เรื่อง+ภาพ : Apochtophy’s

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 262/2019 July

ศิลปะเชิงนามธรรมหรือ Abstract art นับเป็นศิลปะที่เข้าใจได้ยากมากๆ และก็คงจะยากในการที่จะทำให้ทุกคนเห็นภาพร่วมกันได้ ด้วยงานเชิงนามธรรมนั้น เป็นรูปแบบศิลปะที่มีข้อถกเถียงกันมาช้านาน ในเรื่องที่ว่า ดูรู้เรื่องไม่รู้เรื่อง สวยตรงไหน ภาพนั้นสวยภาพนี้ไม่สวย ภาพนี้ดูไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ ฯลฯ หลายคนคงจะเคยได้ยินประโยคเหล่านี้มาบ้างเมื่อได้เห็นงานศิลปะเชิงนามธรรมทั้งหลาย และในวันนี้ผมจะนำเสนอเรื่องราวของรูปแบบศิลปะแบบนามธรรม ว่ามีลักษณะอย่างไร มีที่มาที่ไปอย่างไร และมีแนวคิดใดๆ ที่สอดคล้องในงานศิลปะนามธรรมอยู่บ้าง เพื่อที่อย่างน้อยเราจะได้เข้าใจกับศิลปะเชิงนามธรรมหรือที่เราคุ้นเคยกับคำว่า “Abstract”

เริ่มจากในสมัยศตวรรษที่ 20 งานศิลปะได้มีความหลากหลายมากขึ้น และมีแนวคิดเกี่ยวกับศิลปะที่แตกต่างกันออกไปอยู่มาก เรียกง่ายๆ ว่าศิลปินนั้นมีการนำเสนอแนวคิดที่เป็นของตัวเอง และมีอิสระในการสร้างสรรค์ผลงานมากขึ้นโดยที่ไม่ได้มีการยึดติดกับรูปแบบทางศิลปะรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง จึงส่งผลให้เริ่มมีแนวคิดที่จะแสดงออกในรูปแบบของนามธรรมมากขึ้น และจึงเป็นที่มาของศิลปะรูปแบบนี้นั่นเอง

Abstract Expressionism ของศิลปิน Jackson-pollock

ผลงานรูปแบบ Geometric Abstraction ของศิลปิน Piet Mondrian

ศิลปะเชิงนามธรรมหรือ Abstract art เป็นงานศิลปะที่ไม่ได้แสดงออกหรือมุ่งเน้นกับความเป็นจริง โดยจะเป็นการละทิ้งรูปทรงต่างๆ ด้วยการตัดทอนหรือลดรูปทรงนั้นๆ จนหมดสิ้น หรืออาจจะเป็นการสร้างรูปทรงขึ้นมาใหม่ตามความรู้สึกของศิลปินเอง ด้วยการวางโครงสีใหม่ และเรื่องราวใหม่ สิ่งสำคัญก็คือการยึดคุณค่าทางความรู้สึกที่มีต่อสิ่งนั้นๆ ไว้ ความงามตามอารมณ์ และความรู้สึก เป็นสิ่งที่เหนือความเป็นจริงต้องใช้จินตนาการ แต่ก็ไม่ใช่ว่าศิลปินจะสร้างผลงานอะไรออกมาโดยไม่มีที่มาที่ไป เพราะกว่าที่ศิลปะ Abstract จะเกิดขึ้นมาได้นั้น มันต้องผ่านวิวัฒนาการทางความคิด และรูปแบบทางศิลปะจากศิลปินผู้นั้นมาก่อนแล้ว ได้มีการแบ่งศิลปะแบบ Abstract ไว้ 2 พวกใหญ่ๆ คือ 1.Geometric Abstraction และ 2. Abstract Expressionism

Geometric Abstraction จะเน้นที่การลดทอน เป็นการลดทอนทุกสิ่งทุกอย่างลงจนเหลือเพียงแค่โครงร่างเรขาคณิต หรือเน้นโครงสร้าง โดยมีเส้นต่างๆ เข้ามามีบทบาทสำคัญ มีความชัดเจน ส่วนสีก็มักจะลดลงเหลือเพียงแม่สี แดง เหลือง นํ้าเงินและสีกลาง (ขาว เทา ดำ) การลดรูปทรง ลดสีนี้ มันเป็นสัญลักษณ์ ที่เกี่ยวพันกัน และเชื่อว่ามีที่มาจากปรัชญาตะวันออกการสอนเกี่ยวกับสมาธิ วิปัสสนา (Theosophy) ที่กำลังเข้ามาทางตะวักตกในช่วงยุคสมัยนั้นด้วย

ส่วน Abstract Expressionism นั้นได้แบ่งย่อยไปอีก 2 กลุ่มด้วยกันคือ 1. Action Painting และ 2. Color Field Painting

Action Painting จะเน้นที่การใช้สีที่มีความรวดเร็ว โดยไม่มีการออกแบบไว้ล่วงหน้า การใช้สีจะขึ้นอยู่กับ อารมณ์ และจังหวะความคิดในช่วงเวลานั้น ขณะที่ศิลปินกำลังวาดรูป หรือ หยดสี ลงบนผืนผ้าใบนั่นเอง ซึ่งหัวใจของ Action Painting คือการใช้สีที่สด ฉับพลัน และดูเคลื่อนไหว โดยที่ จังหวะของสีนั้น จะเป็นตัวบอกและสื่อถึง ความหมายที่มีอยู่ในภาพ ให้นึกถึงศิลปินที่หยดสีลงบนผ้าใบแล้ววิ่งไปมาบนผ้าใบนั้นประมาณนั้นนะครับ

Color Field Painting งาน Abstract แบบ Color Field Painting นี้ค่อนข้างที่จะตรงข้าม กับงานแบบ Action Painting เป็นอย่างมาก ในแง่ของความสงบนิ่ง และ แฝงไปด้วย ความลึกลับ คือมีสีที่มีบรรยากาศหนักๆ หม่นๆ สีร้อน สี ฯลฯ โดยเน้นที่การใช้สีในพื้นที่สี่เหลี่ยม ในบางครั้งจะมีแค่สีและ ก็ไม่มีรูปภาพอะไรในนั้นเลย จะมีแต่เพียงสีที่ดูลึกลับซึ่งก็ทำให้คนดู เพลิดเพลินอยู่กับสีเหล่านั้น เรียกว่าสื่อด้วยสีเป็นหลักว่าอย่างนั้นเถอะ

คุณค่าของความรู้สึกถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของศิลปะแบบนามธรรม ศิลปินแบบสมัยเก่าจะเขียนบรรยายอะไรก็เฉพาะเจาะจงลงไป เช่น รูปผู้หญิง ต้นไม้ สัตว์ ผลไม้ ผู้ชาย และแม้แต่พระเจ้า แต่ศิลปินกลุ่ม Abstract ไม่ต้องการสร้างรูปทรงที่ปรากฏให้ผู้ดูหลงติดเพียงแค่นั้น แต่ต้องการสร้างรูปทรงใหม่ โดยคำนึงถึงการจัดภาพ ลีลา จังหวะความสมดุล และความรู้สึก เพื่อให้เกิดอารมณ์และความรู้สึกเองเมื่อได้สัมผัส

Abstract Photography

สำหรับงานภาพถ่าย ศิลปะนามธรรมนั้น ก็จะมีความหมายคล้ายๆ กันกับงานภาพวาด แต่สิ่งที่งานภาพถ่ายมุ่งเน้นนั้นก็คือเรื่องของจินตนาการเป็นหลัก โดยที่ไม่ได้มีการคิดถึงความหมายที่ต้องการจะสื่อออกมาเท่าไรนัก กล่าวคือ ทุกภาพไม่จำเป็นจะต้องมีความหมาย หรือทำให้ผู้คนเข้าใจไปในทางเดียวกันหมด โดยมากจะมุ่งเน้นให้ผู้ที่ชมภาพเป็นผู้ตีความเอาเองตามความรู้สึกที่มีต่อภาพนั้นๆ  ผู้ชมอาจจะมองไปในทางเดียวกัน หรือในทางตรงกันข้าม หรือไม่เข้าใจเลยก็ได้

การถ่ายภาพประเภท Abstract นี้จะเป็นการถ่ายภาพเฉพาะที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของสิ่งรอบๆ ตัว การมองภาพนั้นผู้ชมอาจจะไม่สามารถที่จะบอกได้ในทันทีว่าเป็นภาพของอะไร การถ่ายภาพของศิลปินจะเน้นมุมมอง การแทนค่า การใช้เส้น หรือการซ้ำ รวมทั้งการใช้สี ซึ่งจะได้ภาพที่ค่อนข้างจะแปลกตาออกไปจากภาพถ่ายปกติ แต่มีความน่าสนใจให้ชวนมอง และทำให้เกิดจินตนาการไปด้วยกันกับภาพนั้นๆ ได้

การเสพสิ่งที่เป็นนามธรรมไม่ได้จำกัดขอบเขตหรือหลักการใดๆ แต่ควรเสพด้วยความคิด ความรู้สึกและจินตนาการ ความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นมาเองขณะได้เห็นภาพนั้นๆ ณ เวลานั้นและไม่มีสิ่งใดมาวัดได้ว่าของใครสวยงามกว่า เพราะไม่มีใครเข้าไปล่วงรู้จินตนาการที่แท้จริง การดูภาพ เสน่ห์ไม่ได้อยู่ที่สิ่งที่ปรากฏต่อหน้า แต่อยู่ที่จินตนาการของแต่ล่ะคนที่ไม่มีวันจะเหมือนกันได้ และต่างคนต่างก็มีความสุขอยู่กับจินตนาการนั้นครับ…