เรื่อง+ภาพ : ApochTophy’s

ในการถ่ายภาพเรามีเทคนิคมากมายที่นำมาใช้เพื่อให้ได้ภาพที่สวยงาม เทคนิคช่วยทำให้ภาพที่ได้เป็นมากกว่าที่ตาเรามองเห็น ซึ่งสามารถทำได้จากหลายปัจจัยด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกหน้ากล้อง หรือการเลือกชัตเตอร์สปีดเราสามารถควบคุมชัตเตอร์สปีดเพื่อให้ได้ภาพที่หลากหลาย ชัตเตอร์สปีดบางค่าส่งผลต่อภาพที่แตกต่างกันออกไป ในวันนี้เราจะมาพูดกันถึงการใช้ชัตเตอร์สปีดที่ต่ำๆ หรือ Slow speed

การใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำในการถ่ายภาพนั้น เราสามารถสร้างสรรค์ภาพได้หลายแบบ ซึ่งภาพที่ถ่ายด้วยความเร็วชัตเตอร์ต่ำจะได้ผลของภาพที่ต่างออกไปจากการมองเห็นด้วยสายตาปกติ ด้วยว่าสิ่งที่มีการเคลื่อนไหวในภาพจะพร่าเบลอไปในทิศทางของการเคลื่อนที่นั้นๆ แสงไฟที่เคลื่อนที่ในภาพจะกลายเป็นเส้นยาวตามช่วงเวลาของความเร็วชัตเตอร์ที่เราเลือกใช้ เราสามารถใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำมาสร้างสรรค์ภาพได้หลายแบบตามที่ผมนำมาเสนอต่อไปนี้

 

Long Exposures

ช่วงเวลาที่เปลี่ยนแปลงการที่เราจะบันทึกภาพนั้นไว้ได้โดยที่ยังให้มีความรู้สึกในเรื่องของการเคลื่อนที่ของเวลาดังนั้นการเปิดค่า exposures เป็นระยะเวลานาน หรือการใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำนั้น จะเป็นเทคนิคที่เรานำมาใช้เพื่อทำให้เห็นถึงการเคลื่อนไหวของสิ่งต่างๆ ในภาพ เมื่อเราถ่ายภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์ต่ำ สิ่งที่เคลื่อนไหวในภาพก็จะพร่ามัวไปในลักษณะและทิศทางของการเคลื่อนไหวนั้นๆ เช่นการถ่ายภาพเส้นไฟของรถที่กำลังวิ่ง การถ่ายภาพเส้นของพลุไฟที่กำลังแตกตัว

Movement

เมื่อเราใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำในการถ่ายภาพ ภาพที่เราได้จะเป็นภาพที่แสดงลักษณะของการเคลื่อนไหว คือมีความพร่ามัวไปตามทิศทางของการเคลื่อนไหวนั้นแล้ว แต่ในบางภาพ การใช้เพียงความเร็วชัตเตอร์ต่ำเพียงอย่างเดียว ก็อาจจะทำให้ภาพของท่านเป็น “ภาพไหว” แทนที่จะเป็น “ภาพเคลื่อนไหว” อย่างที่ต้องการได้ เพราะปัจจัยอีกตัวหนึ่งที่สำคัญก็คือความนิ่งของกล้องถ่ายภาพนั่นเอง  ดังนั้นถ้าเราไม่ได้ใช้ขาตั้งกล้องในการถ่ายภาพสิ่งสำคัญที่เราต้องทำต่อจากนี้ก็คือการเคลื่อนไหวกล้องถ่ายภาพของเรา ตามลักษณะการเคลื่อนไหวของวัตถุที่เราจะถ่ายไปด้วย เพื่อให้มีส่วนที่ชัดเจนภายในภาพเพื่อแสดงให้เห็นถึงลักษณะและรายละเอียดบางอย่าง ภาพที่ได้ก็จะมีทั้งส่วนที่ชัดและส่วนที่เคลื่อนไหว เกิดความรู้สึกและอารมณ์ร่วมไปในภาพได้ ที่เรียกกันว่า ภาพเคลื่อนไหว

Evening & Night

ช่วงเวลาหัวค่ำเป็นช่วงเวลาที่ท้องฟ้ากำลังเปลี่ยนสี มักจะมีสีฟ้าและน้ำเงินเข้ม ไปจนกระทั่งถึงช่วงเวลากลางคืนที่ท้องฟ้าจะมืดดำสนิท ประกอบกับเป็นช่วงเวลาที่แสงไฟตามที่ต่างๆ ตามอาคารบ้านเรือนเริ่มเปิดไฟขึ้น ทำให้เป็นช่วงเวลาที่เราจะใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำในการบันทึกแสงไฟและสีสันของท้องฟ้าเข้าด้วยกันได้สวยงาม

The Star

การถ่ายภาพการเคลื่อนที่ของดาว ที่เป็นเส้นยาวๆ นั้น แต่เดิมในการถ่ายภาพระบบฟิล์มเราใช้การเปิดชัตเตอร์เป็นระยะเวลานานๆ เพื่อบันทึกการเคลื่อนที่ของดาว แต่มาในยุคดิจิตอลนี้ถ้าเราใช้การถ่ายภาพแบบเดิมนั้นเซ็นเซอร์ของกล้องจะเกิดความร้อนขึ้น และแบตเตอรี่กล้องก็จะหมดเร็วกว่าปกติเพื่อป้องกันความเสียหายของเซ็นเซอร์กล้อง และเป็นการประหยัดพลังงานของแบตตเตอรี่เราจึงใช้การถ่ายภาพหลายๆ ภาพและนำมารวมกันด้วยซอฟแวร์ เป็นวิธีที่เราเรียกกันว่าการถ่ายภาพดาวแบบ Stars Trails

การถ่ายภาพดาวแบบ Stars Trails เป็นวิธีการถ่ายภาพต่อเนื่องเป็นจำนวนมากๆ ให้เป็นเส้นยาว อย่างที่บอกไปแต่แรกในเวลา 1 ชั่วโมง ดาวจะเคลื่อนที่ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 15 องศา ซึ่งตำแหน่งและทิศทางที่เป็นที่นิยมการถ่ายกันมากที่สุดคือ การถ่ายภาพเส้นดาวทางทิศเหนือ เนื่องจากดาวดวงอื่นๆ จะเคลื่อนที่หมุนรอบดาวเหนือเป็นวงกลม

การเคลื่อนที่ของเส้นดาวจะต่างกันไป บางภาพดาวจะเคลื่อนเป็นวงกลม บางภาพเป็นแนวขวาง เฉียงไปทางขวาบ้าง ซ้ายบ้าง ทั้งนี้เนื่องจากโลกเราหมุนในลักษณะรอบแกนของตัวเอง ซึ่งแกนที่ว่าก็คือขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้นั้นเอง ดังนั้นเมื่อเราหันหน้ากล้องไปทางทิศเหนือหรือดาวเหนือ ซึ่งเป็นแนวแกนของโลก เราก็จะได้ภาพเส้นแสงดาวเคลื่อนที่หมุนวงรอบๆ ดาวเหนือ แต่ถ้าหากเราหันหน้ากล้องไปทางทิศตะวันออกหรือทิศตะวันตก เราก็จะได้ภาพเส้นแสงดาวเคลื่อนที่เป็นแนวขวาง

การใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ (Slow Shutter) ในการถ่ายภาพอย่างที่ยกตัวอย่างไปเป็นเทคนิคการสร้างสรรค์รูปแบบหนึ่ง เราสามารถสร้างสรรค์ภาพนอกเหนือไปจากนี้ได้อีกขึ้นอยู่กับจินตนาการของเรา ซึ่งในเรื่องของความเร็วชัตเตอร์ต่ำนั้นขอให้เราเข้าใจว่าเป็นการเปิดให้กล้องบันทึกแสงในระยะเวลาที่ยาวนาน ดังนั้นสิ่งที่เราจะถ่ายจึงควรมีการเปลี่ยนแปลงด้านเวลา ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาของสถานที่ ช่วงเวลาของวัตถุ (การเคลื่อนที่) และสุดท้ายการจัดวางองค์ประกอบภาพเพื่อกำหนดทิศทางของการเคลื่อนที่นั้นๆ ให้เป็นไปตามที่เราต้องการครับ…