บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 134/2008 November

ใบไม้ ซึ่งหากเรามองด้วยตาเปล่าผ่านๆ แล้วก็ไม่มีอะไร ดูธรรมดาๆ ไม่มีอะไรที่น่าสนใจ แต่หากมองลึกลงไปจะพบว่า ใบไม้แต่ละชนิดนั้น มีสีสันและลักษณะของลวดลายบนพื้นใบที่แต่ต่างกันออกไป บ้างก็มีลักษณะพิเศษ อย่างเช่น มีหนาม หรือ มีขน ขึ้นบริเวณพื้นใบและขอบใบ พิจารณาดูดีๆ เจ้าใบไม้เพียงใบเล็กๆ นี้ น่าจะสามารถสร้างสรรค์ภาพถ่ายแนวนามธรรม (Abstract) เก็บเป็นภาพคอลเลคชั่นสวยๆ แปลกๆ ได้หลายรูปแบบเลยทีเดียว

ผมคิดว่าผู้อ่านหลายท่าน น่าจะคงได้เคยเห็นภาพถ่ายใบไม้มาบ้างแล้ว ไม่จากเว็บไซท์ ก็จากแมกาซีนต่างๆ ไม่รู้ว่าเคยได้ทดลองถ่ายกันบ้างหรือเปล่า จะว่าไปแล้วการถ่ายภาพใบไม้นั้นก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไป โดยเฉพาะช่างภาพมือใหม่ ที่อยากสัมผัสกับการถ่ายภาพประเภทนี้ แต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไรดี บทความต่อไปนี้จะช่วยแนะนำอุปกรณ์และวิธีการถ่ายภาพเบื้องต้น ให้คุณสามารถลองไปทำเองได้ไม่ยาก ขึ้นชื่อว่า Camerart แล้ว เรื่องยากๆ ก็ทำให้ง่ายนิดเดียว

เตรียมพร้อมกับการถ่ายภาพใบไม้

อย่างที่เกริ่นนำไว้ข้างต้นแล้วว่า อุปกรณ์ในการถ่ายภาพใบไม้ครั้งนี้ เป็นเพียงอุปกรณ์ถ่ายภาพพื้นฐานที่คุณน่าจะมีอยู่บ้างแล้ว หากอ่านดูแล้วอุปกรณ์บางอย่างไม่มี ก็สอบถามเพื่อนร่วมก๊วนของคุณเองดูว่า มีให้คุณได้หยิบยืมบ้างหรือเปล่า

ใบไม้ พระเอกของงานนี้ที่คุณต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ในการเลือกใบไม้ที่คุณจะนำมาเป็นตัวแบบนั้น ควรเลือกใบที่มีลายละเอียดของท่อเลี้ยงใบพื้นใบเยอะๆ ใช้ได้ทั้งใบสด และใบแห้ง เพราะจะให้สีสันที่แตกต่างกันออกไป ยิ่งเป็นใบที่มีส่วนที่เริ่มเน่าด้วย ก็จะช่วยสร้างสีสันบนใบไม่ให้น่าเบื่อเพราะมีแต่เขียวๆ เท่านั้น หรือ จำพวกใบที่มีขนและหนาม ในที่นี้ผมคงลงไปบอกไม่ได้ว่าเป็นใบอะไร เพราะบางใบที่ผมไปหามานี้ก็เรียกไม่ถูกเหมือนกันครับ แต่พอจะยกตัวอย่างได้ เช่น ใบดาดตะกั่ว ใบกุหลาบ หรือใบบอนสี เป็นต้นครับ

เลนส์มาโคร การถ่ายภาพใบไม้นั้นเป็นการถ่ายในระยะใกล้ เพื่อให้เห็นถึงรายละเอียดต่างๆ บนพื้นใบ ดังนั้นเลนส์ติดกล้องทั่วไปจึงไม่ค่อยสะดวกนักกับการถ่ายในครั้งนี้ เลนส์มาโครที่เลือกใช้นั้น สามารถเลือกใช้ได้ตั้งแต่เลนส์มาโครช่วง 50 mm, 60 mm, 90 mm, 105 mm หรือ 180 mm ก็ขึ้นอยู่กับขนาดของใบไม้ที่คุณเลือกมา

แฟลชเฉพาะกิจ (หลายท่านอาจเรียกว่าแฟลชแยกหรือแฟลชเสริม) เป็นแหล่งกำเนิดแสงที่สำคัญของงานนี้เลยครับ อย่างน้อยก็ต้องมี 1 ตัวพร้อมกับสายพ่วงแฟลช แต่ถ้าต้องการให้ทำงานง่ายยิ่งขึ้น ควรมี 2 ตัว แต่สำหรับแฟนๆ Nikon ได้เปรียบกว่านิดนึง ตรงที่สามารถใช้แฟลชเฉพาะกิจร่วมกับแฟลชติดตัวกล้องได้โดยไม่ต้องใช้สายพ่วงแฟลช ดังนั้นงานนี้แฟนนิคอนมีแฟลชเฉพาะกิจตัวเดียวก็พอ

ขาตั้งกล้อง เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญ ที่จะช่วยทำบังคับมุมกล้องให้อยู่ในตำแหน่งคงที่ เพื่อให้การจัดองค์ประกอบภาพนั้นสะดวกยิ่งขึ้น แถมยังได้ภาพที่คมชัด ไม่ไหวเบลออีกด้วย หากใครจะใช้สายลั่นชัตเตอร์ร่วมด้วย งานนี้ก็ไม่เกี่ยงครับ

ฉากถ่ายภาพ การบังคับทิศทางแสงส่วนใหญ่ จะบังคับให้แสงมาจากทางด้านหลังใบไม้ เพื่อให้แสงนั้นเป็นตัวส่องให้เห็นรายละเอียดบนพื้นใบ ผมเลือกใช้แผ่นพลาสติกขุ่นขาว ที่แสงสามารถลอดผ่านได้ เพื่อให้แสงจากแฟลชทะลุผ่านมาเปิดรายละเอียดในส่วนของพื้นใบ และยังทำให้ได้ฉากหลังสีขาวอีกด้วย หากไม่มีแผ่นพลาสติกขุ่นขาวคุณอาจใช้กระจกใสและใช้กระดาษไขรองด้านบนก็ทดแทนกันได้ ส่วนจำพวกขนและหนามที่อยู่บนพื้นใบนั้น ผมจะเลือกใช้กระดาษสีดำเป็นฉาก แฟลชจะเป็นตัวทำให้เกิดแสงริมไลท์ ขับเน้นขนและหนามที่บนขอบใบให้ดูเด่นชัดขึ้น วิธีการทำงานในการถ่ายฉากสีขาวและฉากสีดำนั้น แยกกันออกเป็น 2 ส่วน ซึ่งจะอธิบายในส่วนถัดไป

ลงมือถ่ายภาพใบไม้

หลังจากที่ตระเวนหาใบไม้สวยๆ มากันได้หลายใบแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนที่เราต้องลงมือถ่ายกันโดยด่วน ด้วยสาเหตุที่ว่า ใบไม้บางชนิดนั้น เมื่อเด็ดออกมาจากต้นแล้ว มันจะคงสภาพอยู่ได้ไม่นานก็เหี่ยวเฉา หากคุณไม่ได้นำไปแช่น้ำหรือเข้าตู้เย็น ซึ่งบางทีก็เยียวยาไว้ไม่อยู่จริงๆ

อย่างที่ผมทิ้งท้ายไว้ในส่วนที่แล้วว่า จะแยกการถ่ายภาพเป็น 2 ส่วน คือ ถ่ายบนฉากสีขาว และ สีดำ เพื่อจุดประสงค์ของภาพที่ได้นั้นแตกต่างกันตามที่กล่าวไปแล้ว เริ่มต้นเซทฉากแรกโดยการใช้แผ่นพลาสติกขุ่นขาว ตั้งบนลังไม้หรือกล่องลัง เพื่อยกตัวแผ่นพลาสติกให้สูงขึ้น ให้มีพื้นที่ด้านล่าง ไว้สำหรับวางแฟลชที่จะใช้ส่องทะลุแผ่นพลาสติกขึ้นมาจากทางด้านล่าง  เพื่อให้เห็นลวดลายของใบไม้ที่วางอยู่บนแผ่นพลาสติกนั้น การเซทกล้องถ่ายภาพ เลียนแบบคล้ายกับการถ่ายในสตูดิโอจริงๆ โดยตั้งถ่ายในระบบแมนนวล (M) เซทค่าความไวแสงที่ 100 เพื่อให้ได้คุณภาพที่ดีที่สุด ความไวชัตเตอร์ประมาณที่ 1/60 มากกว่าหรือน้อยกว่าไม่ตายตัว แต่จะให้ความสำคัญกับรูรับแสงมากกว่า เลือกปรับความไวชัตเตอร์ให้สัมพันธ์กับรูรับแสงแคบๆ เพื่อให้ได้ระยะชัดลึก ต่อมาเป็นเรื่องของการทำงานของแฟลช อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าหากมีแฟลชเฉพาะกิจ 2 ตัว จะทำงานสะดวกมากขึ้น คือ ติดตั้งที่ตัวกล้อง 1 ตัว เพื่อสเลปให้แฟลชตัวที่ 2 ทางด้านล่างที่เป็นไฟหลักทำงาน โดยแฟลชตัวที่ 1 นั้น ชดเชยให้อันเดอร์ ประมาณ 2-3 สตอป เพื่อให้เป็นเพียงแต่ตัวสั่งสเลป และ ช่วยเปิดรายละเอียดด้านหน้าของใบไม้ด้วยเท่านั้น

แนะนำสำหรับชาวสาวก Nikon ที่สามารถใช้แฟลชเฉพาะกิจร่วมกับแฟลชติดหัวกล้องได้ ซึ่งกล้อง Nikon เกือบทุกรุ่นน่าจะตั้งค่าได้ ครั้งนี้ผมใช้กล้อง Nikon D300 ร่วมกับแฟลช SB-800 โดยไปเซทเมนูในกล้อง ที่ Custom setting menu > Bracketing/flash > Flash cntrl for built-in flash เลือกการทำงานเป็น Commander mode จากนั้นก็กำหนดค่าชดเชยแสงตามต้องการ สุดท้ายอย่าลืมตั้งเมนูที่แฟลช SB-800 ให้เป็น Remote เป็นอันเสร็จ จุดนี้ถือเป็นสิ่งที่แฟนนิกรถูกอกถูกใจเป็นอย่างยิ่ง

ได้เวลากดชัตเตอร์กันแล้วครับ ต้องขอบอกเลยว่า ภาพที่สวยนั้นไม่ได้จบลงที่การถ่ายภาพเพียงครั้งเดียว เพราะว่า คุณต้องสังเกตภาพที่แสดงบนจอ LCD ว่าภาพที่ได้นั้นต้องขยับ ปรับ เลื่อน อุปกรณ์ อย่างไร จึงจะได้ภาพที่ดูสวยงาม รับแสงพอดี หากภาพที่ได้นั้นดูมืดไปก็ลองเพิ่มกำลังไฟแฟลชให้มากขึ้น หรือขยับแฟลชให้เข้าไปใกล้มากขึ้น ซึ่งระยะของแฟลชก็จะส่งผลต่อการได้พื้นหลังสีขาว หากอยู่ในระยะใกล้แผ่นพลาสติกมากๆ การกระจายแสงแฟลชก็ไม่ได้มาก แทนที่จะได้พื้นขาว คุณกลับได้พื้นหลังขาวเป็นดวงๆ แทน ซึ่งปัจจัยต่างๆ นั้นมีอยู่มากมาย ต้องสังเกตและลองแก้ไขดูครับ

ต่อมาที่ การถ่ายบนฉากสีดำ ซึ่งการเซทฉากนี้ แตกต่างกับการถ่ายบนฉากขาว แต่จะยึดหลักการทำงานคล้ายๆ กัน การวางกระดาษดำนั้นดูตัวอย่างได้จากภาพประกอบ โดยให้ตำแหน่งไฟแฟลชอยู่ทางด้านหลังของใบไม้ในลักษณะเฉียงหลัง การเซทถ่ายในฉากนี้ จะดีมากกับการถ่ายใบไม้ที่มีขนหรือหนามบนพื้นและขอบใบ แต่ใบไม้จะไม่ได้วางอยู่กับพื้นฉากแล้ว คุณต้องหาวัสดุที่มีน้ำหนักเพื่อนำมายึดติดกับใบไม้ ซึ่งอาจจะเป็นแก้วน้ำที่อยู่ใกล้ตัวคุณก็ได้ หลักสำคัญอยู่ที่การวางตำแหน่งของไฟแฟลช ว่าจะอยู่ในมุมที่ทำให้เกิดแสงริมไลท์ ส่องลวดลายของเส้นขน หรือ หนาม ที่อยู่ในพื้นและขอบใบได้ชัดเจนมากเท่าไหร่ การเซทหน้ากล้องและการชดเชยแสงแฟลชนั้น เป็นแบบเดียวกับการถ่ายในฉากสีขาว แต่หากจะกดชัตเตอร์เพื่อขยับองศาของแฟลชให้ได้ในตำแหน่งที่เหมาะสม พอดิบพอดี เกรงว่าจะต้องกดกันอยู่หลายสิบครั้งอยู่ แนะนำให้กดปุ่มเช็คระยะชัดลึกที่ตัวกล้อง กล้องจะทำการปล่อยแสงแฟลชแบบกระพริบถี่ จากนั้นก็มองผ่านช่องมองภาพเพื่อขยับองศาแฟลชให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม แล้วค่อยกดถ่าย จะเป็นวิธีการที่ดีกว่าครับ

สุดท้ายน่าจะอยู่กระบวนการโพรเซสในคอมพิวเตอร์ ในเรื่องของการปรับค่าแสงรวมทั้งปรับเพิ่มลดสีสันตามความต้องการ ซึ่งก็สุดแล้วแต่จินตนาการของตัวผู้ถ่ายภาพเอง วิธีการต่างๆ ที่แนะนำในบทความนี้เป็นเพียงวิธีการเบื้องต้นเท่านั้น คุณสามารถไปทดสอบและปรับเปลี่ยนตำแหน่งของไฟแฟลชได้อีกเยอะแยะมากมายเลยทีเดียว เพื่อให้ได้ภาพที่มีความแตกต่างออกไปอีก ขอให้สนุกและมีความสุขกับการถ่ายภาพครับ