เรื่อง+ภาพ : Sompoch Tangthai

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 263/2019 August

ธุรกิจการขายสินค้าโดยเฉพาะออนไลน์ในช่วงนี้นับว่าเป็นช่วงที่ตลาดขยายใหญ่โตขึ้นจริงๆ นะครับ หลายคนทุกวันนี้สั่งของจากออนไลน์มากกว่าการไปเดินซื้อเองที่ร้านเสียอีก ถ้าไม่นับนักช้อปอย่างเราๆ แล้ว มีสิ่งหนึ่งที่ผู้ขายสินค้าออนไลน์จำเป็นต้องใช้ก็คือการถ่ายภาพสินค้าเหล่านั้นขึ้นโพสขายนั่นเอง และในการถ่ายภาพสินค้านี่แหละครับ ที่ทำให้พ่อค้าแม่ค้าทั้งหลาย ประสบกับปัญหามานักต่อนักแล้ว

จริงๆ แล้วการถ่ายภาพสินค้า หรือที่เรียกติดปากกันว่า pack shot นั้น จะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการของเราว่าจะนำไปใช้งานอะไร ถ้าโพสขายทั่วๆ ไปฉากหลังสีขาวไม่ต้องจัดพร๊อบอะไรมากนัก ก็ไม่ถึงกับเป็นงานที่ยากมากมายอะไร เว้นเสียแต่ว่าภาพที่เราจะถ่ายนั้น เราต้องการจะเล่นกับแสง หรือเน้นสไตล์ภาพเฉพาะบางอย่าง ซึ่งนั่นคงเป็นเรื่องของขั้นแอดวานซ์ แต่ในวันนี้เรามาคุยกันในเรื่องของพื้นฐานกันเสียก่อนดีกว่า ว่าการถ่ายภาพสินค้านั้น ช่างภาพควรให้ความสำคัญกับเรื่องใดบ้าง

  1. เริ่มแรกเลยคือ ควรทำความเข้าใจกับสินค้าที่เราจะถ่าย

                สินค้าที่เราจะถ่ายนั้น มีลักษณะ รูปร่าง รูปทรง พื้นผิวเป็นอย่างไร บางอย่างห่อหุ้มด้วยถุงพลาสติก ที่จะมีลักษณะของแสงสะท้อนสีขาวเล็กๆ กระจายไปทั่ว หรือเป็นโลหะ มันวาว ที่จะสะท้อนแสงจนวัตถุเป็นสีดำ หรือสินค้านั้นเป็นของกิน ของใช้ เน้นที่แพคเก็ตจิ้ง หีบห่อ กล่อง หรือบรรจุภัณฑ์ต่างๆ หรือเน้นที่ตัวเนื้อในของสินค้านั้นๆ เป็นสิ่งที่เราต้องพิจารณาเป็นเรื่องแรกซึ่งจะส่งผลต่อมุมภาพ และอย่างอื่นที่เราต้องการ

  1. มุมภาพที่เราจะถ่าย

เมื่อเราพิจารณาตัวสินค้าที่เราจะถ่าย เราจะรู้ว่า มุมภาพที่ต้องการนั้นจะเป็นอย่างไรได้ เช่น ถ้าสินค้านั้นบรรจุอยู่ในกล่องมุมภาพหน้าตรงอาจจะบอกรายละเอียดของสินค้าไม่ได้ว่ากล่องนั้นมีความหนาบางมากน้อยแค่ไหน มุมภาพแบบที่วางกล่องเอียงเล็กน้อย อาจจะทำงานได้ดีกว่า หรือถ้าสินค้าที่เราจะถ่ายบรรจุอยู่ในขวด การถ่ายภาพแนวตั้งก็อาจจะเหมาะกว่าแนวนอนแบบนี้เป็นต้น ซึ่งรวมไปถึงจำนวนภาพที่เราจะถ่ายต่อสินค้าชิ้นนั้นด้วย สินค้าบางอย่างอาจจะต้องเล่าด้วยภาพมากกว่าหนึ่งภาพเพื่อให้เห็นเนื้อในของสินค้า หรือฟังก์ชั่นการใช้งาน หรือหีบห่อบรรจุฯลฯ

  1. เลือกทิศทางและลักษณะของแสงให้เหมาะสม

เรายังไม่ต้องไปพูดถึงอุปกรณ์ที่เราจะใช้เป็นแหล่งกำเนิดแสง แต่ขอให้คิดถึงทิศทางและลักษณะของแสง ทิศทางของแสงหลักจะเป็นตัวกำหนดเงาของภาพ ลองคิดถึงดวงอาทิตย์ในแต่ล่ะช่วงเวลาของวันนะครับ ว่าส่งผลต่อเงาเช่นกัน ดังนั้น ถ้าเราต้องการมิติบนตัวสินค้า ทิศทางของแสงอาจจะไม่จำเป็นต้องมาจากด้านหน้าเพียงอย่างเดียว ในบางครั้งแสงด้านข้าง หรือเฉียงข้าง ก็อาจจะทำงานได้ดีกว่า วิธีง่ายๆ สำหรับมือใหม่ในเรื่องทิศทางของแสง ไม่มีอะไรดีไปกว่าการที่เราเอาไฟส่องสินค้า และสังเกตดูด้วยตาของเราเองว่า เมื่อเราขยับไฟไปรอบๆ สินค้าแล้ว ทิศทางไหนที่เราคิดว่าดีที่สุด

ส่วนลักษณะของแสงนั้นหลักคือ “แสงแข็ง หรือแสงนุ่ม” แสงแข็งคือแสงที่ส่องออกมาจากแหล่งกำเนิดแสงโดยตรง ส่งผลถึงความเข้ม แรง ปะทะ ส่วนแสงนุ่มคือลักษณะของแสงที่ผ่านตัวกรองที่แสงสามารถทะลุผ่านได้ ส่งผลให้ภาพดูนุ่มนวล และมี Contrast ที่น้อยกว่าแสงแข็ง ดังนั้นเลือกใช้ได้ตามต้องการ 

ทริกเล็กน้อยสำหรับการฝึกเรื่องแสง ให้เราสังเกตแสงที่ส่องอยู่รอบๆ ตัวเรา ไม่ว่าจะประตู หน้าต่าง บานกระจก ฯลฯ จะทำให้เรามองแสงได้ละเอียดมากขึ้น และเวลาเลือกใช้งานก็พยายามให้ได้ ทิศทางและลักษณะของแสงแบบนั้นที่เราชอบ

  1. พิจารณาเงาที่เกิดขึ้น

นอกจากการสังเกตแสงแล้ว เราควรสังเกตเงาที่เกิดขึ้นเวลาที่แสงที่เราเลือกใช้แล้ว บนสินค้าที่เราจะถ่าย รวมทั้งฉากหลัง และส่วนอื่นๆ ในภาพ ถ้าแสงที่เราเลือกใช้ ส่องลงสินค้าเป็นที่น่าพอใจ แต่มีเงาที่เราไม่ต้องการ สิ่งที่เราต้องทำคือการจัดการกับเงาเหล่านั้น ซึ่งวิธีการมีไม่กี่ทางเลือกนักคือการเพิ่มแสงเข้าไปลบเงา การเพิ่มแสงอาจจะเพิ่มแหล่งกำเนิดแสง หรืออาจจะอาศัยแสงเดิม และใช้วัสดุสะท้อนแสง โดยบังคับทิศทางวัสดุสะท้อนแสงนั้น ให้ไปตกยังจุดหรือบริเวณที่เราต้องการ วัสดุสะท้อนแสงหรือที่เราเรียกว่ารีเฟลกช์นั่นเอง ซึ่งจะมีหลากหลายรูปแบบ พื้นผิว และสี ซึ่งให้ค่าการสะท้อนแสงที่ต่างกันออกไป ถ้าอยากรู้ ทางเดียวคือต้องทดลองใช้งานดูครับ จำไว้นะครับว่า “มีหนึ่งแสงก็ต้องมีหนึ่งเงา”

  1. แสงสะท้อน และข้อบกพร่องต่างๆ บนตัวสินค้า

อย่าเพิ่งคิดว่าการแก้ปัญหาในขั้นนี้คือการรีทัชภาพนะครับ ปัญหาแสงสะท้อนจากสินค้าจำพวกพลาสติก หรือโลหะนั้น สิ่งที่เราต้องทำคือการหาต้นตอของมันให้เจอเสียก่อนว่า มันสะท้อนมาจากมุมไหน ซึ่งก็หนีไม่พ้นรอบๆ สินค้านั่นแหละครับ เมื่อเราหาเจอแล้ว ก็ใช้วัสดุสะท้อนแสง หรือวัสดุตัดแสงสะท้อนเหล่านั้นเสีย ดังนั้นเราจึงควรมีวัสดุสะท้อนแสงขนาดต่างๆ กัน เพื่อใช้งานในข้อนี้ ในขั้นนี้เราต้องอาศัยการสังเกตให้ดีๆ ว่าภาพที่เราถ่ายนั้น แสงสะท้อนๆ ต่างๆ มันจะหายไปได้หรือไม่ โดยการขยับแผ่นสะท้อนแสงไปมาหรือพลิกซ้ายขวาเล็กน้อย และที่สำคัญเลย ควรมองจากตำแหน่งของกล้องในขณะที่เราทำการแก้ไขแสงสะท้อนนะครับ เพราะจะเป็นมุมที่เราจะถ่ายภาพนั่นเอง สำหรับหลักการคิดในข้อนี้คือ “มุมตกกระทบเท่ากับมุมสะท้อน”

ทั้ง 5 ข้อนี้คือหลักเบื้องต้นในการถ่ายภาพสินค้า หลังจากนี้คือการที่เราจะลงลึกไปถึงอุปกรณ์ต่างๆ เทคนิคการจัดแสงต่างๆ ซึ่งคงต้องเป็นเรื่องที่เราจะพูดคุยกันในภายหลัง สำหรับเบื้องต้นนี้ เราควรทดลองถ่ายภาพดูก่อนตามหลักการ 5 ข้อที่กล่าวไปแล้ว และถ้าจะให้ดี ในการถ่ายภาพสินค้านั้น ควรมีผู้ช่วยมาช่วยหยิบจับวัสดุต่างๆ ในขณะถ่ายภาพด้วย จะทำให้ทำงานได้สะดวกมากขึ้นครับ…