เรื่อง+ภาพ : ศุภฤกษ์ นฤเบศร์ไกรสีห์

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine ฉบับ 208/2015 January

บทที่ 3 จอ LCD, Monitor และ Printer จงอย่าปักใจเชื่อใน Output

การถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิตอลเป็นเรื่องง่ายมากเมื่อเทียบกับกล้องฟิล์มในอดีต หากใช้กล้องฟิล์ม ทุกครั้งที่ถ่ายภาพแต่ละภาพ เราไม่สามารถบอกได้เลยว่าภาพทีได้นั้นจะเป็นอย่างไรกันแน่ พอดี มืดไป หรือสว่างเกินไป ยกเว้นผู้ที่เชียวชาญในการวัดแสงคุมโทนสีทีจะบอกได้อย่างแม่นยำว่าภาพที่ได้จะเป็นอย่างไร จำเป็นจะต้องนำฟิล์มนั้นไปล้าง อัด ขยายออกมาเสียก่อนจึงจะเห็นว่าภาพใช้ได้หรือไม่ ต้องแก้ไขอย่างไร ซึ่งนั้นก็สายเกินไปเสียแล้ว   เราไม่ได้อยู่ในสถานที่และจังหวะที่เราจะแก้ตัวได้ทันทีอีกแล้ว การฝึกถ่ายภาพในอดีตจึงช้าและยากลำบาก แต่ไม่เกินความพยายาม

แล้วกับกล้องดิจิตอลละ เมื่อเรายกกล้องขึ้นเล็ง วัดแสง แล้วถ่ายภาพ ในเวลาเพียงหนึ่งหรือสองวินาทีให้หลัง ภาพที่ถ่ายได้จะปรากฏบนจอ LCD หลังกล้องให้เห็น เราสามารถดูภาพได้ว่ามันสว่างเกินไป มืดเกินไป ต้องถ่ายใหม่โดยการแก้ไขอย่างไรได้ทันที นั้นเป็นข้อดีอย่างมหาศาลของกล้องดิจิตอล แต่ก็เป็นข้อเสียที่ทำให้นักถ่ายภาพมักจะไม่จดจำว่า ลักษณะภาพอย่างไรถ่ายออกมาแล้วจะเสีย และต้องแก้ไขอย่างไร นักถ่ายภาพที่ฝึกด้วยกล้องดิจิตอลระยะแรกจึงมักมีนิสัย ถ่ายภาพ แล้วดู ลบ แก้ใหม่อีกภาพ เป็นพฤติกรรมมาตรฐาน ถ่าย ดู ลบ ถ่าย ดู ลบ ซ้ำไปซ้ำมาเช่นนี้เสมอ ถ่ายภาพอยู่นาน แต่กลับได้ภาพไม่กี่ภาพเท่านั้น พฤติกรรมเช่นนี้สามารถทำได้ไม่มีปัญหาหากสิ่งที่ถ่ายภาพเป็นวัตถุนิ่ง แต่ถ้าเป็นวัตถุเคลื่อนไหวหรือแสงเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การแก้ไขในครั้งต่อไปหมายถึงจังหวะที่ผ่านไปเมื่อสักครู่ไม่สามารถเรียกกลับมาได้แล้ว นั้นอาจจะเป็นจังหวะทีให้ภาพดีที่สุดในวันนี้ หรือปีนี้ หรือในรอบหลายปีก็เป็นได้

แต่ถ้าเราเรียนรู้และจดจำ ขั้นตอนการถ่ายภาพจะเปลี่ยนไปคือ มองภาพ ปรับแก้ ถ่าย ครั้งเดียว อยู่ จบ ไม่เสียจังหวะ ถ้ามีโอกาสได้ออกไปถ่ายภาพกับช่างภาพที่เก่งจริงแบบตัวจริงเสียงจริง จะพบว่าช่างภาพพวกนี้จะถ่ายภาพโดยไม่มองจอ LCD บ่อยๆ เขามักจะถ่ายภาพเป็นชุดต่อเนื่องยาวแบบไม่เสียงจังหวะ พอมีช่วงพักถึงจะมามองจอ LCD ว่าภาพรวมเป็นอย่างไร โอกาสจะปรับแก้น้อยมาก เพราะพวกนี้ปรับแก้ตั้งแต่ก่อนจะกดชัตเตอร์แล้ว และมักจะได้ภาพเยอะมากๆ การ์ดความจุสูงไม่นานก็เต็มแล้ว ไม่ได้เพราะเขาถ่ายแก้ไปแก้มา แต่จะถ่ายเอาไว้หลายๆ จังหวะมากกว่า

นอกจากจอ LCD จะส่งผลทางอ้อมให้นักถ่ายภาพส่วยใหญ่ไม่เรียนรู้แล้ว นักถ่ายภาพยังเข้าใจผิดว่าภาพบนจอ LCD นั้นเป็นภาพที่เราจะได้แบบนั้นจริงๆ ผมอยากให้เราลองเล่นอะไรกันสักหน่อย

ตาจะมองเห็นภาพบนจอ LCD ไม่คงที่ ขึ้นกับสภาพแวดล้อม การดูแสงและสีของภาพจากจอ LCD จึงเป็นเรื่องอันตรายอย่างยิ่ง ควรดูจากค่า Histogram

จอ LCD หลังกล้อง เอาไว้ดูความเรียบร้อยของภาพ ดูข้อมูล ไม่ได้เพื่อตัดสินว่าแสงสีของภาพใช้ได้หรือเปล่า

การถ่ายภาพเคลื่อนไหว ภาพการแข่งขัน ต้องถ่ายภาพต่อเนื่องอย่างเดียว ไม่สามารถถ่ายภาพไปดูจอ LCD ไปได้เลย การวัดแสงให้แม่นยำเป็นเรื่องจำเป็นมาก หากพลาดจะพลาดทั้งหมด ใช้ได้ก็จะใช้ได้ทั้งหมดเช่นกัน

ภาพดิจิตอลที่เราเห็นนั้น แท้จริงเป็นเพียงข้อมูลเปิดปิด ที่ต้องผ่านการแปลงข้อมูลจากดิจิตอลเป็นภาพที่มองเห็นได้ ตัวแปลงข้อมูลและตัวแสดงผลจึงมีผลโดยตรงต่อภาพถ่าย แย่ตรงที่ทั้งหมดไม่ได้อยู่บนพื้นฐานเดียวกัน

ระบบ Color Management System เป็นเรื่องที่มืออาชีพตัวจริงทุกคนต้องทำ CMS ไม่ได้จบอยู่ที่การซื้อจอเทพอย่าง Apple, Dell Ultrasharp, EIZO แต่ต้องเข้าใจกระบวนการและสามารถจัดการได้ตั้งแต่ต้นจนจบ จึงเรียกว่า มืออาชีพ Professional Photographer ตัวจริงเสียงจริง

บททดลองแรก ผมอยากให้ลองไปอยู่ในห้องที่มีแสงสว่างพอดี ถ้าเป็นห้องทำงานก็เปิดไฟให้หมดทุกดวง แล้วเปิดภาพจากกล้องมาสักภาพ ลองดูภาพนั้นซิว่าเป็นอย่างไร ต่อมาปิดไฟในห้องทั้งหมด แล้วดูภาพ จะเห็นภาพภาพเดียวกันนั้น เราเห็นภาพแตกต่างออกไป แล้วไปอยู่กลางแจ้ง แดดจ้าๆ มองภาพนั้นอีกที เกิดอะไรขึ้น

เราจะพบว่าภาพที่เรามองเห็นในห้องที่เปิดไฟสว่างนั้น มีสีสันดี สวยงามปกติ พอปิดไฟทั้งหมด ภาพดูเหมือนจะสว่างขึ้น และสีสันจัดจ้านขึ้น ถ้าถ่ายให้มืดลงกว่านี้สักนิด สีก็จะเข้มอีกหน่อย น่าจะกำลังดี พอไปอยู่กลางแจ้ง จะเห็นว่าภาพสีซีด และมืดเกินไป น่าจะถ่ายภาพให้สว่างกว่านั้นอีกสักนิด ทั้งหมดเป็นภาพเดียวกัน จากกล้องตัวเดียวกัน แต่การรับรู้ของตาขึ้นกับปริมาณแสงภายนอกด้วย เวลาอยู่ในที่มืดจะเห็นจอภาพสว่าง สีจัด พออยู่ในที่สว่าง จอจะดูมืด สีซีด นั้นหมายถึงว่า หากเราตัดสินภาพจากจอ LCD แล้วยึดจอ LCD เป็นเกณฑ์ว่าเป็นภาพที่ถูกต้อง จะเกิดปรากฏว่า

  1. เมื่อเราถ่ายภาพในที่สว่าง มีแนวโน้มว่าเราจะปรับกล้องให้ภาพสว่างกว่าปกติ เพื่อให้ภาพที่เห็นในจอ LCD ดูพอดี แต่ภาพที่ได้จริงๆ นั้นจะสว่างไป
  2. เมื่อเราถ่ายภาพในที่มืด มีแนวโน้มว่าเราจะปรับกล้องให้ภาพมืดกว่าปกติ เพื่อให้ภาพที่เห็นในจอ LCD ดูพอดี แต่ภาพที่ได้จริงๆ นั้นจะมืดไป

นั้นสรุปได้ในเบื้องต้นว่า เราไม่ควรตัดสินความสว่างของภาพจากจอ LCD หลังกล้อง

บททดลองที่ 2 ผมอยากให้คุณเอาภาพจากกล้องโหลดเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ แล้วดูภาพนั้นผ่านจอคอมพิวเตอร์ จะเห็นว่า ภาพที่ได้จากจอคอมพิวเตอร์ไม่ได้ตรงกับภาพที่ปรากฏในจอคอมพิวเตอร์เลย ตกลงอะไรเพี้ยนอะไรถูกต้องกันแน่

ลองดูภาพผ่าน ACDSee กับผ่านโปรแกรม Photoshop ก็จะเห็นว่า ภาพมีสีสันที่แตกต่างกันอยู่บ้าง โปรแกรมใดถูกหรือผิดกันแน่ ลองนำภาพไปดูที่เครื่องคอมตัวอื่นๆ คุณจะเห็นได้ชัดเจนเลยว่า ภาพที่ได้นั้นไม่ตรงกันเลยสักเครื่อง แล้วที่ถูกต้องอยู่ตรงไหน ลองเอาภาพไปดูผ่านกล้องตัวอื่นบ้าง จะเห็นว่า บางกล้องให้ภาพที่จอ LCD ซีดมาก ในขณะที่บางกล้องให้ภาพสีจัดจ้านจนเจ้าของภาพตกใจ

บททดลองที่ 3 ลองนำภาพไปพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ยี่ห้อต่างๆ กันจากโปรแกรมเดียวกันโดยไม่ต้องปรับสี จะเห็นได้ว่า ภาพเดียวกันออกมาสีสันไม่เหมือนกัน แม้กระทั่งเครื่องพิมพ์เดียวกัน เปลี่ยนยี่ห้อหมึกกับชนิดกระดาษ  สีสันออกมาไม่ได้ตรงกันด้วยเช่นกัน

ที่เป็นเช่นนี้เพราะภาพดิจิตอลแท้จริงแล้วเป็นข้อมูลเปิดปิดหรือ 01 อันเป็นฐานข้อมูลดิจิตอล  มิได้เป็นตัวภาพเช่นฟิล์ม การแสดงภาพเป็นภาพถ่ายได้นั้นต้องผ่าน Output เช่น จอมอนิเตอร์ เครื่องพิมพ์ และโปรแกรมที่ควบคุม Output เช่น โปรแกรม Photoshop, ACDSee, Lightroom, รวมทั้ง Driver ของอุปกรณ์นั้น ซึ่งทั้งหมดไม่ได้เป็นมาตรฐานเดียวกัน จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นภาพไม่ตรงกันในแต่ละอุปกรณ์

ถึงตรงนี้คุณอาจจะคิดว่า โอ๊ย ปวดหัว ไม่เอาล่ะ เลิกดีกว่า นี่คือเหตุผลว่า ทำไมหาคนที่เข้าใจเรื่องการวัดแสงจริงๆ ได้น้อยคนนัก เพราะคนที่ยอมทำความเข้าใจกับมันมีน้อยมาก จริงๆ เรื่องตรงนี้นั้นง่ายๆ มันก็แค่ปรับอุปกรณ์แต่ละอย่างให้มันเข้าสู่มาตรฐาน ทุกอย่างมีมาตรฐานของมัน   เหมือนของที่กองรวมกันไว้  ทุกอย่างใช้ได้ เป็นของดี  ถ้าเราไม่แยกชนิดมันก็สุมๆ กันไม่ต่างจากกองขยะ พอเราแยกชนิดไว้บนชั้นวางของ มันก็ไม่มีอะไรปวดหัว

ผมยกตัวอย่างขึ้นมาเพื่อบอกว่า ภาพที่จอ LCD ใช่ว่าจะเชื่อถือได้ จอ LCD หลังกล้องมีไว้เพื่อให้เราดูภาพคร่าวๆ เท่านั้น ว่าภาพของเรามีอะไรแปลกปลอมเข้ามาหรือไม่ สว่างเกินไป มืดเกินไปจนยอมรับไม่ได้หรือเปล่า เอียงซ้าย เอียงขวา ฯลฯ ส่วนหน้าที่หลักของจอ LCD คือ การแสดงข้อมูลสีของรูปถ่ายขึ้นกันอุปกรณ์ที่แสดงผล สภาพแสงแวดล้อม และผู้สังเกตภาพด้วย จึงบอกได้ยากมากๆ ว่า ภาพที่ถูกต้องคืออะไร นักถ่ายภาพเก่งๆ จะไม่ใช้วิธีการดูภาพที่จอ LCD เพียงอย่างเดียว แต่จะดูกราฟ Histogram ประกอบไปด้วย ซึ่งกราฟนี้จะเป็นตัวบอกว่า ภาพของเรามีความสว่างอย่างไร ไม่ว่าจะย้ายภาพไปที่กล้องตัวใด อุปกรณ์ตัวใด ก็จะแสดงกราฟแบบเดียวกันเสมอ ส่วนการควบคุมสีของจอและอุปกรณ์พิมพ์ภาพให้ตรงกันทั้งหมดนั้น สามารถทำได้ด้วยการใช้ Color Profile ซึ่งก็ไม่ได้ยากอะไรอีกนั่นละ