เรื่อง+ภาพ : Sompoch Tangthai

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 265/2019 October

ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18-19 เป็นยุคสมัยที่กล้องถ่ายภาพก็ได้ถูกผลิตขึ้น เป็นยุคสมัยที่การถ่ายภาพเริ่มกำลังได้รับความนิยมอย่างมากในยุโรปและอเมริกา ซึ่งทำให้ก่อนหน้านั้น ได้เกิดคำถามหนึ่งว่า “ภาพถ่ายเป็นศิลปะหรือไม่?” คำถามนี่ได้เป็นที่ถกเถียงกันมาก จนได้ข้อยุติโดยทุกฝ่ายได้ยอมรับว่าสื่อภาพถ่ายเป็นงานศิลปะแขนงหนึ่ง ที่พอจะเป็นตัวอย่างอันเห็นได้ชัดก็คือ ในฝรั่งเศสได้มีกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองลิขสิทธิ์งานศิลปะ ซึ่งได้มีการฟ้องร้องเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ของภาพถ่ายด้วย เริ่มมาจากช่างภาพสตูดิโอ Mayer & Pierson ได้ฟ้องร้องช่างภาพอีกสตูดิโอหนึ่ง ว่านำภาพไปใช้ในการค้าจนสุดท้ายคดีนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าภาพถ่ายเป็นงานศิลปะอย่างหนึ่งที่ได้รับความคุ้มครองในเรื่องของลิขสิทธิ์เช่นเดียวกับงานศิลปะแขนงอื่น

ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 สำหรับงานศิลปะแขนงต่างๆ นั้นนับเป็นช่วงของลัทธิศิลปะสมัยใหม่ (Modernism) ที่มีแนวคิดว่า “ศิลปะเพื่อศิลปะ” คือการที่ศิลปะไม่ต้องคอยตอบคำถามว่า มันคืออะไร ทำเพื่ออะไร ลักษณะสำคัญของ “ศิลปะสมัยใหม่” (Modern Art) และ “ลัทธิสมัยใหม่” (Modernism) คือ ทัศนคติใหม่ๆ ที่มีต่ออดีตและอนาคต ซึ่งเป็นไปแบบสุดขั้ว โดยเริ่มต้นมาตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ที่ถือกันว่าเป็นยุคปฏิวัติของยุโรป ศิลปินเริ่มที่จะให้การยอมรับการเขียนภาพ “เหตุการณ์ปัจจุบัน-ร่วมสมัย” ในยุคของตนว่า สามารถมีคุณค่าทางศิลปะได้เท่าเทียมกับภาพเขียนเรื่องราวในอดีตตั้งแต่ยุค โบราณ หรือ ยุคประวัติศาสตร์จากคัมภีร์ไบเบิล การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขนานใหญ่ทั่วยุโรป ประกอบกับการอ่อนแรงของศิลปะแบบทางการ หรือศิลปะตามหลักวิชา (academic art) ทำให้กระแสศิลปะลัทธิสมัยใหม่ยิ่งเติบโต

ภาพวิถีชีวิตใน Amsterdam ของ George Hendrik Breitner ที่เป็นทั้งจิตรกรและช่างภาพ

ภาพวาด Starry Night ของแวนโก๊ะ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ (Museum of Modern Art) ในนครนิวยอร์ก

ภาพ Starry Night ของศิลปิน Van Gogh เป็นตัวอย่างผลงานแนวอิมเพลสชั่นนิสที่โด่งดัง

คำว่า “ศิลปะเพื่อศิลปะ” ที่เริ่มแพร่หลายในแนวคิดศิลปะสมัยใหม่ ก็ยิ่งกระจายออกไปอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น ศิลปะสมัยใหม่ ที่เกิดขึ้นหลักๆ ก็มี ศิลปะจินตนิยม (Romanticism) ศิลปะสัจนิยม (Realisticism) ศิลปะอิมเพรสชั่นนิสม์ (Impressionism) ศิลปะเอกซเพรสชั่นนิสม์ (expressism) ศิลปะคิวบิสซึ่ม (Cubism) ศิลปะเหนือจริง (Surrealism) ศิลปะฟิวเจอร์ริสม์ (Futurism) ศิลปะแอปสแตรค อาร์ต (Abstract Art) ศิลปะแบบป๊อป อาร์ต (Pop Art) และศิลปะอ๊อป อาร์ต (Op Art)

แต่เดิมนั้น การเมือง วัฒนธรรม และงานศิลปะจะตอบสนองกับชนชั้นสูง และชนชั้นศาสนา เราจะเห็นงานศิลปะที่บอกเล่าเรื่องราวในตำนานต่างๆ เรื่องราวเกี่ยวกับศาสนา เทพเจ้า ฯลฯ จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมในช่วงศตวรรษที่ 18-19 ที่ทำให้ชนชั้นกลางได้เข้ามามีบทบาททางสังคมมากยิ่งขึ้น เนื้อหาในงานศิลปะจึงเปลี่ยนแปลงไป เริ่มให้ความสนใจในวิถีชีวิตวิสามัญชนทิวทัศน์คน สิ่งของ ฯลฯ      

ภาพ The Scream ของศิลปิน Edvard Munch เป็นงานศิลปะแนวเอกเพรสชั่น ในยุคของศิลปะสมัยใหม่

ผลงาน Venetian Canal ของ Alfred Stieglitz

ในส่วนของศิลปะภาพถ่าย การถ่ายภาพเองนั้นก็ได้มีวิวัฒนาการที่เป็นไปตามแนวคิดทางศิลปะที่เปลี่ยนแปลงไปตามค่านิยมของสังคมในช่วงนั้นๆ ด้วยเช่นกัน จุดเริ่มที่เห็นได้ชัดคือ ในช่วงที่ศิลปะอิมเพรสชั่นนิสม์กำลังเป็นที่ถกเถียงกันนั้น เป็นเวลาเดียวกับที่การถ่ายภาพเริ่มเข้ามาพอดี จึงมีคำพูดที่ว่า “ต่อให้ท่านวาดภาพได้ถูกต้องแม่นยำอย่างไร มันจะถูกต้องแม่นยำเท่ากับภาพถ่ายหรือ?” นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ภาพสไตล์ อิมเพรสชั่นนิสม์ไม่สนใจในเรื่องของการวาดให้สมจริงแบบศิลปะดั้งเดิม แต่ไปมุ่งเน้นที่อารมณ์ความรู้สึกที่ประทับใจต่อสิ่งที่ได้เห็นมากกว่า ช่างภาพผู้ทรงอิทธิพลในวงการถ่ายภาพ Alfred Stieglitz นับว่าเป็นที่บุกเบิกศิลปะภาพถ่ายในยุคนั้น โดยเฉพาะภาพถ่าย Pictorial Photography

จากการถ่ายภาพบันทึกภาพออกมาได้เหมือนจริงกว่าภาพวาดเกิดการถกเถียงถึงความเป็นศิลปะของการถ่ายภาพเกิดเป็นแนวภาพถ่ายศิลปะขึ้น ภาพถ่ายพิคโทเรียล (Pictorial Photography) ที่ยึดแนวคิดของศิลปะอิมเพรสชั่นนิสม์ซึ่งค่านิยมในสังคมตะวันตกช่วงนั้นมุ่งเน้นภาพที่งดงามแบบความฝัน Pictorial Photography มีการรับอิทธิพลของงานจิตรกรรมอิมเพรสชั่นนิสม์ (ด้วยเกิดขึ้นในสมัยใกล้เคียงกัน) จึงมีการตีความในเรื่องของการที่จะพยายามให้ภาพถ่ายยกระดับมาใกล้เคียงงานจิตรกรรม เพราะสมัยนั้นภาพถ่ายยังไม่ได้รับการยอมรับให้เป็นศิลปะอย่างจริงจัง (แต่ก็ยังมีศิลปินนักวาดภาพที่อาศัยรูปแบบการเกิดขึ้นในภาพถ่าย เช่น ภาพที่เบลอ ไหว out focus ไปใช้ในงานจิตรกรรมด้วยเช่นกัน) สิ่งหนึ่งที่ภาพถ่าย Pictorial มีความสำคัญก็คือ เป็นบทบาทของภาพถ่ายแนวหนึ่งที่ได้รับการยกย่องในฐานะงานศิลปะ และมีอิทธิพลต่อความคิดของคนจำนวนมาก ขณะที่เทคโนโลยีการถ่ายภาพมีการพัฒนาขึ้น มีการใช้ Dry-plate แทน Wet-plate กล้องถ่ายภาพก็ถูกลง และมีขนาดเล็กลง ทำให้การสร้างสรรค์งานที่เกิดขึ้นจากศิลปินเป็นไปอย่างแพร่หลายทั้งยุโรปและอเมริกา

ตัวอย่างผลงานของ Ansel Adams ปรมาจารย์ช่างภาพของคนที่ชอบภาพขาวดำซึ่งรู้จักกันเป็นอย่างดี

ตัวอย่างภาพพิคโตเรียล ในยุคศิลปะสมัยใหม่ ของ Hans watzek

ตัวอย่างผลงานของ Edward Weston

Pictorial Photography เป็นการถ่ายภาพที่มุ่งเน้นในเรื่องของความงดงาม ลักษณะงานก็จะเป็นภาพถ่ายที่แสดงถึงการมองโลกในแง่ดี มองโลกด้วยความสวยงาม เหมือนฝัน ไม่ว่าจะเป็นภาพสะท้อนสังคม วิถีชีวิตสามัญชนและมีความหลากหลาย ตั้งแต่ภาพชีวิต ผู้คน การเดินทาง เด็ก คนแก่ ฯลฯ และโดยมากมักจะมี แนวความคิดการถ่ายภาพศิลปะที่ต้องการให้ภาพถ่ายเหมือนเป็นภาพวาด และรูปสลัก ส่วนมากของรูปภาพเหล่านี้เป็นสีขาว-ดำ หรือซีเปียในวิธีการถ่ายภาพ เป็นการใช้ ซอฟโฟกัส ฟิลเตอร์พิเศษและเคลือบผิวเลนส์ ขั้นตอนหลายๆ ขั้นตอนในห้องมืดที่ใช้ล้างฟิล์ม และกระบวนการการพิมพ์ที่มาจากต่างประเทศกระดาษอัดรูปที่มีพื้นผิวขรุขระ ได้ถูกเพิ่มเข้ามาใช้เป็นองค์ประกอบของรูป เพื่อเบรกความชัดเจนของรูปให้น้อยลง รวมทั้งการใช้เทคนิคในการใช้น้ำยาต่างๆ ในการล้างภาพ เช่น Gum Bichromate, Platinumprint ฯลฯ

ภาพในสไตล์ Pictorial เดินทางตามมากับศิลปะอิมเพรสชั่นนิสม์ในระยะเวลาที่ยาวนานพอสมควร จนกระทั่งมาถึงช่วงที่เทคโนโลยีด้านการถ่ายภาพได้พัฒนาขึ้น คุณภาพของภาพถ่ายดียิ่งขึ้น และด้วยสภาพสังคมแบบทุนนิยมเติบโตมากขึ้น ความคิดทางด้านศิลปะภาพถ่ายที่เคยเดินตามงานจิตรกรรมอิมเพรสชั่นได้เปลี่ยนไป และเหตุผลที่สำคัญก็คือการเกิดขึ้นของสงครามโลกครั้งที่ 1 นั่นเอง

ผลงาน The-Steerage ของ Alfred Stieglitz

Camera Work ของ Alfred Stieglitz

ตัวอย่างงาน Pictorial ภาพ Morning ของ Clarence H. White

ตัวอย่างงาน Pictorial ภาพ flatiron ของ Edward Steichen

หลังจากนั้น ศิลปะภาพถ่ายในยุโรปเริ่มเข้าสู่ศิลปะแนวทดลอง อย่างแนวคิดของศิลปะเหนือจริง (Surrealism) และศิลปะแนวคิดที่เสนอภาพถ่ายอย่างตรงไปตรงมาอย่าง สเตรทโฟโต้กราฟฟี่ (Straight Photography) ซึ่งเป็นช่วงที่ภาพถ่ายแนวพิคโทเรียลได้รับความนิยมลดน้อยลงด้วย ส่วนทางอเมริกาเอง ศิลปะภาพถ่ายที่เห็นได้ชัดเจน คือ แนวของสเตรทโฟโต้กราฟฟี่ (Straight Photography) เป็นหลัก

สเตรทโฟโต้กราฟฟี่ (Straight Photography) ตามแนวคิดศิลปะสมัยใหม่นั้นจะมองว่าภาพถ่ายบอกเล่าเรื่องราวในโลกของความจริงแต่เป็นความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในเสี้ยวเวลาที่บันทึกภาพ ในช่วงของศิลปะสมัยใหม่ ดูเหมือนว่า สเตรทโฟโต้กราฟฟี่ (Straight Photography) จะมีบทบาทสำคัญมาก มีศิลปินที่โด่งดังอย่าง Edward Weston, Ansel Adams ก็ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดนี้ในการสร้างผลงาน

Camera Work ของ Alfred Stieglitz

Camera Work ของ Alfred Stieglitz

ผลงาน ประติมากรรม fountain ของ Marcel Duchamp อันโด่งดัง ถ่ายภาพโดยช่างภาพ Alfred Stieglitz

จากแต่เดิมที่งานภาพถ่ายอย่างพิคโทเรียลที่แสดงถึงความงามหรือโลกในอุดมคติ มีการปรุงแต่ง ความพร่ามัวที่เหมือนกับงานจิตรกรรมอิมเพรสชั่น แล้วได้เปลี่ยนแปลงมาเป็นงานสเตรทโฟโต้กราฟฟี่ (Straight Photography) พัฒนาการของศิลปะภาพถ่ายยังคงเดินหน้าต่อไป ตามกระแสทางสังคมที่เกิดการเปลี่ยนแปลง อยู่ตลอดเวลา

ในช่วงยุคของศิลปะสมัยใหม่จึงมีศิลปะภาพถ่ายเกิดขึ้นมากมายหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็น Pictorial Photography, Surrealist, Straight Photography ฯลฯ ตามลัทธิทางศิลปะที่เกิดขึ้นมาในช่วงนั้นอย่างที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ก่อนที่จะเข้าสู่ยุคศิลปะหลังสมัยใหม่ (post-modern) ที่มีแนวคิดที่แตกต่างจากแนวคิดของศิลปะสมัยใหม่ (Modern) โดยการเปลี่ยนแนวคิดจากศิลปะเพื่อศิลปะตามแนวคิดศิลปะสมัยใหม่เป็นแนวคิดที่เชื่อว่า ศิลปะต้องเกิดขึ้นเพื่อมวลชน เพื่อสังคม สะท้อนความเป็นไปของสังคม วัฒนธรรมตามยุคสมัย ทั้งในเรื่องของแนวความคิดและการนำเสนอ

จะเห็นได้ว่ากว่าที่ภาพถ่ายจะได้รับการยอมรับว่าเป็นงานศิลปะนั้น ต้องผ่านกระบวนการและวิธีคิดของศิลปิน ที่ต้องการจะฉีกออกจากความที่ภาพถ่ายเป็นเพียงภาพบันทึกธรรมดาให้กลายเป็นงานศิลปะในอีกรูปแบบหนึ่งที่เทียบเคียงได้กับงานศิลปะแขนงอื่น…

ตัวอย่างภาพพิคโตเรียลในยุคศิลปะสมัยใหม่ของ Robert Demachy

ผลงาน Terminal ของ Alfred Stieglitz