เรื่อง+ภาพ : นายจักรยาน

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 252/2018 September

ในช่วงฤดูฝน ที่มีมรสุมเข้า บางพื้นที่เป็นเขตน้ำท่วม แหล่งท่องเที่ยวที่เป็นน้ำตก เกิดเหตุการณ์น้ำไหลแรงกว่าปกติ เป็นภาพที่น่ากลัว แต่ก็ไม่มีเหตุร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต ส่วนที่เป็นเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำก็มีผลกระทบ ที่เห็นได้ชัดเจนคือเขื่อนแก่งกระจานจังหวัดเพชรบุรี ปริมาณน้ำในเขื่อนมากจนต้องระบายออก ทำให้พื้นที่ท้ายเขื่อนมีน้ำท่วม แต่ไม่นานนักก็กลับเข้าสู่ภาวะปกติ

ครั้งนี้ผมจะพาไปเที่ยวอ่างเก็บน้ำที่มีขนาดไม่ใหญ่ อยู่ในเขตภาคกลางไม่ไกลจากกรุงเทพมากนัก นั่นคือ อ่างเก็บน้ำหุบเขาวง หรือที่่เป็นที่รู้จักกันว่า “ปางอุ๋งสุพรรณ” อยู่ที่บ้านพุน้ำร้อน อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี

อ่างเก็บน้ำหุบเขาวงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดสุพรรณบุรี เพิ่งเปิดตัว เมื่อประมาณเดือนธันวาคม 2558 ด้วยการกระจายข่าวในโซเชี่ยลมีเดียอย่างรวดเร็ว หลังจากเปิดตัวได้ไม่กี่วัน ทำให้คนที่ทราบข่าวหลั่งไหลมาเที่ยว สัมผัสความงามของบรรยากาศของ “ปางอุ๋งสุพรรณ” กันอย่างเนืองแน่น ความโดดเด่นของที่นี่จนได้รับการขนานนามว่าปางอุ๋งนั้น  เพราะเป็นอ่างเก็บน้ำที่ไม่ใหญ่นักมีเนื้อที่ประมาณ 85 ไร่ อยู่ในหุบเขามีภูเขาขนาดย่อมๆ ล้อมรอบ ช่วงอากาศเย็น ในตอนเช้าๆ ช่วงพระอาทิตย์ขึ้น ความร้อนกระจายตัว ในบริเวณเหนืออ่างเก็บน้ำ ทำให้เกิดหมอกลอยตัวขึ้นเหนือผิวน้ำ กระทบกับแสงแดดอ่อนๆ ในยามเช้าอย่างสวยงาม เป็นภาพที่น่าประทับใจมาก เปรียบเทียบได้เหมือนกับปางอุ๋งที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง ของจังหวัดเชียงใหม่ ทางภาคเหนือเลยทีเดียว แต่ที่หุบเขาวงอยู่เพียงแค่ภาคกลาง ไม่ต้องเดินทางไกลไปถึงเชียงใหม่ จึงทำให้นักท่องเที่ยวที่ชอบสัมผัสแนวธรรมชาติ แห่มาเที่ยวกันอย่างมากมาย อากาศที่นี่โดยทั่วไปเย็นสบายทุกฤดูกาล แต่ในช่วงฤดูหนาวอากาศจะเย็นกว่าพื้นที่อื่น

การบริหารงานและการดำเนินงานของที่พักในปางอุ๋งสุพรรณนี้ดำเนินงานโดยกลุ่มเกษตรกร ที่รวมตัวกันจัดตั้งทีมงานช่วยกันบริการจัดการในลักษณะเกษตรชุมชน จัดทำที่พักเป็นแบบแพลอยน้ำ สิ่งก่อสร้างเกือบทั้งหมดเป็นไม้และไม้ไผ่ ลานระเบียงโล่งจุดชมวิวริมน้ำ มีพื้นที่ส่วนกลางที่เป็นเรือนโถงรับประทานอาหาร เป็นร้านอาหารที่เปิดบริการให้กับนักท่องเที่ยวและผู้มาพัก มีร้านอาหาร สิ่งอำนวยการสันทนาการเช่นเรือคายัด เมื่อก่อนมีแพพักขนาดใหญ่ ที่เข้าพักได้คืนละหลายๆ คน แต่ปัจจุบัน เปลี่ยนเป็นแพลอยน้ำเพื่อบริการนักท่องเที่ยว แบบสันทนาการ หรือจะรับประทานอาหารกลางอ่างเก็บน้ำ แพที่พักจึงมีเพียงหลังเล็กที่พักได้แบบ 1-2 คน เพียงอย่างเดียว มีห้องน้ำ 8 ห้องและห้องอาบน้ำรวม

อ่างเก็บน้ำหุบเขาวง เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ นักท่องเที่ยวจะต้องมีความรับผิดชอบ ต่อธรรมชาติเป็นอย่างมากโดยไม่ก่อให้เกิดการรบกวน หรือทำความเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม แต่มีวัถตุประสงค์อย่างมุ่งมั่นเพื่อชื่นชม ศึกษา เรียนรู้ และเพลิดเพลินไปกับทัศนียภาพ พืชพรรณและสัตว์ป่า ตลอดจนลักษณะทางวัฒนธรรมที่ปรากฏในแหล่งธรรมชาตินั้น จึงอยากให้นักท่องเที่ยวได้ทราบถึงกฎระเบียบ ของสถานที่ ก่อนที่จะเดินทางมาเที่ยวชม เนื่องจากมีหลายสิ่งที่ไม่ควรทำ เช่น ไม่ควรส่งเสียง เปิดเพลงเสียงดัง หรือมีการละเล่นที่ก่อให้เกิดเสียงดังรบกวนผู้อื่น ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์กันจนเมามายขาดสติ ไม่กระทำการใดๆ อันเป็นการรบกวน หรือเปลี่ยนแปลงธรรมชาติตามสภาพที่เป็นอยู่

ภายในอ่างเก็บน้ำหุบเขาวงแห่งนี้ ไม่มีไฟฟ้า กลางคืนมีเพียงคบเพลิง และตะเกียงน้ำมันก๊าด ให้แสงสว่างเท่านั้น ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เนท เป็นโลกที่ปราศจากโซเชี่ยลอย่างแท้จริง นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกับความเป็นอยู่ที่เรียกว่าสโลว์ไลฟ์ มีอาหารตามสั่งอย่างง่ายๆ ถ้าคนเยอะต้องรอคิวนาน หากเตรียมของเข้าไปกินเองอาจจะสะดวกกว่า มีซุ้มขายของ ของชุมชนเล็กๆ

ความงดงามสำหรับบันทึกภาพมีอยู่โดยรอบ นักถ่ายภาพนกก็สามารถเข้าพื้นที่เฝ้าถ่ายนกในธรรมชาติได้ พื้นที่รอบอ่างเป็นป่าโปร่งเชิงเขามีความเงียบสงบ เป็นธรรมชาติ ถ้าอากาศโปร่งท้องฟ้าเปิด ในช่วงเช้าเย็นมีความงดงามทั้งช่วงเวลาพระอาทิตย์ขึ้นและตก รอบๆ มุมมองของอ่างเก็บน้ำเป็นแบบพาโนราม่า 360 องศา รอบตัวเลยทีเดียว ในช่วงเวลาที่ผมไปยังอยู่ในช่วงเวลามรสุมเข้า ท้องฟ้าไม่เปิด แต่ก็ได้ภาพประทับใจมาไม่น้อย กลางคืนแม้จะมีเมฆเต็มท้องฟ้า ผมตั้งกล้องบันทึกภาพจากภายในแพมองออกมาข้างนอก ได้ภาพที่งดงามน่าประทับใจ ผมเปิดสปีดช้าดัน ISO สูง ใช้แสงสว่างจากจอโทรศัพท์ช่วยเก็บรายละเอียดของห้องพัก เป็นคืนที่พระจันทร์เต็มดวงแสงจันทร์ จึงช่วยเก็บรายละเอียดของทิวเขาด้านนอกได้ หากท้องฟ้าเปิดสามารถมองเห็นดาวได้เต็มท้องฟ้า และเห็นทางช้างเผือกได้อย่างไม่ยากเย็น เพราะในบริเวณนั้น มืดสนิทไม่มีแสงรบกวน นอกจากเห็นภาพภายในแพที่พักมองออกมาข้างนอกแล้ว ผมยังเก็บภาพตอนรุ่งเช้าที่ท้องฟ้าเริ่มสว่าง ได้ภาพที่อยู่ในช่วง บลูอาว Blue Hour ได้อย่างน่าประทับใจไม่แพ้กันอีกด้วย

กฎของอ่างเก็บน้ำหุบเขาวงที่มีข้อบังคับ ให้เกิดความเป็นระเบียบ และมีความปลอดภัยต่อการท่องเที่ยว ที่ควรทราบ มีดังนี้

  1. สามารถประกอบอาหารได้ แต่ต้องไม่ทำให้สถานที่เสียหาย
  2. สำหรับผู้ที่ไม่ค้างคืน สามารถเข้าชมได้ตั้งแต่เช้า และเดินทางออกก่อน 6 โมงเย็น (เรื่องความปลอดภัยในการเดินทาง)
  3. รถที่จะเข้าอ่างเก็บน้ำหุบเขาวง จะต้องไปรับบัตรที่ป้อมหน้าวัดพุน้ำร้อนที่เดียวเท่านั้น หากไม่มีบัตรจะไม่สามารถเข้าได้
  4. อ่างเก็บน้ำหุบเขาวงจะรับจำนวนรถยนต์ได้แค่ 150 คัน/คืน
  5. รถยนต์ คันละ 20 บาท รถจักรยานยนต์ คันละ 10 บาท
  6. ตกปลาได้ตามสะดวก
  7. สามารถขับรถเก๋งเข้าไปได้ แต่ช่วงสุดท้าย ก่อนเข้าถึงอ่างเก็บน้ำหุบเขาวง เป็นถนนลูกรัง บดอัดแน่น รถเก๋งธรรมดาทั่วไปสามารถวิ่งได้ช้าๆ ส่วนรถกระบะไม่มีปัญหารายละเอียดที่พักและระเบียบเข้าชมอ่างเก็บน้ำหุบเขาวง
  8. แพ หลังละ 400 บาท (ไม่รวมอาหาร)
  9. เต็นท์ใน หลังละ 150 บาท (ไม่รวมอาหาร) ต้องกางเต็นท์เอง
  10. เต็นท์นอก หลังละ 100 บาท (ไม่รวมอาหาร)
  11. ราคาอาหารชุดละ 300 บาท เป็นชุดขันโตก มีปลานิลเผา ต้มยำไก่ น้ำพริก – ผัก และข้าวสวย 1 หม้อ รับประทานได้ประมาณ 2-3 ท่าน

สอบถามรายละเอียด และจองที่พักได้ที่ คุณแพม โทร. 09-2493-3833 เวลา 08.30-16.30 น.

ปางอุ๋งสุพรรณ หรือ อ่างเก็บน้ำหุบเขาวง ปิดให้ธรรมชาติได้ฟื้นตัวมานานหลายเดือน ขณะนี้ได้เปิดให้นักท่องเที่ยวทั่วไปได้เข้าไปได้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2561 สามารถเข้าไปพักแรมเที่ยวชมธรรมชาติได้ สำหรับนักถ่ายภาพควรเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม สิ่งสำคัญคือ แบตเตอรี่สำหรับกล้อง ที่ควรมีสำรองไว้หลายก้อน หากต้องพักหลายคืน การเปิดหน้ากล้องช้าเพื่อถ่ายภาพวิว ถ่ายภาพดาว ภาพทางช้างเผือก หรือการถ่ายวีดิโอ จะทำให้แบตเตอรี่หมดเร็วควรคำนึงถึงจุดนี้ด้วยนะครับ