เรื่อง+ภาพ : Sompoch Tangthai

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 262/2019 July

มีภาพถ่ายประเภทหนึ่งที่นับว่ามีความแพร่หลายในบ้านเราเป็นอย่างมาก นั่นก็คือ ภาพถ่ายข้างถนน หรือ Street Photography จัดว่าเป็นแนวภาพถ่ายที่มีผู้คนให้ความสนใจเป็นอันมาก หลายคนเคยได้ยินช่างภาพมือโปรฯ เขาพูดกันอยู่บ่อยๆ “ไปเดินถ่ายสตรีทๆ” จนอาจสงสัยกันได้ว่าจะไปถ่ายถนนกันหรือเปล่า? ซึ่งไม่ใช่แต่ใกล้เคียงครับ เพราะแรกเริ่มเดิมที Street Photography นั้นก็มีที่มาจาก ช่างภาพ portrait ข้างถนน ที่คอยรับถ่ายภาพราคาถูกในสมัยที่กล้องถ่ายภาพยังไม่ได้มีใช้กันทุกคนมากนัก ด้วยกล้องในสมัยก่อนนั้นมีขนาดที่ใหญ่โต จนต่อมายุคสมัยเปลี่ยนไป มีการผลิตกล้องที่มีขนาดเล็กลง ผู้คนมีกล้องใช้กันมากขึ้น ช่างภาพ portrait ข้างถนน ก็ค่อยๆ หายไป

ซึ่งต่อมาในช่วงปี 1930-1950 เป็นช่วงที่ Street Photography มีการแพร่หลายเป็นจำนวนมาก โดยมากจะเป็นเนื้อหาของภาพข่าวสงคราม ชีวิตผู้คนในเมืองที่อยู่ท่ามกลางสงคราม ผู้อยู่รอด ชีวิตของผู้คน การหลบซ่อน และความเป็นอยู่ในแต่ละวัน ฯลฯ จากนั้นภาพถ่ายแนว Street Photography ได้มีบทบาทในการบันทึกการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์สำคัญๆ ของโลกในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมืองกลางศตวรรษที่ยี่สิบ โดยกลุ่มช่างภาพ magnum ถือเป็นกลุ่มที่ทำให้ภาพถ่ายแบบ Street photography โด่งดังและได้รับการยอมรับไปทั่วโลก              

หลังจากนั้นความหมายของ Street Photography ก็ได้เปลี่ยนไปเป็นภาพถ่ายซึ่งเน้นเรื่องราวชีวิตในเมือง ผู้คนและชีวิตประจำวันบนท้องถนน เป็นการถ่ายภาพบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ การทำมาหากินหรือการทำงานของผู้คนทั่วไป รวมถึงชีวิตผู้คนยามราตรี ฯลฯ

แม้แนวของการถ่ายภาพจะมีความแตกต่างกันออกไป ซึ่งค่อนข้างที่จะมีความหลากหลาย แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นสิ่งสำคัญในภาพชีวิตข้างถนนนั้นก็คือ การให้ความสำคัญกับเสี้ยววินาที ของสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวและการถ่ายทอดออกมาอย่างตรงไปตรงมา ไม่ต้องมีการปรุงแต่ง เพิ่มเติมใดๆ ทั้งสิ้น 

ภาพถ่ายแนว Street photography เป็นงานที่อาศัยสัญชาตญาณ และ ความรวดเร็วในการบันทึกเหตุการณ์ตามสภาพที่เป็นจริงอยู่เบื้องหน้า ดังนั้น จังหวะ และรายละเอียดภาพ จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้งานนั้นๆดูดี หรือ ดูน่าสนใจเพียงใด การถ่ายภาพประเภทนี้ให้ประสบความสำเร็จ คือการเข้าไปใกล้ชิดกับผู้คน โดยเราควรเป็นส่วนหนึ่งในเหตุการณ์ จะทำให้ภาพที่ได้แสดงอารมณ์ที่เราต้องการจะสื่อออกมาได้เต็มที่

เทคนิคของภาพสตรีทนั้นมีอยู่ด้วยกันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น จังหวะที่เฉียบคม(decisive moment) การใช้สีซ้ำๆ กันทั้งตัวแบบ และฉากหลังเพื่อคุมโทนสีในภาพ (Color) การจัดองค์ประกอบให้มี Elements ที่หลากหลายทับซ้อนอยู่ในภาพ  (Layer) การปกปิดซ่อนเร้นไม่ให้เห็นบางส่วนของวัตถุ (Hidden) การใช้เงา (Shadow) การใช้กระจกสะท้อน หรือเงาสะท้อนของกระจก (Mirror) การใช้วัตถุ รูปทรงคล้ายกันเพื่อเปรียบเทียบ (juxtaposition)

ภาพแนว Street Photography นั้นเกิดขึ้นด้วยจังหวะเวลาที่เหมาะสม ในขณะที่เราเดินถ่ายภาพอยู่นั้นเราไม่มีโอกาสจะรู้ได้เลยว่าจะพบเจอเหตุการณ์อะไรข้างหน้า ซึ่งจะต่างกับภาพข่าวหรือสารคดี ที่เราได้กำหนดหัวข้อไว้ล่วงหน้า หรือเราได้กำหนดบุคคลที่เราจะถ่ายภาพไว้บ้าง แต่ Street Photography จะไม่ได้สนใจหรือยึดติดกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เรียกง่ายๆ ว่าเจอสิ่งใดน่าสนใจก็ยกกล้องถ่ายภาพทันที ลักษณะการทำงานที่มีส่วนคล้ายกับภาพข่าว หรือภาพเหตุการณ์สำคัญตรงที่ต้องอาศัยความรวดเร็วในการจับภาพ แต่ Street Photography จะไม่เน้นที่ประเด็นทางการเมือง บุคคลสำคัญ  ลักษณะคล้ายๆ กับภาพสารคดีบอกเล่าความเป็นไปต่างๆ ของสังคม Documentary Photographer เพียงแต่ Street Photography จะมีอิสระในทางความคิดมากกว่าเพราะเป็นการนำเสนอจากตัวช่างภาพเอง การบันทึกชีวิตหรือสิ่งต่างๆ ตามสภาพจริง การใช้ความสามารถในการควบคุมกล้อง ความเร็วในการตัดสินใจ และกดชัตเตอร์และจัดองค์ประกอบ อันเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากในลักษณะการทำงานของช่างภาพ Street photography…