เรื่อง+ภาพ : ศุภฤกษ์ นฤเบศร์ไกรสีห์

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine ฉบับ 209/2015 Fevruary

บทที่ 7 กราฟ Characteristic Curve ดูอย่างไร

กราฟ Characteristic Curve ของกล้องดิจิตอลหากสามารถแปลความหมายแล้วใช้งานเป็น แทบจะเรียกว่าจบเรื่องวัดแสงไปเลย เพราะกราฟนี้บอกเราว่า แสงที่ตกเซ็นเซอร์เท่านี้จะให้สีเป็นอย่างไรอย่างตรงไปตรงมา

กราฟ Dynamic Range จากแค๊ทตาล็อคของเครื่องวัดแสง Sekonic

ค่า L มีระดับตั้งแต่ 0-100 ที่ระดับ 0-5 เป็นช่วงที่ภาพจะดำมากและมีความเปรียบต่างต่ำ ยากต่อการแสดงผลหรือแสดงรายละเอียดในงานอัดขยายหรืองานพิมพ์ มักเป็นส่วนที่ไม่หวังผลในภาพถ่าย เราเรียกส่วนนี้ว่า ส่วนมืด (Deep Shadow) ส่วน 0-5 โดยปกติมักจะมีรายละเอียดซ่อนอยู่ สามารถใช้ Software ดึงขึ้นมาให้ปรากฏได้ถ้าสามารถเพิ่มความสว่างและความเปรียบต่างได้ ค่า L 5-15 โดยประมาณเป็นส่วนเทาดำ (Shadow) ที่สามารถแสดงรายละเอียดได้ชัดเจน มีความเปรียบต่างสูงขึ้นกว่าส่วนมืดและใช้งานได้ดี ส่วนค่า L 15-40 โดยประมาณเรียกว่าส่วนเทาเข้ม (Dark Grey) 40-60 เรียกว่าส่วนเทาหรือ Middle Tone โดยค่าโทนกลางคือ L54 หรือ RGB ที่ 128 โดยประมาณ เป็นช่วงที่มีความเปรียบต่างสูง ค่า L60-80 โดยประมาณเรียกว่าส่วนเทาอ่อนหรือ Light Grey ส่วน 80-95 เรียกว่าส่วนสว่าง หรือ Diffuse Hilight และ 95-100 เป็นส่วนที่ความเปรียบต่างต่ำและมีขาวมากจนยากจะมองเห็นได้บนจอภาพหรือพิมพ์ออกมาทางงานพิมพ์ เป็นส่วนที่ยังมีรายละเอียดซ่อนอยู่เล็กน้อย ดึงให้กลับมาได้บ้าง แต่ยากจะหวังผล

ช่วงความแตกต่างของแสงตั้งแต่ ค่า L ที่ 5 ถึง 95 นั้นเราเรียกว่า ช่วงการรับแสงของกล้อง หรือ Exposure Range ซึ่งมักจะเรียกกันว่า Dynamic Range การเรียกจะมี 2 แบบคือ เรียกช่วงทั้งหมด เช่น กล้อง Nikon D3 มี Dynamic Range 10 stop หรือเรียกเป็นค่า +- เช่น +3 ถึง -5 เป็นต้น การใช้งานกราฟตัวนี้จะได้บอกละเอียดอีกทีในช่วงต่อไป

26/11/2556 ทุ่งดอกทานตะวัน วัดเขาจีนแล ลพบุรี Nikon D800 1/80s f/10 ISO 100