เรื่อง+ภาพ : ศุภฤกษ์ นฤเบศร์ไกรสีห์

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine ฉบับ 207/2014 Decemter

บทที่ 2 ตาของมนุษย์กับกล้องดิจิตอล

ตาของคนเรามีความสามารถในการแยกแยะรายละเอียดต่ำกว่าอุปกรณ์ถ่ายภาพมากมาย แต่มีความสามารถในการมองเห็นรายละเอียดให้ปรากฏได้อย่างครบถ้วนในสภาพแสงที่มีความแตกต่างสูงมากๆ ได้อย่างที่อุปกรณ์ถ่ายภาพใดๆ ก็ไม่สามารถจะเลียนแบบได้ ถ้าเราอยากรู้ว่าความสามารถนี้เป็นอย่างไร

เราสามารถทดสอบได้ง่ายๆ โดยการใช้กล้องถ่ายภาพที่เรามีอยู่ ถ่ายภาพมุมกว้างให้ติดป้ายหรืออะไรก็ได้ที่มีตัวอักษรลองสังเกตดูว่า เราแทบจะอ่านตัวอักษรนั้นไม่ออกเมื่อเรามองภาพระยะไกล แต่หากเราขยายภาพจากกล้องดิจิตอลใหญ่ๆ เราจะพอมองเห็นตัวอักษรนั้นได้ นั้นคือ กล้องดิจิตอลมีความสามารถในการเก็บและแยกแยะรายละเอียดได้ดีกว่าตาของมนุษย์ จากนั้นลองถ่ายภาพอีกสัก 1 ภาพให้ถ่ายภาพจากในห้องทำงานของเราออกไปนอกหน้าต่าง โดยให้เห็นภาพกว้างๆ ภายในห้องด้วยจากนั้นมองดูภายในห้องให้ทั่วๆ จะเห็นว่า เราสามารถมองเห็นภาพได้ชัดเจนในซอกมุมของห้องทำงานแม้ว่าไฟส่องไปได้น้อยมาก เห็นกำแพง ผนัง และส่วนอื่นๆ ในห้องได้อย่างชัดเจน และเราก็ยังมองเห็นวิวนอกหน้าต่างได้อย่างชัดเจนมากอีกด้วย แม้ว่าวิวภายนอกจะเป็นเมฆสีขาวกับท้องฟ้าใสๆ ในช่วงปลายฤดูร้อนก็ตามที จากนั้นลองเปิดภาพที่เราถ่ายจากกล้องดิจิตอลดูว่าเกิดอะไรขึ้น จะเห็นว่าภาพจากกล้องดิจิตอลนั้น แตกต่างจากภาพที่ตาของเราเห็นอย่างลิบลับ ภาพที่มองเห็นภายในห้องได้อย่างชัดเจน ไม่สามารถเห็นวิวภายนอก แม้กระทั่งกรอบหน้าต่างได้เลยในขณะที่ตาของเราเห็นได้ครบชัดเจน แล้วถ้าภาพนั้นมองเห็นวิวภายนอกได้อย่างชัดเจน กลับกลายเป็นว่า ภายในห้องดำมืด ปราศจากรายละเอียดใดๆ ให้เห็น นั่นคือ กล้องถ่ายภาพไม่สามารถเก็บรายละเอียดในสภาพแสงที่แตกต่างกันมากๆ ได้เหมือนที่ตาของมนุษย์ทำได้

สภาพแสงที่แตกต่างกันมากๆ นำมาซึ่งความยุ่งยากและความสวยงามด้วยพร้อมกัน การถ่ายภาพคร่อมค่าเปิดรับแสงโดยไล่ไปตั้งแต่ค่าแสงสำหรับส่วนเงาไปจนค่าแสงสำหรับส่วนสว่าง จะได้ภาพหลากหลายแบบ เราสามารถนำภาพเหล่านี้มาประกอบในโปรแกรมอย่าง Photoshop ภายหลังได้

ในทางเทคนิค ตามนุษย์มีความสามารถในการแยกรายละเอียดเพียง 5 คู่เส้นต่อมิลลิเมตรเท่านั้น ส่วนกล้องดิจิตอลทำได้มากกว่า 100 คู่เส้นต่อมิลลิเมตร มากกว่ากันถึง 20 เท่า ส่วนช่วงการรับแสง กล้องดิจิตอลที่ใช้เซ็นเซอร์เทคโนโลยีสูงอย่าง Nikon D810 สามารถเก็บแสงได้ 14 Stop กว่าๆ หรือประมาณ 1 : 16,384 ส่วนตามนุษย์ได้มากกว่า 20 stop หรือ 1 : 1,048,576 ซึ่งมากกว่ากันมาก ยิ่งไปกว่านั้น ความแตกต่างของแสง 14 stop ที่กล้องเก็บได้ ยังแสดงบนภาพถ่ายได้แค่ไม่เกิน 10 stop ในสภาพปกติ หากมากกว่านั้นภาพจะมีความเปรียบต่างต่ำมากจนดูไม่สวย ดังนั้น สามารถบอกได้ว่า ไม่มีทางที่เราจะถ่ายภาพได้ดังตาเห็น ซึ่งเป็นทั้งข้อดีและข้อเสียของการถ่ายภาพเมื่อเทียบกับภาพที่เห็นด้วยตา

ภาพดิจิตอลสามารถคุมความมืดสว่างได้ด้วยค่าการเปิดรับแสง ในขณะที่ตาควบคุมได้ยาก อาศัยเหตุข้อนี้เราสามารถคุมภาพให้มืดหรือสว่างกว่าตาเห็นได้ และอาศัยเหตุข้อนี้ในการกำหนดให้จุดสนใจอยู่ในที่สว่างในการจัดองค์ประกอบได้อีกด้วย

การวัดแสงโดยหลักมีจุดประสงค์เพื่อหาค่าแสงที่ทำให้ภาพสวยที่สุด ไม่ได้ให้ภาพที่เหมือนจริงที่สุด มือใหม่อาจจะได้รับการแนะนำให้ถ่ายภาพคร่อมค่าการเปิดรับแสง (Exposure Brecketing) แล้วดูว่าภาพใดที่ถูกใจ การถ่ายภาพคร่อมค่าการเปิดรับแสง โดยถ่ายภาพไล่ไปตั้งแต่เปิดรับแสงโอเวอร์ไปจนอันเดอร์เพื่อเลือกภาพที่ดีที่สุด จะทำให้ได้ภาพมาเลือกหลายรูปแบบ โอกาสพลาดต่ำ แต่ก็ทำได้เฉพาะภาพวัตถุนิ่งเท่านั้น การถ่ายภาพคร่อมที่ถูกต้องจริงๆ เริ่มจากการวัดแสงให้แม่นยำที่สุดในการถ่ายภาพแรก แล้วค่อยคร่อมค่าแสงเมื่อมีโอกาสมีเวลาเหลือจะเป็นทางที่ดีที่สุด การถ่ายภาพคร่อมก็ยังจำเป็นต้องเริ่มจากความเข้าใจในการวัดแสงก่อน ไม่ใช่ถ่ายเปะปะแล้วหวังว่าจะได้ภาพดีๆ ติดกลับมาบ้าง

ภาพจากค่าเปิดรับแสง 3 ค่า ภาพแรกสำหรับทุ่งหญ้าโดยรวม ภาพที่สองสำหรับลำแสง และภาพที่ 3 สำหรับแนวเขา ทั้งสามภาพถูกนำมารวมกันแบบ HRD ธรรมดาโดยไม่มีการรีทัชลำแสง ได้ภาพรวมคือภาพนี้

โหมดถ่ายภาพและโปรแกรมรุ่นใหม่ๆ ที่เรียกว่า HDR, High Dynamic Range สามารถยืดช่วงการรับแสงของภาพออกไป ทำให้ภาพแสดงส่วนสว่างมืดได้มากกว่าปกติพอสมควร แต่ก็ยังมีข้อจำกัดเรื่องภาพที่นำมาทำต้องมีตำแหน่งคงที่ และเริ่มจากค่าวัดที่เหมาะสมก่อน จากนั้นจึงถ่ายภาพโอเวอร์เพื่อใช้รายละเอียดส่วนเงา และอันเดอร์เพื่อใช้รายละเอียดส่วนสว่างเข้าไปทีหลัง การถ่ายภาพแบบ HDR เหมาะกับภาพนิ่งๆ มากกว่าภาพเคลื่อนไหว ปัญหาเรื่องสัญญาณรบกวนในกรณีที่ถ่ายภาพเดียวทำ HDR รวมไปถึงการไล่โทนสีที่ไม่เป็นธรรมชาติ มักเกิดขอบสว่างตัดมืดรอบรอยต่อระหว่างส่วนมืดสว่าง รวมทั้งการไล่ระดับโทนที่ไม่เป็นธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม การถ่ายภาพทำ HDR ผู้ถ่ายภาพก็ต้องมีความเข้าใจเรื่องวัดแสงและสีเป็นอย่างดี เพื่อจะเริ่มต้นภาพแรกได้อย่างเหมาะสม และสามารถวางแผนการเตรียมต้นฉบับเพื่อนำมาใช้ในโปรแกรม HRD ได้ภายหลังได้

ไม่ว่าจะใช้เทคนิคอย่างไร ทางที่ดีที่สุด ยังจำเป็นต้องเริ่มจากความเข้าใจในการวัดแสงจึงจะสามารถได้ภาพสุดท้ายที่มีคุณภาพเสมอ

ในสภาพวะปกติทั่วไป กล้องถ่ายภาพจะเก็บภาพได้ดีพอสมควรในแง่ของสีสันและความแตกต่างของแสงที่ไม่แตกต่างกันมากจนเกินไป ลองดูในวันที่ท้องฟ้าใสปลอดโปร่ง ฟ้าเป็นสีน้ำเงินเข้ม มีป้ายหยุดรถสีแดงสด ลองสังเกตว่า ตาของเราจะเห็นท้องฟ้าเป็นสีน้ำเงินสด ป้ายเป็นสีแดงสด แล้วถ้าเราถ่ายภาพละจะเกิดอะไรขึ้นลองถ่ายภาพโดยเปิดรับแสงพอดีตามที่กล้องตั้งให้ 1 ภาพ แล้วลองชดเชย (ชดเชยแสงคือ การสั่งให้กล้องลดหรือเพิ่มแสงที่เข้าไปยังเซ็นเซอร์รับภาพผิดไปจากที่กล้องคำนวณได้) ชดเชยแสงสัก -1stop ถ่ายเอาไว้ 1 ภาพ ชดเชยแสง -2 stop อีกสักภาพ ชดเชยแสง +1 stop และ +2 stop อีกอย่างละภาพ รวมเป็นทั้งหมด 5 ภาพ เกิดอะไรขึ้นกับภาพทีได้จากกล้องดิจิตอล เราจะเห็นว่า ภาพนั้นมีสีไล่เลียงกันไป ตั้งแต่ปกติ เข้ม เข้มจัดจนเรียกว่าดำมืด รายละเอียดส่วนเงาหายไปก็ยังได้ แล้วก็มาที่สว่าง สีซีด จนถึงซีดจัด ส่วนขาวสว่างจ้า รายละเอียดส่วนสว่างหายไป ผิดกับที่ตาของเรามองเห็นนั่นหมายถึงภาพที่ได้จากกล้องดิจิตอลจะมีสีสันขึ้นกับแสงที่ให้เข้าไป แสงมากภาพจะซีด แสงน้อยภาพจะมืด สีสันของภาพสามารถควบคุมได้ด้วยปริมาณแสง นี่เป็นทั้งข้อดีและข้อเสียของกล้องดิจิตอลข้อดีคือ เราสามารถปรับสีของภาพให้เข้มหรือซีดกว่าความเป็นจริงได้โดยการสั่งให้กล้องเพิ่มหรือลดค่าแสงจากที่กล้องคำนวณได้ (ชดเชยแสง) ในขณะที่ตาของเราไม่สามารถทำได้ดีเท่า

จากนั้นลองตั้งระบบถ่ายภาพที่กล้องไว้ตำแหน่ง P หรือ Auto นำกล้องดิจิตอลถ่ายภายในร่มเงา 1 ภาพ ภาพกลางแดดจ้า 1 ภาพ ถ่ายเล่นไปมาสักหลายๆ ภาพ ถ่ายอะไรก็ได้ เราจะพบว่า ภาพจากกล้องนั้นมีความสว่างที่ใกล้เคียงตาเห็น (ในภาพรวม) อยู่ตลอดเวลา กล้องและตาของมนุษย์มีความเหมือนกันอยู่ตรงที่ ไม่ว่าแสงภายนอกจะเป็นอย่างไร มาก น้อย เปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน กล้องและตาก็จะพยายามปรับแสงให้ได้ภาพที่สว่างคงที่ชัดเจนอยู่ตลอดเวลา

การวัดแสงไม่ได้ช่วยเรื่องปรับค่าแสงอย่างเดียว แต่ยังช่วยหาเวลาที่เหมาะสมสำหรับถ่ายภาพให้ได้อย่างที่ต้องการอีกด้วย,
FUJIFILM X-T1 1/2s f/10 ISO 200 ขาตั้งกล้อง ถ้ำเขาหลวง เพชรบุรี 7/1/2557

สภาพแสงที่ยุ่งยาก การเข้าใจเรื่องสีกับการวัดแสงเป็นสิ่งสำคัญในการจะนำมาซึ่งต้นฉบับดิจิตอลที่สมบูรณ์,
Nikon D800 30s f/2.8 ISO 800 ขาตั้งกล้อง จุดชมวิวใกล้พระธาตุ 25/1/2557

ท้องฟ้าที่เห็นด้วยสายตาไม่มีทางสีเข้มขนาดนี้ เราสามารถอาศัยเรื่องการวัดแสงเพื่อควบคุมท้องฟ้าให้เข้มได้อย่างที่ตาไม่สามารถเห็นได้,
Nikon D3 1/800s f/9 ISO 200 7/8/2553

จากนั้นลองสังเกตภาพทั้งหมดที่ถ่ายได้จากกล้องดิจิตอลเทียบกับภาพที่เรามองเห็นด้วยตา จะพบว่าตาของเรานั้นยากที่จะมองเห็นส่วนมืดหรือเงาเป็นสีดำ แต่กล้องนั้นจะให้ส่วนเงากลายเป็นดำได้ง่ายกว่ามาก ในซอกหลืบมุมมืด ตาของเราก็มักจะมองเห็นเสมอ แต่กล้องดิจิตอลนั้น แค่ร่มเงาสว่างๆ บางครั้งยังเห็นเป็นส่วนดำได้เลย

ในการทดลองง่ายๆ นี้เราสามารถสรุปคุณสมบัติเบื้องต้นของกล้องดิจิตอลเมื่อเทียบกับตาของคนเราได้ว่า

  1. กล้องดิจิตอลแยกแยะและเก็บรายละเอียดได้ดีกว่าตามนุษย์
  2. กล้องดิจิตอลไม่สามารถเก็บความแตกต่างของแสงได้ดีเท่าตามนุษย์
  3. สีของภาพจากกล้องดิจิตอลขึ้นกับปริมาณแสงที่เข้าไปยังเซ็นเซอร์ซึ่งสามารถปรับแต่งได้
  4. กล้องดิจิตอลจะพยายามปรับแสงให้พอดีในภาพรวมตลอดเวลา
  5. ภาพจากกล้องดิจิตอลมักจะเห็นส่วนเงาเป็นดำได้ง่ายแต่ตาคนจะมองเห็นได้ชัดเจนตลอดเวลา

การถ่ายภาพมาโครให้ฉากหลังดำหรือปรากฏรายละเอียดแค่ไหน เป็นเทคนิคการควบคุมแสงที่เป็นเรื่องจากการวัดแสงโดยตรง,
Nikon D800 1/100s f/16 ISO 100 แก่งกระจาน 6/6/2556

ในสภาพแสงต่างกันมาก ตาคนสามารถมองเห็นรายละเอียดได้มากมายตั้งแต่หลอดไฟยันยอดไม้ แต่กล้องไม่สามารถถ่ายทอดได้แบบตาเห็นได้, Nikon D200 30s f/8 ISO 400 สวนสนวัดจันทร์ 29/12/2551

ภาพนี้ตามองเห็นรายละเอียดทั้งหมด แต่ความแตกต่างของแสง ทำให้ภาพสว่างเฉพาะใบไม้ ส่วนด้านหน้าที่มืดกว่าหายไปในภาพถ่าย ส่วนตามองเห็นทั้งหมดชัดเจน, Nikon D800 1/50s f/8 ISO 400 ลำธารแก่งกระจาน 6/6/2556

ด้วยคุณสมบัติในข้อที่ 2 3 และ 4 คือ กล้องดิจิตอลเก็บความแตกต่างของแสงได้จำกัด สามารถปรับแต่งสีสันได้ และกล้องพยายามปรับแสงอยู่ตลอดเวลา หากช่างภาพมีความเข้าใจในการตอบสนองของเซ็นเซอร์รับแสงที่มีต่อแสง และควบคุมปัจจัยต่างๆ ได้ จะสามารถบันทึกภาพได้สวยงามอย่างที่ตาของคนเราไม่สามารถรับรู้ได้ ผมเชื่อว่าทุกคนเคยดูหนังสือท่องเที่ยวที่มีภาพสวยงามเต็มไปหมดไม่ว่าจะเป็นหนังสือแนะนำที่ท่องเที่ยวต่างประเทศซึ่งที่บ้านของผมมีอยู่มากมายเต็มไปหมด หนังสือชวนเที่ยวไทยอย่าง อสท. เราจะพบเสมอว่า ภาพที่ถ่ายออกมานั้นสวยงามน่าไปเป็นที่สุด แต่พอเราไปยังสถานที่นั้นๆ หลายที่กลับไม่ได้สวยเหมือนในภาพถ่าย ไม่ใช่เป็นเพราะช่างภาพหลอกลวง แต่งภาพเกินจริงแต่อย่างไร แต่เป็นเพราะช่างภาพนั้นเข้าใจที่จะเลือกจังหวะเวลาของแสง มุมถ่ายภาพ และเขาควบคุมวัดแสงได้อย่างพอเหมาะ จึงได้ภาพที่สวยกว่าตาของเราจะเห็นได้ โดยเฉพาะภาพทะเลหมอกยามเช้าพระอาทิตย์กำลังโผล่พ้นขอบฟ้า ตาของเราจะเห็นท้องฟ้าแดงเหลืองอ่อนๆ แต่ช่างภาพที่มีประสบการณ์มักถ่ายภาพขณะนั้นได้ท้องฟ้าเป็นสีแดงเข้มกว่าที่ตาเห็นหลายเท่านัก นั้นคือข้อดีของการถ่ายภาพ

ผมขอสรุปง่ายๆ ในส่วนนี้ว่า เราสามารถสร้างภาพที่สวย หรือแย่กว่าที่ตาเห็นได้โดยการควบคุมปริมาณแสงเหมาะสม และยังต้องเลือกเวลาในการถ่ายภาพให้ถูกต้อง รวมทั้งมีการจัดองค์ประกอบภาพที่ดี

การเข้าใจเรื่องวัดแสง จะส่งผลให้เข้าใจเรื่องแสงเงา และการจัดองค์ประกอบภาพได้เร็ว โดยเฉพาะเรื่องการคุมพื้นที่สว่างส่วนมืดในภาพ,
Nikon D800 1/800s f/2.5 ISO 100 สวนสนวัดจันทร์ 28/1/2557