เรื่อง+ภาพ : ApochTophy’s

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 248/2018 May

ในการจัดองค์ประกอบภาพ มีอยู่เรื่องหนึ่งในส่วนของ Visual elements ที่เวลาถ่ายภาพอะไรก็ตามเราต้องใช้อยู่เสมอก็คือเรื่องของ พื้นที่ว่าง (space) โดยธรรมชาติแล้วที่ว่างเป็น สิ่งที่ค่อนข้างซับซ้อน เพราะเราไม่สามารถกําหนดที่ว่างให้เป็นรูปทรงได้เองด้วยตาเปล่า บทบาทของที่ว่างจะปรากฏก็ต่อเมื่อมีทัศนธาตุอื่นๆ มาแสดงหรือแทนที่

ในทางศิลปะแล้วพื้นที่ว่างก็คือ บริเวณทั้งหมดภายในภาพโดยจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ ก็คือ บริเวณวัตถุหลัก (Subject) เรียกว่า พื้นที่ว่างทางบวก (Positive Space)  และบริเวณว่างโดยรอบวัตถุ เรียกว่า พื้นที่ว่างทางลบ (Negative Space)

Negative space ก็คือพื้นที่ว่างรอบๆวัตถุ (subject) โดยเป็นบริเวณรอบๆ ที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ของวัตถุนั้นบริเวณรอบนี้ในภาพถ่ายคือพื้นที่ระหว่างวัตถุ รวมถึงพื้นที่ของฉากหลัง ซึ่งจะไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่อากาศว่างเปล่า แต่เป็นพื้นที่ของสิ่งที่เราไม่ได้กำหนดให้เป็นวัตถุหลักของภาพ เช่น ภาพนกบินกางปีกบนท้องฟ้า วัตถุหลักในภาพก็คือตัวนก Negative space ก็คือท้องฟ้าที่เป็นฉากหลัง

ในบางครั้ง Negative space ก็ไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่ว่างรอบวัตถุเท่านั้นแต่ยังทำหน้าที่เป็นเรื่องราวอีกเรื่องหนึ่งด้วย เราสามารถกำหนดขนาดพื้นที่ว่างของ Negative space ได้จากการเลือกใช้เลนส์ทางยาวโฟกัสต่างกัน หรือการเว้นระยะห่างของกล้องกับวัตถุหลักหรือการใช้เทคนิคการถ่ายภาพอื่นๆ

Subject หรือส่วนของ positive space จะมีความสัมพันธ์กันกับ Negative space อยู่สามเรื่องก็คือ วัตถุกับพื้นหลัง (figure and ground), ตําแหน่ง (position) และขนาด (size)

Figure and Ground วัตถุและพื้นหลังมีความสำคัญไม่แพ้กันเพราะทั้งสองอย่างนี้ส่งผลต่อการรับรู้ของเรา ในบางครั้งการเปลี่ยนพื้นหลังก็ทําให้ความรู้สึกของภาพเปลี่ยนไป วัตถุแบบเดียวกันเมื่ออยู่บนพื้นหลังที่ต่างกันก็จะทำให้ความรู้สึกของภาพต่างกัน

Position ตำแหน่งของวัตถุที่จะถูกวางบนพื้นหลังนั้นมีผลต่อสมดุลภายในภาพ จะมีผลต่อการดูภาพ หลักสำคัญคือการไม่ทำให้การดูภาพแล้วรู้สึกหนักไปด้านใดด้านหนึ่ง ดังนั้นแล้วเราต้องเลือกว่าวัตถุที่เราจะถ่ายนั้น ควรอยู่ส่วนใดในภาพ จะเอาไว้ตรงกลางภาพ ด้านซ้าย หรือด้านขวา ด้านบน หรือด้านล่าง หรือจะให้เห็นเพียงบางส่วนของวัตถุเท่านั้น

Size ขนาดของวัตถุและพื้นหลังส่งผลต่อระยะห่างภายในภาพ วัตถุที่มีขนาดใหญ่จะให้ความรู้สึกว่าอยู่ใกล้กว่าวัตถุขนาดเล็ก ขนาดของวัตถุที่เราจะถ่ายเมื่ออยู่ในเฟรมภาพควรจะมีขนาดเท่าใด เช่น มีขนาดใหญ่เต็มเฟรมภาพ ขนาดเล็ก หรือเล็กมากๆ ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลในเรื่องนี้ก็คือระยะห่างระหว่างกล้องกับวัตถุที่จะถ่าย และทางยาวโฟกัสของเลนส์ที่เราใช้

Negative Space เป็นพื้นที่ว่างรอบๆ Subject ที่ค่อนข้างมาก ไม่โดดเด่น ไม่แย่งความสนใจไปจาก Subject หลักของภาพ โดยจะเว้นพื้นที่ว่างเอาไว้มากๆ หรือเรียกว่ามากกว่า Subject หลักของภาพ บางครั้งก็เรียกว่า blank space ซึ่งจะพบงานประเภทนี้ได้บ่อยครั้งในงานออกแบบดีไซน์สมัยใหม่ที่เป็นสไตล์มินิมอล ด้วยหลักแนวคิดที่ว่า ในเฟรมภาพหนึ่งเฟรมจะประกอบไปด้วยสิ่งต่างๆ มากมาย การเลือกให้มีเฉพาะสิ่งที่สำคัญ อยู่ในเฟรมภาพสิ่งที่ไม่จำเป็นในภาพก็ควรตัดทิ้งไป

Negative space ช่วยกำหนดขอบเขตของ positive space และช่วยให้ภาพสมดุล นอกจากนั้นยังช่วยเน้น subject ให้เกิดความน่าสนใจ Negative space ถ้ามีน้อยเกินไป ภาพจะรู้สึกอึดอัด ถ้ามีเยอะเกินไปภาพจะรู้สึกอ้างว้างเคว้งคว้าง ดังนั้นถ้าเราแบ่งพื้นที่ทั้ง positive space และ negative space ให้ได้สมดุลกันภาพจึงจะมีความน่าสนใจ…