เรื่อง+ภาพ : poch

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 259/2019 April

ภาพ Landscape เป็นภาพอีกประเภทหนึ่งที่หลายๆ คนชอบถ่าย ในการสร้างสรรค์ภาพ Landscape นั้น ช่างภาพทุกคนย่อมต้องการความสวยงามของภาพและที่มากไปกว่านั้นคือความต่างของภาพ การมองหาสไตล์ของตัวเองและสร้างเป็นผลงานขึ้นมาได้นั้น นับเป็นอีกการพัฒนาการถ่ายภาพของเราเอง แต่การที่จะสร้างสไตล์ของเราเองขึ้นมานั้น เราควรมาเริ่มด้วยวิธีคิดแบบเป็นระบบในการถ่ายภาพดีกว่า ซึ่งในบทความครั้งนี้จะขอหยิบยกระบบการทำงานที่น่าสนใจ เพื่อให้ภาพ Landscape ของเรานั้นมีอะไรที่มากกว่าเดิม

Define your approach กำหนดแนวทางให้ชัดเจน

ควรกำหนดแนวทางของภาพ Landscape ที่เราต้องการจะถ่าย หรืออย่างน้อย วางไอเดียภาพที่อยากได้เอาไว้ก่อน จะช่วยให้เราทำงานได้ง่ายขึ้น ทั้งการเลือกสถานที่ ช่วงเวลา ฤดูกาล รวมทั้งการจัดองค์ประกอบภาพ การกำหนดแนวทางของภาพอาจจะเป็นการตั้งหัวข้อง่ายๆ เช่น เส้นนำสายตา, แสงสุดท้าย, แสงแรกของวัน ฯลฯ หรืออาจจะกำหนดเป็นภาพชุดของสถานที่นั้นๆ ก็สามารถทำได้ จะช่วยทำให้เรามุ่งเน้นต่อสิ่งที่เราจะถ่ายได้ดีขึ้น คือพยายามคิดให้แคบและเจาะจง อย่าให้หัวข้อที่เราคิดนั้นกว้างจนจับอะไรไม่ได้ นักถ่ายภาพที่เก่งๆ ที่ใช้เครื่องมือ/อุปกรณ์ และแนวทางแตกต่างกันไป แต่สิ่งที่ทุกคนมีความคิดร่วมเหมือนกันในการถ่ายภาพ พวกเขามีความรู้ ความกระตือรือร้น และเข้าใจในสิ่งที่กำลังถ่าย และที่แน่ๆ พวกเขามีการวางแผนล่วงหน้า

Select the right tools เลือกเครื่องมือที่เหมาะสม

เมื่อกำหนดแนวทางภาพที่จะถ่ายแล้ว เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่จะใช้งานให้เหมาะสมคือเรื่องถัดมา ความละเอียดของกล้องที่จะใช้ ทางยาวโฟกัสของเลนส์ อุปกรณ์เสริมอื่นๆ เช่น ขาตั้งกล้อง ฟิลเตอร์ ฯลฯ จะสามารถตอบโจทย์จากแนวทางของภาพที่เรากำหนดไว้นั่นเอง ข้อสำคัญคือเราต้องรู้จักคาเรกเตอร์ของอุปกรณ์ที่เราจะใช้ หรือรู้จักศักยภาพของอุปกรณ์ที่เรามี เลนส์ช่วงนี้ต้องใช้รูรับแสงที่เท่าไหร่ถึงจะได้ความคมชัดถึงขอบภาพ? กล้องตัวนี้มีความละเอียดเท่าใด? ฟิลเตอร์ที่ใส่ลดแสงไปกี่สตอป? เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราต้องรู้ โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่เราใช้งานเป็นประจำ การที่เราทำความเข้าใจกับอุปกรณ์ที่เราใช้งานนั้น จะทำให้เราปรับแต่งอุปกรณ์ได้อย่างเหมาะสม และควบคุมมันได้อย่างที่เราต้องการ

Master light and color แสง และ สีที่ดีที่สุด

ไปถูกที่ถูกเวลา เป็นหัวใจสำคัญของการถ่ายภาพให้สวยงาม โดยเฉพาะการถ่ายภาพ Landscape ที่เราต้องอาศัยแสงในธรรมชาติ ดังนั้นแล้ว การเลือกช่วงเวลาที่ดีที่สุด เพื่อให้ได้แสงและสีของภาพที่ดีที่สุดสำหรับภาพที่เราต้องการ แม้แต่ช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์ตกไปแล้ว เราก็ยังมีแสงไฟ และแสงจันทร์ในการถ่ายภาพอยู่ดี แสงในระดับที่เรียกว่า Master light นั้นยกตัวอย่างง่ายๆก็เช่น The Golden Hour (ชั่วโมงแห่งแสงสีทอง) เป็นช่วงเวลาที่ช่างภาพ Landscape ให้ความสำคัญและก็เช่นกันที่ช่างภาพแนวอาร์ตก็ชื่นชอบ แสงสีทองนั้นมักจะทำให้ภาพถ่ายดูมีพลัง และอารมณ์ของภาพที่อบอุ่น ดังนั้นในแต่ล่ะวันหรือบางวันเราจะเห็นแสงสีทองนี้ได้แค่ 2 ช่วงเวลาคือ ช่วงเวลาเช้า และเวลาเย็น การที่จะสร้างสรรค์ภาพถ่ายจากช่วงเวลานี้นั้น ถ้าเป็นไปได้แนะนำให้ไปจับจองมุมสำหรับถ่ายภาพแต่เนิ่นๆ ไปก่อนเวลาเพื่อเลือกจัดองค์ประกอบภาพให้สมบรูณ์ดีกว่ามารีบร้อนในเวลานาทีทองที่สำคัญ

Editing ปรับแต่งภาพ

ในหลายครั้งภาพ Landscape ที่เราถ่ายมานั้นยังไม่สมบรูณ์ด้วย แสง สี และอารมณ์ เราอาจจะต้องนำภาพมาปรับแต่งเพื่อให้ผลงานเป็นไปตามที่เราต้องการ  การปรับแต่งภาพให้ได้ผลงานที่สมบรูณ์นั้น สิ่งสำคัญไม่ใช่การใช้เครื่องมือต่างๆ ได้ การใช้งานโปรแกรมต่างๆ ได้คล่องแคล่วเป็นเพียงทักษะที่เราชำนาญกับเครื่องมือนั้นๆ สิ่งสำคัญยิ่งกว่าคือการที่เราเข้าใจในภาพที่เราจะทำการปรับแต่ง ภาพลักษณะนี้ควรจะปรับภาพอย่างไร? บางภาพเหมาะที่จะทำเป็นขาวดำหรือไม่? บางภาพควรจะเพิ่มรายละเอียดในส่วนมืดอีกเล็กน้อย ฯลฯ สิ่งที่จะช่วยในการตัดสินใจของเราได้นั้นมาจากที่เราดูภาพที่ดีมาเป็นจำนวนมาก และอีกสิ่งที่เราควรทำความเข้าใจคือคุณภาพและความยืดหยุ่นของไฟล์ภาพจากกล้องที่เราใช้ กล้องบางรุ่นสามารถดึงไฟล์ภาพในส่วนมืดได้ถึง 5 stop ซึ่งจะมีประโยชน์มากในขณะที่เรากำลังถ่ายเพื่อจะนำไฟล์ภาพมาดึงรายละเอียดต่อในการปรับภาพ

Something different บางสิ่งที่แตกต่าง

การสร้างความแตกต่างในภาพนั้นทำได้หลายวิธี การเสริมเรื่องราวลงไปด้วย Subject ไม่ว่าจะเป็น คน สัตว์ หรือวัตถุสิ่งของในภาพ หรือการหาฉากหน้า เส้นนำสายตา หรือการจัดองค์ประกอบภาพ เพื่อเน้นเรื่องราว และทำให้ภาพดูน่าสนใจ ส่วนใหญ่แล้วในการถ่ายภาพ Landscape หลายคนชอบที่จะถ่ายภาพสถานที่นั้นๆ แบบที่ไม่มีคนหรือวัตถุอื่นๆ ในภาพ แต่อันที่จริงแล้ว คน สัตว์ สิ่งของหรือวัตถุ ต่างๆ ที่อยู่ในภาพนั้น ถ้าเราจัดวางให้ดีก็อาจจะทำให้ได้ภาพที่น่าสนใจได้อีกมากมายเช่นกัน นอกจากนี้เรายังสามารถใช้เป็นส่วนเสริมเรื่อง หรือสิ่งเปรียบเทียบของขนาด หรือความยิ่งใหญ่ของสถานที่ในภาพได้อีกด้วย

การวางระบบความคิดในการถ่ายภาพนั้นเราสามารถนำมาใช้กับการถ่ายภาพได้ทุกประเภท เพื่อการสร้างสไตล์ของภาพที่เป็นของเราเอง แม้จะมีคนเถียงว่าการทำอะไรใหม่ๆ คงยากเพราะอะไรๆ รูปแบบไหนๆ คนอื่นก็ทำกันไปหมดแล้วแต่ผมกลับคิดว่า คงไม่แปลกอะไรนักถ้าเราจะเดินตามรอยคนอื่น เพราะถึงอย่างไรเราก็มีจังหวะก้าวเท้าเป็นของเราเองแน่นอนครับ…