เรื่อง+ภาพ : Sompoch Tangthai

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 167/2011 August

ในการถ่ายภาพที่ต้องการควบคุมสีในภาพให้ไม่ผิดเพี้ยน การตั้งค่าในส่วนของระบบ White Balance (WB) ในกล้องเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ ซึ่งในกล้องของเรานั้น มีฟังก์ชั่นในส่วนของ WB นี่ให้เราเลือกใช้ตามสภาพแหล่งกำเนิดแสงที่แตกต่างกันไป เช่น Daylight, Tungsten, Cloudy, shade และในกล้องบางรุ่นที่สามารถเลือกปรับค่า WB เป็นองศาเคลวิน (Kelvin) K ได้ก็จะยิ่งสามารถควบคุมสีในภาพให้ถูกต้องได้ดียิ่งขึ้น นอกไปจากการเลือกใช้ AWB (Auto White balance) ที่เรามักจะใช้กันเป็นประจำใช่ไหมครับ และนอกเหนือไปจากการควบคุมสีสันในภาพได้ถูกต้องแล้ว ถ้าเราเข้าใจการปรับค่า WB เราจะยังสามารถควบคุมอารมณ์ของภาพได้ตามที่เราต้องการอีกด้วย

รู้จักกับอุณหภูมิสีของแสง (Color temperature)

การตั้งค่า White Balance (WB) ในกล้องให้ถูกต้องสำหรับการถ่ายภาพนั้น เราควรรู้จักเรื่องค่าของ อุณหภูมิสีของแสง (Color temperature) เสียก่อน

อุณหภูมิสีของแสง (Color temperature) เกิดขึ้นจากการเพิ่มอุณหภูมิ หรือ การให้ความร้อนกับ วัตถุสีดำ(Black body) ซึ่งเป็นวัตถุสมมุติว่ามีจุดหลอมเหลวสูง จนวัตถุเปล่งแสงสีออกมา ซึ่งเริ่มต้นการเปล่งแสงสีเป็นสีส้มแดง เมื่อเพิ่มอุณหภูมิสูงขึ้น การเปล่งแสงสีจะเปลี่ยนไปเป็น เหลือง ขาว และถ้ายิ่งสูงต่อไปจะเปล่งเป็น สีฟ้า สีน้ำเงิน  ตามลำดับ ในธรรมชาติทั่วไปเราก็สามารถเห็นปรากฏการนี้ได้ไม่ยากนัก  อย่างเช่น  การจุดไฟเพื่อตัดเหล็ก  ซึ่งเราก็ทราบกันแล้วว่าเหล็กมีจุดหลอมละลายที่ค่อนข้างสูง การจะตัดเหล็กได้จึงต้องใช้ความร้อนที่สูงมาก ไฟที่จุดในครั้งแรกส่วนใหญ่จะเห็นเปลวไฟเป็นสีส้มซึ่งอุณหภูมิยังไม่สูงพอที่จะตัดเหล็ก ต้องปรับไฟที่จะตัดเหล็กให้มีอุณหภูมิสูงกว่าจุดหลอมละลายของเหล็ก จะสังเกตได้ว่าเปลวไฟเปลี่ยนไปเป็นสีฟ้าอมน้ำเงิน ซึ่งมีอุณหภูมิที่สูงมาก ถ้าสังเกตที่เหล็กเวลาตัดด้วยเปลวไฟ ก็เป็นเพิ่มอุณหภูมิให้กับเหล็กเช่นกัน เราก็จะเห็นเหล็กค่อยๆ เปล่งแสงสีแดงออกมาเหมือนกัน ซึ่งจะเปลี่ยนการเปล่งแสงจนเป็นแสงสีขาว จนหลอมละลาย เหล็กจึงถูกตัดขาดออกจากกัน การให้ความร้อนที่สูงมากกับโลหะจนโลหะสามารถเปล่งแสงสีออกมาได้นั้นแหละ ที่ใช้เป็นค่า อุณหภูมิสีของแสง  (Color temperature) ซึ่งใช้วัตถุสีดำ หรือ Black body เป็นตัวเปรียบเทียบ โดยการวัดจะใช้หน่วยเป็น องศาเคลวิน (Kelvin)

ในการวัดอุณหภูมิสีของแสงจริงๆ เราจะใช้เครื่องวัดที่เรียกว่า เครื่องวัดอุณหภูมิสี (Color temperature meter) ซึ่งมีลักษณะคล้ายเครื่องวัดแสงมือถือ แต่ที่หัววัดจะมีเซลวัดแสง 3 ตัว คือ RGB เซลวัดแสงทั้ง 3 ตัวนี้จะเอาค่าแสงที่ได้มาเปรียบเทียบเพื่อคำนวณออกมาเป็นอุณหภูมิสีของแสง สำหรับงานที่ต้องการความแม่นยำในเรื่องของสีมากๆ แต่สำหรับการใช้งานทั่วๆไปแล้วนั้น การตั้งค่า WB ในกล้องให้ถูกต้องกับสภาพแหล่งกำเนิดแสง ก็น่าจะเพียงพอที่ทำให้สีของภาพใกล้เคียงแหล่งกำเนิดแสงแล้วครับ

ทุกแหล่งกำเนิดแสง จะมีอุณหภูมิสีของแสงที่แตกต่างกันไป ซึ่งในกล้องดิจิตอลนั้นจะมีเมนูสำหรับตั้งค่า White Balance (WB) ให้เราตั้งค่า นั่นก็คือการปรับค่าสมดุลสีในภาพให้ไม่ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง ซึ่งเราดูจากสีขาวในภาพ เช่นคนใส่เสื้อสีขาว ถ้าถ่ายภาพออกมาเสื้อสีขาวอมสีฟ้า หรือสีส้มแดง แสดงว่าเราตั้งค่า WB นี้ไม่ตรงกับค่าอุณหภูมิสีของแหล่งกำเนิดแสงที่เราถ่ายภาพนั่นเอง

การถ่ายภาพภายใต้แสงจากดวงอาทิตย์นั้น ในวันที่สภาพท้องฟ้าสดใส อุณหภูมิสีของแสงจะอยู่ที่ 5000-6500K ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับสถานที่ ที่ตั้งกล้องถ่ายภาพช่วงเวลา และสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาเป็นตัวกำหนดเราสามารถดูชาร์ตบอกค่า อุณหภูมิสีได้ว่า ลักษณะของแหล่งกำเนิดแสงแบบใด มีค่าอุณหภูมิสีของแสงเท่าใด ซึ่งโดยทั่วไปเราจะเจอกับแหล่งกำเนิดแสงตามสภาพต่างๆ ดังนี้ 

Daylight

แสงจากดวงอาทิตย์ จะเป็นแสงที่เราใช้ถ่ายภาพมากที่สุด โดยทั่วไปจะมีค่าอุณหภูมิสีอยู่ที่ 5000-6500K ขึ้นอยู่กับแต่ล่ะสถานที่ และสภาพอากาศ รวมไปถึงช่วงเวลาอีกด้วย ซึ่งโดยปกติแล้วการตั้งค่า WB ของกล้องไว้ที่ Daylight สีในภาพจะถูกต้อง และ WB แบบ Auto ก็ยังทำงานได้ดีอยู่

 

Sunrise and sunset

ภาพดวงอาทิตย์ขึ้นและตก อุณหภูมิสีจะอยู่ที่ช่วง 3000-4000K ซึ่งโทนสีในช่วงอุณหภูมินี้จะให้ความรู้สึกอบอุ่น ซึ่งเกิดจากที่แสงจากดวงอาทิตย์ผ่านชั้นบรรยากาศช่างภาพที่ชอบถ่ายภาพ Landscape จะชอบช่วงเวลานี้มากที่สุด เพราะจะให้คุณภาพของภาพ ทั้งทิศทางแสงและโทนสีที่สวยงาม การตั้งค่า WB ในกล้องดิจิตอล ถ้าเราตั้งที่ Auto กล้องจะทำการแก้สมดุลสีแสง ให้ถูกต้องซึ่งมันอาจจะส่งผลให้ภาพมีสีสันที่ไม่น่าสนใจ แต่การที่เราใช้ประโยชน์จากการตั้งค่า WB ให้สูงขึ้น เช่น 5000-7000K หรือเลือกตั้งค่าที่ Daylight แล้วลองสังเกตผลของภาพที่ได้ดูว่าอารมณ์ของภาพเป็นที่น่าพอใจเพียงใด

Cloudy days

ช่วงฤดูฝน เมฆจะมีมากเป็นพิเศษ ทำให้มีอุณหภูมิสีอยู่ในช่วง 6500-8000K อุณหภูมิสีที่สูงนั้นส่งผลให้สีของภาพติดอมฟ้า เป็นปัญหาที่มีมาตั้งแต่สมัยระบบฟิล์มหรือแม้แต่การตั้งค่า WB ในระบบอัตโนมัติในกล้องดิจิตอล หรือแม้แต่การตั้งค่า WB แบบ Daylight เพราะอุณหภูมิสีที่ต่ำกว่าอุณหภูมิสีจากแหล่งกำเนิดแสงนั่นเอง ซึ่งเรายังมีทางเลือกสำหรับการตั้งค่า WB ด้วยตนเองที่เหมาะสมโดยการเพิ่มค่า WB ให้สูงขึ้นประมาณ 6000K หรือเลือกใช้ WB แบบ Cloudy

Shade

ในวันที่ฟ้าด้านนอกสดใสแต่ในร่มเงา หรือไม่ว่าจะเป็นใต้อาคาร มักจะมีอุณหภูมิสีของแสงที่สูงมาก ประมาณ 7000-10000K การถ่ายภาพโดยอาศัยแสงจากดวงอาทิตย์เพียงอย่างเดียวภายใต้สภาพแสงแบบนี้ จึงมักจะได้สีที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง ดังนั้นการตั้งค่า WB ในกล้องดิจิตอลมาที่ Shade หรือการตั้งค่า WB ให้สูงขึ้นอีก เพราะที่กล้องนั้นใน WB แบบ Shade จะตั้งค่าอุณหภูมิสีของแสงไว้ที่ 7000K ซึ่งในบางครั้งเราอาจจะต้องเพิ่มไปมากกว่านั้น

Tungsten and candlelight

แสงจากหลอดไฟแบบทังสเตน ที่เรามักจะเห็นตามโรงแรม หรือไฟประดับถนนในวันเฉลิมฯ รวมไปถึงแสงจากเทียนไขนั้นมักจะมีสีที่อมส้มแดง มีอุณหภูมิสีของแสงอยู่ในช่วง 1000-3800K แสงเทียนจะอยู่ที่ช่วง 1000-2500K ส่วนไฟทังสเตนจะอยู่แถวๆ 2500-3800K ซึ่งจะเปลี่ยนไปตามกำลังไฟและลักษณะของหลอดไฟแบบต่างๆ ดังนั้นทิศทางการปรับค่า WB จะอยู่ที่ช่วงอุณหภูมิสีดังกล่าว อาจจะเลือกใช้ที่ 3200K, 3400K, หรือ 3600K ตามลักษณะแสงไฟ ในกล้องดิจิตอล WB สำหรับทังสเตนจึงมักจะมีให้เลือกหลายแบบ แต่สำหรับแสงเทียนนั้น อาจจะต้องตั้งค่า WB ในกล้องต่ำสุด ถ้าต้องการสีของแสงในภาพที่ถูกต้อง แต่ในความเป็นจริง ส่วนมากเราอาจจะไม่จำเป็นที่จะต้องการความถูกต้องอย่างแสงเทียนที่เราอยากได้ภาพที่เป็นโทนอุ่นหน่อย แสงสีอมส้มๆ ก็ช่วยทำให้อารมณ์ของภาพอุ่นขึ้นได้จริงไหมครับ

Flash

ไฟแฟลช โดยส่วนใหญ่เรามักจะตั้งค่า WB ไว้ที่ Daylight เพราะไฟแฟลชนั้นมีอุณหภูมิสีของแสงอยู่ที่ช่วง 5000-5500K ซึ่งใกล้เคียงกับอุณหภูมิสีของแสงเดย์ไลท์ หรือจะเลือกใช้ WB แบบ flash ที่กล้องมีมาให้ซึ่งค่า WB จะตรงกับอุณหภูมิสีจากแสงแฟลชมากกว่า

การตั้งค่า White Balance ในกล้องให้ตรงกับอุณหภูมิสีของแหล่งกำเนิดแสงนั้นๆ จะทำให้เราได้สีของภาพที่ถูกต้องกับความเป็นจริงมากที่สุด และเรายังได้รู้ถึงความสามารถของอุปกรณ์ที่เรามีอยู่ด้วยเช่น เลนส์แต่ละตัวให้สีแบบใด ฯลฯ ดังนั้นเมื่อเราปรับค่า WB ในกล้องดิจิตอลในโหมด WB แบบ K (เคลวิน) เราจะเห็นว่าตัวเลขอุณหภูมิสีที่เราปรับนั้น ให้สีตรงกันข้ามกับค่าอุณหภูมิสีของแหล่งกำเนิดแสง เช่น พอเราตั้งค่า WB ในกล้องเป็น 3600K ภาพที่ได้จะอมสีฟ้า เพราะแสงแบบทังสเตน มีอุณหภูมิสีของแสงที่ 3600K (สีส้ม) ระบบ WB ของกล้องจึงปรับค่าสมดุลสีให้ถูกต้อง ภาพที่ได้จึงมีสีที่ถูกต้องไปด้วยนั่นเอง    

นอกจากนี้ถ้าเราควบคุมอุณหภูมิสีของภาพได้ เราจะสามารถควบคุมสีสัน บรรยากาศ และอารมณ์ของภาพให้เป็นไปตามที่เราต้องการได้อีกด้วย เช่นการตั้งค่า WB ที่อุณหภูมิสีสูงหรือต่ำกว่าแหล่งกำเนิดแสง ก็จะได้สีและอารมณ์ของภาพอีกแบบหนึ่ง อุณหภูมิสีของแสงที่ต่ำกว่า 5000K จะให้อารมณ์ของภาพที่โทนอุ่น (Warm Tone) ในขณะที่อุณหภูมิสีที่สูงกว่า 5500K จะให้อารมณ์ของภาพที่โทนเย็น (Cool Tone) ตรงนี้จะทำให้เราสร้างสรรค์ภาพถ่ายที่มีคุณภาพได้อีกมากมายครับ…