เรื่อง+ภาพ : poch

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 243/2017 December

ในบางสถานการณ์การถ่ายภาพด้วยวิธีการเดิมอาจไม่ตอบโจทย์ที่เราต้องการมากนักในครั้งนี้ผมก็มีประสบการณ์ที่ได้พบเจอบางอย่างมาแลกเปลี่ยนกันเป็นเรื่องของการใช้เทคโนโลยีใหม่มาตอบโจทย์การทำงานบางอย่างซึ่งทำให้เราสามารถสร้างสรรค์งานได้อย่างที่เราต้องการครับเอาล่ะเกริ่นมาเสียยืดยาวในครั้งนี้สิ่งที่ผมจะเล่าให้ฟังก็คือ เรื่องของการใช้ระบบถ่ายภาพต่อเนื่อง หรือ Continuous mode ซึ่งระบบถ่ายภาพต่อเนื่องของกล้องในปัจจุบันถือว่าเข้ามาช่วยในการถ่ายภาพของเราได้เยอะมากขึ้น

คาเมราร์ตได้รับโอกาสจากทางกรมกิจการพลเรือนในการบันทึกภาพถ่ายการสวนสนามทางเรือนานาชาติ ASEAN International Fleet Review 2017 และในครั้งนี้เราได้รับการสนับสนุนจากทางบริษัทโซนี่ไทย สำหรับกล้อง Sony Alpha 9 และเลนส์ 16-35 มม., เลนส์ 24-70 มม. และเลนส์ 100-400 มม. จำนวน 4 ชุด เพื่อใช้ในการบันทึกภาพ

การสวนสนามทางเรือแบบ fleet review นั้นเรือรบทั้งหมดจะจอดเรืออยู่กับที่เรียงกันตามเส้นทางเรือโดยเรือประธานจะแล่นผ่านเพื่อเป็นการตรวจพลส่วนเรือของช่างภาพนั้นจะมีทั้งแบบแล่นติดตามแล่นประกบข้างและมีบางจังหวะที่ขึ้นนำบ้างเป็นระยะ และในการบันทึกภาพการสวนสนามทางเรือนานาชาติครั้งนี้มีภาพหนึ่งที่ผมต้องการถ่ายให้ได้นั่นก็คือภาพที่แสดงให้เห็นถึงเรือรบจำนวนมากทั้งของไทยและต่างประเทศที่มาจอดตั้งแถวรับการตรวจพลสวนสนามจากเรือประธานนั่นก็คือเรือหลวงถลาง ซึ่งด้วยขนาดของเรือรบแต่ล่ะลำนั้นมีขนาดที่ใหญ่โตการจอดเรือขนาดใหญ่เช่นนี้จะต้องเว้นระยะห่างของเรือแต่ล่ะลำนั่นหมายความว่าบริเวณอาณาเขตของการสวนสนามทางเรือในครั้งนี้จะกินบริเวณกว้างมาก

โจทย์ของภาพที่อยากได้ในครั้งนี้ก็คือภาพการตรวจพลสวนสนามของเรือประธานที่กำลังผ่านเรือรบต่างๆ จากระยะห่างของเรือการเก็บภาพในเฟรมเดียวคงเป็นไปได้ยากแม้การใช้เลนส์มุมกว้างก็ตามเพราะจะทำให้เห็นเรือนั้นเล็กเกินไปและลักษณะภาพคงดูโล่งเคว้งคว้างไปหมดการถ่ายภาพแบบพาโนรามาด้วยเลนส์เทเลโฟโต้ถูกนำมาเลือกใช้ทันที

ปัญหาของการถ่ายภาพด้วยเทคนิคถ่ายพาโนรามาในครั้งนี้มีอยู่ด้วยกันสองประการประการแรกเรือหลวงถลางที่เป็นเรือประธานจะไม่ได้อยู่นิ่งต้องแล่นผ่านเรือรบต่างๆและปัญหาที่สองก็คือเรือ pcf ที่ผมยืนอยู่นั้นก็ต้องแล่นอยู่ตลอดเวลาเช่นกันเมื่อวัตถุที่จะถ่ายมีการเคลื่อนที่และกล้องของเราก็มีการเคลื่อนที่ด้วยทุกท่านคงนึกภาพความยากในการถ่ายภาพครั้งนี้ออกแล้วนะครับจริงๆแล้วน่าจะบอกว่าความยากที่สุดคือการต่อภาพมากกว่า

เรามาแก้โจทย์ทีล่ะส่วนการหยุดการเคลื่อนไหวนั้นเราใช้ความเร็วชัตเตอร์เป็นตัวควบคุมได้การถ่ายภาพในครั้งนี้ความสั่นไหวบนเรือ pcf ทำให้ผมเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์ 1/800-1/1000 วินาที ใช้รูรับแสงที่ 8 เพื่อช่วงความชัดของภาพเลนส์เทเลโฟโต้ 100-400 มม. อยู่ในช่วงทางยาวโฟกัสที่ครอบคลุมมุมภาพที่ต้องการ

ปัญหาสุดท้ายคือการที่กล้องต้องเคลื่อนที่ทางแก้คือการกดบันทึกภาพที่รวดเร็วก่อนที่เรือจะเคลื่อนที่ไปมากนักการที่กล้องเคลื่อนที่นั้นสิ่งที่เป็นปัญหาเวลาต่อภาพพาโนรามาก็คือฉากหลังและมิติภาพที่จะเปลี่ยนแปลงไปทำให้เวลาต่อภาพจะเชื่อมกันไม่ติดถ้าเราถ่ายภาพแบบปกตินับเป็นความโชคดีของผมที่กล้อง Sony Alpha 9 ที่สามารถถ่ายภาพต่อเนื่องได้สูงสุด 20 ภาพต่อวินาทีทำให้การกดชัตเตอร์บันทึกภาพทำได้รวดเร็ว

เมื่อตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์แล้วเลือกรูรับแสงแล้วเปิดโหมดถ่ายภาพต่อเนื่องที่ระดับสูงสุดจากนั้นที่เหลือคือการจับจังหวะที่เรือแต่ล่ะลำอยู่ในองค์ประกอบที่ต้องการยกกล้องขึ้นเล็งและกดชัตเตอร์พร้อมทำการแพนกล้องเพื่อเก็บภาพจากมุมซ้ายสุดมาขวาสุดภาพที่บันทึกได้จะยังมีมิติที่ไม่เหลื่อมล้ำกันมาก

ขั้นตอนสุดท้ายคือการนำภาพที่ถ่ายมาต่อพาโนรามาภาพในครั้งนี้จะใช้การต่อภาพแบบอัตโนมัติด้วยโปรแกรมไม่ได้เพราะปัญหาเรื่องสุดท้ายคือคลื่นในท้องทะเลซึ่งระบบอัตโนมัติของโปรแกรมทำการต่อภาพให้ไม่ได้ดังนั้นการต่อภาพในครั้งนี้จึงทำแบบแมนนวลคือวางภาพเรียงทีล่ะภาพค่อยๆ เชื่อมภาพไปทีล่ะส่วนเมื่อต่อภาพเรียบร้อยแล้วจึงค่อยนำภาพมาปรับสีและแสงให้สมบูรณ์เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการ

อย่างที่เกริ่นไว้แต่แรกเทคโนโลยีทุกวันนี้สร้างมาให้เราใช้งานการที่เราเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ จะทำให้เราสร้างสรรค์งานด้วยเทคนิคใหม่ๆได้เพิ่มขึ้นและทะลุขีดจำกัดเดิมกับภาพบางอย่างที่เราเคยถ่ายยากได้ง่ายมากขึ้นซึ่งบางครั้งไม่ได้มีอยู่ในตำราเดิมและไม่แน่วันหนึ่งข้างหน้าคุณก็อาจจะเป็นผู้เขียนตำราเรื่องใหม่ก็ได้นะครับ…