค่า WB ก็ควรตั้งไว้ที่ Auto และควรถ่ายภาพแบบ RAW เอาไว้ สิ่งต่อมาที่เราต้องระวังคือเรื่องของความไวชัตเตอร์ การตั้งโหมดถ่ายภาพแนะนำให้ใช้โหมด M เพื่อจะควบคุมทั้งความไวชัตเตอร์และรูรับแสง โดยรูรับแสงนั้นจะไม่ได้ใช้ค่าสูงมาก โดยส่วนใหญ่จะใช้อยู่ที่ F4-5.6 ยกเว้นบางจังหวะที่จะเน้นตัวแสดงบางมุมก็อาจจะลด F ไปถึง F2.8 ได้อันนี้แล้วแต่กรณีไป ส่วนความไวชัตเตอร์ จะตั้งไว้ที่ 1/60 -1/125 วินาที ยกเว้นเสียแต่ว่าเราต้องการหยุดแอคชั่นบางจังหวะเช่นการตีลังกาของตัวแสดงโขน ถ้าเราต้องการหยุดแอคชั่นนี้ก็อาจจะต้องเลือกปรับความไวชัตเตอร์เพิ่มขึ้น

นอกจากการหยุดแอคชั่นต่างๆ ของการแสดง บางครั้งชัตเตอร์ที่ไม่สูงมากนักก็อาจจะทำให้ได้ภาพที่มีการเคลื่อนไหวของตัวแสดงในภาพ ดูมีชีวิตชีวาในภาพ ขึ้นอยู่กับจังหวะกดชัตเตอร์เป็นสำคัญ

อีกสิ่งหนึ่งที่เราอาจจะลืมไปก็คือสภาพแสงที่มืดนั้นเวลาเรามองภาพในจอมักจะสว่างกว่าความเป็นจริง เวลาที่เราเปิดภาพเชคดูแล้วจะต้องเผื่อเรื่องแสงนี้เอาไว้ วิธีที่ง่ายคือการใช้ปุ่มชดเชยแสงเวลาถ่ายภาพ ก็จะทำให้ไม่ต้องกังวลเรื่องการวัดแสงมากนัก เอาเวลาไปกังวลที่จังหวะกดชัตเตอร์ภาพ และการวางองค์ประกอบเท่านั้น

จังหวะการกดชัตเตอร์ถ้าใครเข้าใจเรื่องราวเนื้อหาในแต่ล่ะฉากการแสดง จะได้เปรียบมาก เพราะเราจะรู้หรือคาดเดาได้ว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้นบนเวทีบ้าง เช่น ต่อจากการเดินแบบนี้จะเป็นการตีลังกา หรือการต่อตัว ต่อตัวแล้วจะหมุนตัวหรือไม่ หรือจะมีกระโดด มีแสงแบบนี้ส่องมา มีเอฟเฟกแบบนั้นเกิดขึ้นทำให้เรากดชัตเตอร์ถ่ายภาพได้ทันท่วงที

และในจังหวะการแสดงนี้เราสามารถถ่ายภาพให้นิ่งได้ถ้าเราเลือกกดชัตเตอร์ในจังหวะที่จบของท่าทางต่างๆ เช่น ท่ารำถ้านักแสดงกำลังจีบมือ หรือกำลังตั้งวง ถ้าเรากดชัตเตอร์ในจังหวะที่มือของนักแสดงเข้าท่าได้แล้ว จะพอดีกัน จังหวะนั้นจะเป็นจังหวะที่นักแสดงหยุดนิ่ง หรือเช่นการยกขา หรือแม้แต่การต่อตัว ยกอาวุธ ทั้งนี้ต้องอาศัยการสังเกตและการจับจังหวะของภาพให้ดี

ในการถ่ายภาพการแสดงบนเวที ประสบการณ์ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะปัญหาหน้างานมักจะเกิดขึ้นได้เสมอ เช่น ค่าแสงที่เปลี่ยนกระทันหัน สภาพแสงที่มืดกว่าที่คาดเดาไว้ จังหวะการแสดงต่างๆ ที่ไม่คุ้นชิน ดังนั้นเราควรฝึกปรับค่ากล้องต่างๆ ให้คล่องแคล่ว สามารถปรับใช้งานได้ทันท่วงที เข้าใจในตัวกล้อง เข้าใจในการแสดงที่เราจะถ่าย รักษามารยาทต่างๆ เหล่านี้จะทำให้เราได้ภาพที่สวยงามอย่างที่ต้องการครับ…