เรื่อง+ภาพ : ApochTophy’S

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine ฉบับ 244/2018 January

อุปสรรคหนึ่งของการถ่ายภาพที่นักถ่ายภาพหลายคนต้องเคยพบเจอก็คือ การต้องบันทึกภาพในสภาพแสงที่น้อย ที่เรียกว่าอุปสรรคนั้นก็เพราะว่าเมื่อสภาพแสงในการถ่ายภาพมีไม่มากนัก ความเร็วชัตเตอร์ที่จะใช้ได้ก็จะลดน้อยลง รูรับแสงที่ต้องเปิดกว้างมากขึ้น อาจส่งผลถึงช่วงความชัดของภาพ และปัญหาอื่นๆ อีกมากมายหลายอย่าง ที่ทำให้บางคนเลือกที่จะเก็บกล้องทันทีเมื่อแสงอาทิตย์หมดลงแล้ว

ระบบการถ่ายภาพของ กล้องถ่ายภาพสมัยก่อน ทั้งระบบฟิล์ม และดิจิตอล เมื่อนำมาถ่ายภาพในสภาพแสงน้อยนั้น โอกาสที่จะได้ภาพที่มีคุณภาพเป็นไปได้ยาก แต่มาในปัจจุบันนี้ เราสามารถถ่ายภาพได้แม้ในสภาพแสงที่น้อยมาก ด้วยเทคโนโลยีและซอฟแวร์ที่อยู่ในกล้อง ทำให้สามารถบันทึกรายละเอียดต่างๆ ในภาพได้อย่างชัดเจนมากขึ้น และนั่นเป็นโอกาสอันดีที่ในยุคนี้ เราจะสามารถเก็บภาพถ่ายในอีกรูปแบบ อีกอารมณ์หนึ่ง จากในสถานการณ์ที่สภาพแสงน้อยมากๆ ซึ่งกล้องในปัจจุบันทำงานได้ดีมาก แต่ช่างภาพหลายคนอาจจะยังกังวลอยู่บ้างเมื่อต้องตกอยู่ในสถานการณ์ดังกล่าว

เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาขึ้น การถ่ายภาพในสภาพแสงน้อยทำได้ง่ายขึ้น แต่ก็ใช่ว่าการถ่ายภาพในที่ที่มีแสงน้อยๆ จะเพิ่งเป็นที่นิยมในยุคนี้ ในสมัยก่อนนั้น ช่างภาพหลายคนก็ชื่นชอบที่จะบันทึกภาพในสภาพแสงน้อยๆ ด้วยเช่นกัน และแทบไม่น่าเชื่อว่า สภาพแสงที่น้อยนิดนั้น ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการถ่ายภาพของพวกเขาเหล่านั้นเลย กลับกัน ภาพถ่ายที่สวยงามได้ถูกสร้างสรรค์ขึ้นจากสภาพแสงอันน้อยนิดเหล่านั้น และน่าแปลกใจที่พวกเขาเหล่านั้นบันทึกภาพออกมาได้ดี ทีนี้เรามาดูกันว่า ในสภาพแสงที่น้อยนั้นเราสามารถสร้างสรรค์อะไรได้บ้าง

Hidden

ในสภาพแสงที่น้อยมาก วัตถุต่างๆ จะได้รับแสงจากแหล่งกำเนิดแสงที่เบาบางหรือน้อยอยู่แล้ว ทำให้สิ่งต่างๆ รอบข้างที่เคยรบกวนในภาพหายไปได้ จากการวัดแสงที่ถูกวิธี และจากการที่เราใช้แสงอันน้อยนิดนั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด นั่นคือการปล่อยให้ส่วนอื่นๆ ในภาพ จมหายไปกับความมืด ภาพในลักษณะนี้การใช้ระบบวัดแสงเฉพาะจุด วัดไปที่แบบ หรือวัตถุที่เราจะถ่ายโดยตรง ที่สำคัญคือวัตถุที่เราจะถ่ายต้องได้รับแสง หรือมีค่าแสงที่แตกต่างกับส่วนอื่นๆ เช่นไฟที่ส่องลงมาตามทางเดิน หรือแสงที่ลอดเข้ามาทางช่องหน้าต่างเล็กๆ ในห้อง

Pan

ในเมื่อสภาพแสงที่น้อย จะส่งผลต่อความเร็วชัตเตอร์ที่ได้ ซึ่งค่อนข้างต่ำมาก การถ่ายภาพตามปกติจะทำให้แบบที่กำลังเคลื่อนที่ในภาพเกิดการสั่นไหว พร่ามัวได้ การเคลื่อนกล้องไปในทิศทางเดียวกับวัตถุหรือแบบที่กำลังเคลื่อนที่ (การแพน) เป็นเทคนิคที่สามารถนำมาใช้ได้อย่างดี ซึ่งจะเสริมให้ภาพแสดงถึงการเคลื่อนไหวของสิ่งที่เรากำลังถ่ายอยู่ด้วย ทำให้ได้ภาพที่มี Movement และบรรยากาศของการเคลื่อนที่ไม่หยุดนิ่ง

Blur

ภาพหลายภาพ อาจไม่ต้องคมชัด ไม่ต้องชัดเจน ภาพที่มีความพร่ามัว หรือความเบลอในบางครั้งถ้ามีความสวยงามตามหลักองค์ประกอบศิลปะ ก็เกิดเป็นภาพนามธรรมที่ได้จากการใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำ ในที่ที่มีสภาพแสงน้อยภาพที่พร่ามัว สั่นไหว อาจสร้างความน่าสนใจได้ง่ายๆ ถ้าเราเลือกวัตถุที่จะถ่ายได้น่าสนใจพอ และที่สำคัญเราเข้าใจถึงทิศทางของการเคลื่อนที่ของสิ่งเหล่านั้น

Background and light

ฉากหลังที่เป็นแสงไฟจะเกิดขึ้นได้และมองเห็นชัดเจนจากความมืดมิดของค่ำคืน เราสามารถเลือกหาแสงไฟต่างๆ มาใช้เป็นฉากหลังของภาพให้ภาพน่าสนใจเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งโดยมาก แสงไฟต่างๆ ในเวลากลางคืนให้สีสันที่สะดุดตาอยู่แล้ว และเมื่อเราใช้รูรับแสงที่กว้าง เพื่อความต้องการความเร็วชัตเตอร์ที่สูงขึ้น กลับกลายเป็นผลดีของการอาศัยความเบลอของฉากหลัง ที่เรามองหาแสงไฟสวยๆ มาใช้เสริมในภาพของเราได้เต็มที่

Color

เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า แหล่งกำเนิดแสงที่ได้จากภาพถ่ายในสภาพแสงน้อยอย่างเวลาค่ำคืนนั้น คงหนีไม่พ้นแสงจากหลอดไฟทังสเตน ที่จะให้สีอมส้มๆ และสีอมส้มที่ได้จากแสงไฟเหล่านี้เมื่อไปตกลงบนตัวแบบ หรือวัตถุที่เราจะถ่ายภาพ ก็ทำให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกที่อบอุ่น ตามแบบฉบับของ Warm Tone ไฟแบบอื่นๆ ก็ให้สีสันที่แตกต่างกันออกไปตามแต่ล่ะประเภทไฟนั้นๆ ทำให้เราสามารถสร้างสรรค์สีสันจากแสงไฟได้ไม่สิ้นสุด

เทคนิคการถ่ายภาพ

สำหรับการถ่ายภาพในสภาพแสงน้อยให้ได้ผลดี และให้ได้ผลของภาพตรงตามความต้องการของเราแล้วนั้น เรามีเทคนิคง่ายๆ ไม่กี่ข้อที่ควรปฏิบัติดังต่อไปนี้ครับ

เพิ่มค่า ISO ในกล้องให้สูงขึ้น

ในการถ่ายภาพในสภาพแสงน้อย ถ้าไม่นับการใช้ขาตั้งกล้อง และไฟแฟลชแล้วนั้น การเพิ่มค่า ISO ในกล้องให้สูงขึ้น เป็นทางเลือกที่เราต้องทำ กล้องรุ่นใหม่ๆ จะได้เปรียบในจุดนี้ คือสามารถใช้ค่า ISO ที่สูงมากๆ ได้ โดยที่ภาพยังไม่มีสัญญาณรบกวนมากนัก การเลือกถ่ายภาพให้ได้ค่าบันทึกแสงที่พอดีตามต้องการทำให้ได้คุณภาพของภาพที่ดีกว่าการบันทึกแสงให้มืดแล้วไปปรับให้ภาพสว่างขึ้นภายหลัง ซึ่งโอกาสที่ภาพจะเต็มไปด้วยสัญญาณรบกวนก็จะมากขึ้นด้วย

ใช้เลนส์ที่มีรูรับแสงกว้าง

การใช้เลนส์รูรับแสง หรือ F-stop ที่กว้าง จะทำให้เราได้ค่าความเร็วชัตเตอร์ที่สูงพอที่จะถือกล้องถ่ายภาพได้ โดยที่ไม่ต้องเพิ่มค่า ISO มากนัก เลนส์ที่มีค่ารูรับแสงกว้างสุด เช่น 1.4, 1.8 อย่าง เลนส์ฟิก 50 มิล หรือ 35 มิล จะเหมาะมากสำหรับการถ่ายภาพในสภาพแสงน้อย เพราะเลนส์พวกนี้จะไม่กินแสง เหมือนเลนส์ซูม การเสียแสงมีน้อย ทำให้โอกาสถ่ายภาพง่ายขึ้นมาก ความได้เปรียบอีกข้อก็คือขนาดเลนส์ที่เล็ก เบา ช่วยให้ถ่ายภาพได้สะดวกมากยิ่งขึ้น

วัดแสงเฉพาะจุด

เมื่อรอบๆ ข้างนั้น มืดลง ระบบวัดแสงในตัวกล้องแบบแบ่งพื้นที่ มักจะชดเชยแสงอัตโนมัติให้เราไปในทาง + (โอเวอร์) สว่างกว่าปกติ เล็กน้อย เราอาจจะต้องอาศัยการชดเชยแสงเข้ามาช่วย หรือใช้การวัดแสงเฉพาะจุดที่ตัววัตถุที่เราจะถ่าย จะทำให้ได้ค่าแสงที่แม่นยำมากกว่า สังเกตได้ว่าหลายครั้งที่เราวัดแสงแล้วได้ความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำ พอกดถ่ายภาพมาแล้ว เห็นว่าภาพที่ได้สว่างกว่าความเป็นจริงเท่าที่ควร ทั้งที่จริงๆ แล้วเราควรจะได้ค่าความเร็วชัตเตอร์ที่สูงกว่านี้ได้ จากการวัดแสงและชดเชยแสงที่แม่นยำนั่นเอง

ถ่ายเป็น RAW file  

ต้องบอกว่าทุกวันนี้ RAW file และซอฟแวร์จัดการ RAW file นั้นพัฒนาขึ้นมาก ในการปรับแก้ไขภาพต่างๆ ทำได้กว้างและยืดหยุ่นมากขึ้น บางภาพผมสามารถถ่ายภาพมาอันเดอร์มากๆ และยังสามารถดึงภาพให้สว่างขึ้นมาได้อีกหลายสตอปในคุณภาพที่รับได้ ซึ่งสิ่งที่ได้มาคือ ความเร็วชัตเตอร์ที่ไวพอที่จะหยุดการเคลื่อนไหว และรูรับแสงปานกลางที่ครอบคลุมระยะชัดเพียงพอ

การถ่ายภาพในสภาพแสงน้อยนี้ นอกจากเราจะใช้ในการถ่ายภาพยามค่ำคืนแล้ว เรายังนำไปใช้กับการถ่ายภาพแบบอื่น เช่น ในห้องที่ค่อนข้างมืดอย่างห้องแสดงงาน การแสดงบนเวที หรือในวันที่สภาพอากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝน และช่วงนี้เข้าหน้าหนาวแล้ว ท้องฟ้ามักจะมืดเร็ว บางครั้งการเก็บกล้องถ่ายภาพเร็วเกินไปก็อาจจะทำให้เสียโอกาสในการได้ภาพใหม่ๆ ก็ได้นะครับ แต่ยังไงแล้ว การเดินถ่ายภาพคนเดียวยามค่ำคืน หรือการไปในที่มืดสลัว ช่างภาพเองก็ต้องระวังเรื่องความปลอดภัยไว้บ้างนะครับเดี๋ยวจะหาว่าผมไม่เตือน…