เรื่อง+ภาพ : poch

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 265/2019 October

แม้ว่าช่วงนี้จะผ่านพ้นช่วงเวลาออกพรรษามาแล้วนะครับ แต่ฝนก็ยังตกลงมาบ่อยๆ บางวันตั้งใจจะออกไปถ่ายภาพเสียหน่อย ฝนเจ้ากรรมก็มาตกเอาเสียได้ หรือบางทีแบกกล้องออกไปแล้วและต้องไปติดฝนกลางทาง ก็ได้แต่นั่งมองวิวผ่านหน้าต่างออกไปรอเวลาที่ฝนหยุดใช่ไหมครับ

อีกโอกาสหนึ่งที่จะทำให้เราสามารถถ่ายภาพได้ในเวลาแบบนี้ก็คือหลังฝนตก หลังฝนตกแล้ว ดอกไม้ใบหญ้าหรือสิ่งต่างๆ ก็จะเต็มไปด้วยหยดน้ำที่เกาะอยู่เต็มไปหมด นับเป็นโอกาสดีที่ไม่ควรมองข้ามไป ในช่วงที่ฝนเริ่มซาลงแล้ว ถ้าเราสังเกตดีๆจะเห็นหยดน้ำจำนวนมาก เกาะอยู่ตามที่ต่างๆ หยดน้ำเหล่านี้ ในบางมุมเราใช้สร้างสรรค์ภาพที่สวยงามได้เช่นกันครับ

Rain Drops On Glass

หยดน้ำที่เกาะอยู่ตามบานกระจกนั้น ไม่ว่าจะเป็นหน้าต่างห้อง ประตูกระจก กระจกรถยนต์ หลังฝนตก หรือขณะที่ฝนเริ่มซา จะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดที่เราจะถ่ายภาพ เพราะเป็นช่วงที่หยดน้ำเริ่มเกาะตัวสวยงาม ถ้าเป็นช่วงที่ฝนยังตกแรงๆ อยู่ก็อาจจะมีเม็ดฝนมาชะล้างหยดน้ำเหล่านี้ออกไปหมด หรือไม่ก็มีน้ำฝนที่ไหลเป็นทางยาวรบกวนสายตาได้ สำหรับช่วงที่ฝนหยุดไปแล้วจะเหลือเวลาอีกเล็กน้อยก่อนที่หยดน้ำเหล่านี้จะระเหยไปหมด 

ในการถ่ายภาพหยดน้ำที่เกาะอยู่บนบานกระจกนั้น เราสามารถเลือกที่จะโฟกัสภาพไปที่ตัวหยดน้ำ หรือเลือกที่จะให้หยดน้ำเป็นฉากหน้า แล้วโฟกัสที่ฉากหลัง หรือวิวที่สวยงามในสถานที่นั้นๆ ก็ได้ หรือว่าถ้าสถานที่ที่เราอยู่เป็นสถานที่สำคัญ แลนด์มาร์คที่ใครๆ ก็จำได้อยู่แล้ว การโฟกัสที่หยดน้ำแล้วปล่อยให้ฉากหลังหลุดโฟกัสไปบ้าง จากการที่เลือกใช้ F-stop ที่กว้าง ก็อาจจะทำให้ภาพมีความน่าสนใจ

Sparkling Dew

ถ้าฝนหยุดตกช่วงเช้าๆ ตามใบไม้ หรือกลีบดอกไม้จะมีหยดน้ำเกาะอยู่เต็มไปหมด ไม่เพียงแค่นั้นยังมีหยดน้ำอีกประเภทหนึ่งที่เรามักจะพบเห็นในเวลาเช้าก็คือ น้ำค้าง ที่จะเกาะอยู่ตามใบไม้ใบหญ้าเต็มไปหมด น้ำค้างที่เกิดขึ้น ทั้งจากการคายน้ำ และจากการรดน้ำ หรือหลังฝนตก ทำให้มีโอกาสที่จะถ่ายภาพหยดน้ำสวยๆ ได้เป็นอย่างดี การเข้าไปให้ใกล้ที่สุดนั้นไม่ใช่ประเด็นหลัก แต่สิ่งที่สำคัญก็คือ เราจะจัดวางองค์ประกอบภาพอย่างไรให้น่าสนใจ หยดน้ำนั้นจะมีลักษณะที่เกาะกลุ่มกัน การจัดวางให้เห็นถึงการซ้ำกันก็ช่วยทำให้ได้ภาพที่น่าสนใจได้

สำหรับทิศทางแสงในการถ่ายภาพหยดน้ำนั้น ด้วยช่วงเวลาเช้าและเย็น แสงจากดวงอาทิตย์จะทำมุมเฉียง และไม่แรงมากนัก นับว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม และลงตัวที่สุด และอย่าลืมลองเปลี่ยนสลับกับการถ่ายภาพแบบย้อนแสงดูบ้างก็ไม่เลวเลยทีเดียว เพราะถ้าทิศทางของแสงมาจากทางด้านหลัง หรือย้อนแสง เราจะเห็นเส้นขอบของหยดน้ำแต่ล่ะหยดชัดเจนมากยิ่งขึ้นแต่โดยส่วนใหญ่แล้ว แสงในช่วงเวลาหลังฝนตกจะกระจายไปทั่ว เหมือนซอฟบ๊อกขนาดใหญ่ ทำให้แสงค่อนข้างนุ่ม ถ่ายภาพได้ง่ายกว่าปกติ และถ้าเป็นช่วงเวลาเย็น บางสถานที่เปิดไฟประดับสวยงาม ก็จะทำให้ได้ภาพที่น่าสนใจมากขึ้น

ในเรื่องของการจัดองค์ประกอบภาพ ถ้าเราถ่ายเพียงหยดน้ำอย่างเดียวไม่มีฉากหลัง เราจะเน้นเก็บ Pattern สวยๆของหยดน้ำ อาจจะเอียงกล้องเพื่อให้เกิดเส้นทแยงจากมุมภาพด้านใดด้านหนึ่งก็ได้ ทั้งนี้การขยับตัวขึ้นลงเล็กๆ น้อยๆ อาจจะทำให้ค้นพบมุมภาพใหม่ๆ หรือมุมภาพที่น่าสนใจยิ่งขึ้นได้

ส่วนการถ่ายภาพแบบที่มีฉากหลังนั้น พยายามอย่าให้หยดน้ำบดบังฉากหลังมากเกินไป ซึ่งจะทำให้ภาพดูรกมากเกินไปนั่นเอง การยกกล้องให้สูงขึ้นก็พอที่จะเลี่ยงความรกของหยดน้ำลงได้บ้าง

เทคนิคสำคัญในการถ่ายภาพหยดน้ำ ก็คือการเลือกใช้ F-stop การเลือกใช้ F-stop ที่เหมาะสม จะช่วยให้เรากำหนดจุดชัด และควบคุมช่วงความชัดของภาพได้ F-stop ที่กว้างมากเกินไปอาจจะทำให้ฉากหลังเบลอและพร่ามัวจนดูไม่รู้เรื่องว่าเป็นอะไร กลับกัน F-stop ที่แคบมากๆ ก็จะทำให้ทุกอย่างในภาพชัดเจนไปหมด ขาดความน่าสนใจไปได้ ทั้งนี้ค่าที่เหมาะสมนั้นก็จะขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยคือ 1. ระยะห่างของกล้องถึงหยดน้ำ 2. ระยะห่างของหยดน้ำถึงฉากหลัง และ 3. ทางยาวโฟกัสของเลนส์ที่เราเลือกใช้

การถ่ายภาพหยดน้ำหรือน้ำค้างนั้น เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการจัดองค์ประกอบภาพ และการเลือกมุมมองในการถ่ายภาพหลายครั้งที่เราอาจจะไปติดฝนอยู่ที่ใดที่หนึ่ง หรือแม้แต่บนรถระหว่างเดินทาง การถ่ายภาพหยดน้ำ อาจจะทำให้วันที่แสนน่าเบื่อของเรา กลายเป็นวันที่ดีก็ได้นะครับ อย่าลืมที่จะทำการถ่ายภาพอย่างรวดเร็ว เพื่อแข่งกับเวลา เพราะเมื่อแสงแดดเริ่มแรงขึ้นเรื่อยๆ แล้วนั้น โอกาสในการถ่ายภาพหยดน้ำจะน้อยลงไปด้วย เพราะหยดน้ำเริ่มระเหยไปหมดแล้วนั่นเองครับ…