เรื่อง+ภาพ : ISO 9000…

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine ฉบับ 244/2018 January

สำหรับคนถ่ายภาพพลุ…เราได้ว่างเว้นกับเรื่องการถ่ายพลุมาแรมปี เพิ่งจะมีการยิงพลุให้เห็นก็เมื่อปีใหม่ที่ผ่านมานี้เอง เชื่อว่าปีนี้…น่าจะมีการยิงพลุให้นักถ่ายภาพได้สนุกกับการถ่ายภาพพลุได้มากขึ้น สำหรับนักถ่ายภาพมือใหม่ที่ยังไม่คุ้นกับการถ่ายภาพ CAMERART ในครั้งนี้ก็ขอถือโอกาสนำ เทคนิค…การถ่ายภาพพลุ…มาฝากครับ…

อุปกรณ์จำเป็น

เรื่องแรกที่ควรรู้สำหรับการถ่ายภาพพลุ…ก็คือ อุปกรณ์ที่ควรใช้  

กล้องถ่ายภาพ ควรเป็นกล้อง D-SLR หรือกล้อง Mirrorless ที่ถอดเปลี่ยนเลนส์ได้ ขนาดของเลนส์ที่ใช้ อาจจะใช้ทั้งเลนส์มุมกว้าง หรือ  เลนส์เทเลโฟโต้ ขึ้นกับระยะทางที่ทำการถ่ายภาพ และขนาดของพลุ ควรเตรียมให้พร้อม

ขาตั้งกล้อง จำเป็นต้องใช้ เพื่อป้องกันการสั่นไหวขณะถ่ายภาพ เนื่องจากการถ่ายภาพพลุเป็นการถ่ายภาพแบบ Long Exposure ใช้เวลาในการถ่ายหลายวินาที ขาตั้งควรมีความมั่นคงแข็งแรง

สายลั่นไกชัตเตอร์ ควรมีใช้งาน ป้องกันการสั่นไหวขณะกดชัตเตอร์

การปรับตั้งกล้อง

ระบบ White balance ควรตั้งเป็นระบบ Kelvin ตั้งค่าอยู่ที่ประมาณ 5300 K หรือจะตั้งเป็นระบบ Auto ก็ได้

ความไวแสงในการถ่ายภาพ ควรตั้งที่ ISO 100 สำหรับกล้องบางรุ่นที่เริ่มต้นที่ ISO 200 ก็ตั้งค่าที่ 200

ระบบโฟกัสภาพ ให้จัดโฟกัสภาพแบบ Auto focus โฟกัสฉากสำหรับถ่ายพลุไว้ล่วงหน้า แล้วปรับเป็น Manual focus อย่าหมุนวงแหวนโฟกัสโฟกัสจะล็อคอยู่ในตำแหน่งที่ต้องการ หรือจะทำการโฟกัสด้วยระบบ Manual focus เลยก็ได้

ปิดระบบ Noise Reduction เนื่องจากเราตั้งความไวแสงที่ ISO 100 อาการของ Noise จะต่ำมาก ไม่จำเป็นต้องเปิด ระบบ Noise Reduction การเปิดระบบนี้จะทำให้การทำงานกล้องกล้องในการถ่ายภาพช้าลง

ความไวชัตเตอร์ การถ่ายภาพพลุเป็นการเก็บเส้นไฟที่เกิดจากการแตกตัวของพลุ จึงต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ค่อนข้างต่ำ เวลาตั้งแต่พลุเริ่มระเบิดจนดับ จะใช้เวลาประมาณ 1-2 วินาที ขึ้นกับขนาดของพลุ ดังนั้นความเร็วชัตเตอร์ที่จะใช้งาน จึงอยู่ที่ประมาณ 4-8 วินาที ควรตั้งความไวชัตเตอร์เป็น ชัตเตอร์ B จับเวลาการถ่าย จะคล่องตัวกว่าการตั้งความไวชัตเตอร์ตามที่กล้องมีให้ใช้ ซึ่งอาจจะไม่ได้จังหวะกับการยิงพลุ แล้วยกเลิกไม่ได้ ต่างกับ ชัตเตอร์ B ที่ยกเลิกได้ทันที  แล้วเริ่มต้นถ่ายภาพใหม่

ขนาดรูรับแสงที่ใช้งาน ขนาดของรูรับแสง   ถ้าใช้อย่างจำเอาไปใช้เลย ก็อยู่ที่ประมาณ F8 ถึง F11 แต่ถ้าจะเอาให้แน่นอน ก็ควรจะใช้วิธีวัดแสงจากฉากหน้าที่ต้องการถ่ายพลุ เพื่อให้ได้ฉากหน้าที่สวยงามไว้ด้วย ค่าของรูรับแสงที่ได้จะเป็นค่าที่ใช้งานในการถ่ายภาพโดยมีฉากหน้าสวยงาม แล้วมีพลุอยู่ในภาพ

ศึกษาจุดยิงพลุ

การถ่ายพลุ สิ่งจำเป็นเพื่อให้ได้ภาพที่สวยงามที่ต้องรู้ก็คือ 

มีการยิงพลุที่ไหน เพื่อที่จะให้รู้ว่าชัยภูมิที่มีการยิงพลุนั้น มีสภาพอย่างไร จะใช้ฉากหน้าในการถ่ายภาพเป็นอะไรดี และสามารถหาจุดมุมสูงสำหรับการถ่ายภาพได้หรือไม่ การถ่ายภาพมุมสูง  จะได้ภาพที่มีสิ่งรบกวนในภาพน้อยลงกว่าการตั้งกล้องในแนวราบ เนื่องจากผู้คนที่มาชมพลุ

จุดยิงพลุตั้งอยู่ที่ไหน การถ่ายภาพพลุ ควรศึกษาก่อนว่า จุดที่ยิงพลุนั้นอยู่ที่ไหน จุดยิงพลุ จะทำให้เราสามารถทราบว่า เมื่อพลุขึ้นจะอยู่ที่ประมาณตำแหน่งไหนบนท้องฟ้า เพื่อกำหนดมุมภาพสำหรับการตั้งกล้อง   

หาจุดตั้งกล้องถ่ายภาพ การหาจุดตั้งกล้องสิ่งแรกที่ควรพิจารณาก็คือ พื้นที่นั้นๆ จะใช้ฉากหน้าเป็นอะไรสำหรับการถ่ายภาพพลุ อย่างเช่น ถ้าการยิงพลุมีขึ้นที่สะพานภูมิพล แน่นอนว่าเราคงอยากได้ภาพสะพานภูมิพลเป็นฉากหน้ามีพลุปรากฏอยู่บนท้องฟ้าเหนือสะพานภูมิพล เราก็ต้องหาทำเลในการตั้งกล้องที่จะถ่ายภาพสะพานภูมิพล ประสานกับจุดยิงพลุที่ต้องหา เพื่อให้พลุปรากฏอยู่ในตำแหน่งท้องฟ้าเหนือสะพานภูมิพล เป็นต้น 

การถ่ายภาพพลุ การถ่ายจากมุมสูง ถือว่าได้ภาพที่สวยงามด้วยฉากและพลุ แต่ในความเป็นจริง หลายท่านก็อาจจะไม่สามารถหาจุดมุมสูงในการถ่ายภาพได้ การถ่ายภาพในแนวราบ จึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ท้าทาย นักถ่ายภาพในการสร้างสรรค์การถ่ายภาพพลุเหมือนกัน ในกรณีนี้ เท่าที่ผ่านมาก การถ่ายภาพพลุด้วยเลนส์มุมกว้างมากๆ ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่แก้ปัญหานี้ได้ แต่ก็ควรอยู่ใกล้ตำแหน่งยิงพลุ มิฉะนั้นขนาดของพลุจะเหลือเล็กนิดเดียว

การถ่ายพลุ

เมื่อศึกษาสถานที่ถ่ายภาพที่จะมีการยิงพลุแล้ว…รู้ที่พลุจะยิงที่ตำแหน่งไหนแล้ว…หาจุดตั้งกล้องได้เรียบร้อยแล้ว… สิ่งที่ต้องทำก็คือ…ไปก่อนเวลา…เพราะว่าผู้คนจะพากันมาชมพลุมาถ่ายภาพพลุ กันเยอะมาก การเข้าพื้นที่ก่อนเวลา…จะทำให้เรามีเวลาในการเตรียมการถ่ายภาพได้ดีมากยิ่งขึ้น 

การเตรียมการ เมื่อได้ทุกอย่างพร้อมแล้ว (ควรมีน้ำ ของขบเคี้ยวยามรอด้วย) ถ้าไปด้วยกันหลายคน จะดีมาก มีพรรคพวกคอยช่วยเหลือกัน ช่วยกันเฝ้าของเวลาจะไปทำธุระส่วนตัว ตั้งขาตั้งกล้องจับจองพื้นที่ ลองวางมุมกล้องดู ติดเลนส์เผื่อไว้ด้วย เรายังไม่รู้ว่าพลุจะขึ้นสูงหรือขึ้นต่ำ ขนาดของพลุจะเล็กจะใหญ่ ขึ้นกับ เจ้าภาพ เท่าที่ผ่านมาพบว่า มีทั้งพลุขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ สลับกันขึ้น แต่ก็จะมีบางครั้งอย่างพลุ ไซโก้ ขนาดพลุที่ใหญ่ จะมีขนาดใหญ่มากเลยทีเดียว 

ฝึกการจับเวลา ในการถ่ายพลุ… อย่างที่กล่าวไว้แต่ต้น ควรใช้ชัตเตอร์ B จับเวลาการถ่ายภาพ เวลาในการถ่ายภาพจะประมาณ 4-8 วินาที วิธีการฝึกการจับเวลา… ฝึกด้วยการนับ 1, 2, 3, 4….ลองจับเวลาว่า ถ้า 4 วินาทีนับได้ถึงเท่าไร การนับให้พยายามนับแบบคงที่…ถ้าเป็น 8 วินาที นับถึงเท่าไร…ในขณะที่ถ่ายด้วยชัตเตอร์ B ก็ใช้การนับแทนการจับเวลาวินาที…ควรฝึกถึง 10 วินาที ว่านับไปได้เท่าไร คุณก็จะมีค่าการนับแทนซึ่งสะดวกกว่าการจับเวลาด้วยนาฬิกา

การกดชัตเตอร์ สำหรับการถ่ายภาพพลุควรกดชัตเตอร์ตั้งแต่เห็นพลุเริ่มยิงขึ้น ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ระหว่าง 4-6 วินาที ก็จะได้ภาพพลุพร้อมฉากถ่ายภาพ เมื่อพลุขึ้นครั้งแรก ไม่ต้องรีบร้อน ควรจัดองค์ประกอบให้เหมาะสมกับขนาดของพลุที่ขึ้นให้เรียบร้อย เผื่อพื้นที่สำหรับพลุด้วย ปกติพลุจะขึ้นในตำแหน่งใกล้กัน แต่จะมีระยะห่างกันพอสมควร จะทำให้การถ่ายพลุง่ายขึ้น แต่ถ้าเป็นพลุสูง หรือที่เราเรียกว่าพลุใหญ่ อย่างพลุ ไซโก้ ความไวชัตเตอร์ จะอยู่ที่ระหว่าง 6-8 วินาที การปรับค่าความไวชัตเตอร์ จึงขึ้นกับความสูงในการยิงพลุด้วย

การถ่ายภาพพลุรูปร่างเฉพาะ ในการยิงพลุ หลายครั้ง ที่จะมีพลุที่มีรูปร่างพิเศษ อย่างเช่น พลุที่เป็นรูปตัวเลข พลุที่เป็นรูปหัวใจ หรือ พลุที่มีรูปร่างเป็นตัวการ์ตูน เป็นต้น การถ่ายภาพพลุประเภทนี้ให้เห็นเป็นรูปร่าง ถ้าลากความเร็วชัตเตอร์แบบปกติ คือ ที่ 4-8 วินาที ภาพที่ได้จะไม่เห็นเป็นรูปร่าง แต่จะเห็นเป็นเส้นสายพลุแทน 

วิธีที่จะถ่ายให้ได้ภาพเป็นรูปร่าง ก็คือ ลดความไวชัตเตอร์ลง ด้วยการกดแล้วปล่อย ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ ½ หรือ 1 วินาทีเท่านั้น เส้นพลุจะสั่นลง เห็นเป็นรูปร่างได้ชัดเจน เทคนิคนี้ ไม่ค่อยมีใครพูดถึง และนี่คือวิธีที่จะถ่ายภาพพลุที่มีลักษณะพิเศษเป็นรูปร่าง ปัญหาที่จะเจอก็คือ ฉากหน้าอาจจะมืดไปนิด นำมาปรับแก้ภายหลังได้ แต่ถ้าจะแก้หลังกล้อง ก็คือการเพิ่มขนาดรูรับแสงให้กว้างมากขึ้นประมาณ 1 สต็อป ซึ่งในความเป็นจริง ขณะถ่ายพลุมักจะปรับไม่ทัน จึงควรมุ่งสมาธิอยู่ที่การถ่ายภาพพลุให้ได้ไว้ก่อนดีกว่า 

ข้อควรระวัง

ข้อควรระวังในการถ่ายพลุ ปัจจัยใหญ่ๆ มี 3 เรื่องด้วยกัน

เรื่องแรก คือ ภาพไหว อาการภาพไหวมักเกิดจากความไม่มั่นคงของขาตั้งกล้อง และการถ่ายภาพโดยไม่ใช้สายลั่นไกชัตเตอร์

เรื่องที่ 2 คือ ภาพโอเวอร์เกินไป อาการนี้มักจะเกิดเมื่อมีการยิงพลุติดต่อกันหลายๆ ลูกและพลุขึ้นในจุดซ้ำๆ กันทำให้พลุสว่างจัดเกินไป ถ้าเกิดกรณีเช่นนี้ ควรปลดยุติการถ่าย แล้วรอจังหวะเริ่มต้นใหม่ พลุอีกประเภทหนึ่งที่มีโอกาสสว่างมากคือ พลุที่มีลักษณะเป็นต้นปาล์มจึงต้องถ่ายภาพด้วยสมาธิจดจ่ออยู่ที่ช่องมองภาพหรือ จอแสดงภาพตลอดเวลา 

เรื่องที่ 3 คือ ควันของพลุ หลายครั้งที่การยิงพลุ จะปรากฏควันมากมาย ถ้าผู้จัดยิงพลุจัดการดี มีประสบการณ์สูง ก็จะยิงสลับกัน ขึ้นสูง ลงล่าง เพื่อหลีกเลี่ยงเรื่องควันพลุ แต่ก็มีหลายครั้ง ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ควันพลุทำให้ความสดใสของภาพพลุ และฉากที่ถ่ายขาดความคมชัด ดังนั้นในการเลือกจุดถ่ายภาพถ้าได้อยู่เหนือลม จะดีที่สุด แต่หลายครั้งก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงต้องคอยจังหวะที่ควันจางลงจึงจะถ่ายต่อก็จะได้ภาพที่ดีขึ้น

ตอนที่ทุกท่านพร้อมแล้วครับ ขอให้สนุกกับการถ่ายพลุในปีนี้นะครับ….