เรื่อง+ภาพ : นพดล อาชาสันติสุข…..

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 238/2017 July

พี่นพ…เจอนกเฝ้ารังอยู่…ไปถ่ายกันไหมพี่…” สมโภช แตงไทย น้องที่ช่วยงานของ CAMERART บอกข่าวมา เลยถามว่า…“นกอะไรโภช”…คำตอบก็คือ…“นกกระจิบหญ้าสีเรียบ”….ถามกลับไป… “อยู่ที่ไหนละ”…โภชตอบว่า…“สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ

จุดเริ่มต้นของการ…ตาม สมโภช….ไปถ่ายนก… ซึ่งโดยปกติแล้ว เรื่องการไปถ่ายภาพนก จะเป็นงานที่ผมไม่ถนัดนัก แต่เนื่องจากความที่ต้องสอนถ่ายภาพอยู่เสมอๆ ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีผู้ถามเรื่องวิธีการถ่ายภาพนก….

ถ้าเป็นเมื่อสิบกว่าปีก่อน เมื่อมีผู้ถามเรื่องวิธีการถ่ายภาพนกแล้ว ผมก็จะขอตอบตามตรงเลยว่า การถ่ายภาพนก นั้นเป็นงานที่ผมไม่มีความถนัดเลย ไม่เคยได้ถ่ายภาพนกจริงๆ นอกจากถ่ายภาพนกในกรงนกใหญ่ๆ เท่านั้น ผมบอกเสมอว่า การสอนถ่ายภาพเฉพาะทางนั้น ผมจะบอกไปตามตรงเลยว่าผมไม่มีความถนัดในเรื่องนั้น  ผมไม่อายที่จะบอกว่า ไม่รู้ ไม่ถนัด ดีกว่าที่จะบอกไปแบบผิดๆ ถ้าไม่เคยศึกษา ไม่เคยลองถ่าย ฝึกถ่ายมาก่อน ผมจะไม่กล้ายืนยันในเรื่องนั้นๆ แต่ในหลายปีมานี้ ได้เคยลองถ่ายนก  ฝึกถ่ายนก  ก็สามารถตอบคำถามในเรื่องวิธีการถ่ายให้กับผู้ถามได้ ยกเว้นเรื่องเดียว ก็คือ เรื่องความรู้เกี่ยวกับชนิดของนก พฤติกรรมของนกแต่ละชนิดที่เรียนตามตรงว่า ผมไม่รู้เรื่องเอาเสียเลย 

อีกเรื่องหนึ่ง ที่ผมไม่ออกไปถ่ายนกอย่างพร่ำเพรื่อเพราะว่า ผมไม่ออกไปถ่ายนกโดยไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับการออกไปถ่าย เนื่องจากว่า ผมไม่อยากพลั้งเผลอ ไปทำลายธรรมชาติ หรือไปรบกวนความเป็นอยู่ในธรรมชาติของนกโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

ดังนั้นถ้าผมจะออกไปถ่ายภาพนก ผมจะไปกับผู้รู้เรื่องนก และการไปถ่ายภาพก็จะไม่เป็นการรบกวนวิถีชีวิตของนกในธรรมชาติอย่าง สมโภช แตงไทย ผมรู้ว่าน้องคนนี้เป็นคน รักธรรมชาติ ชอบการถ่ายนก ศึกษาเรื่องนกรู้จักธรรมชาติของนก  การไปถ่ายภาพก็คำนึงถึงสภาพที่จะไม่ไปรบกวนนก

อย่างไรก็ตามก่อนไปถ่ายภาพ ผมก็ยังได้สอบถามถึง สภาพการไปถ่ายภาพเหมือนกัน ที่สมโภชชวนผมไปถ่ายภาพนกครั้งนี้  หนึ่งคือ สถานที่อยู่ใน กทม. เอง สะดวกที่จะปลีกเวลาไปได้ สองคือ จากพื้นที่ที่จะไปถ่ายภาพพิจารณาแล้วว่า เราจะไม่ได้ไปรบกวนธรรมชาติของนก และประการสุดท้าย เป็นนกในสวน ที่คุ้นกับผู้คน ไม่เป็นภาระที่จะต้องบังไพรแต่ประการใด  สามารถตั้งกล้องระยะห่างถ่ายภาพได้เลย 

นัดกันมั่นหมาย เวลาบ่ายสามโมงครึ่ง  บ่ายสี่โมง เราก็พร้อมกันที่ “สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เตรียมพร้อมกล้องถ่ายภาพ D-SLR พร้อมเลนส์ 200-500 มม. และ ขาตั้งกล้อง 

เตรียมความพร้อมเรื่องกล้อง

การถ่ายภาพนก สิ่งที่ต้องพร้อม  ตั้งแต่เรื่องกล้อง แบตเตอรี่พร้อม การ์ดบันทึกภาพพร้อม กล้องที่ใช้คราวนี้ ผมหยิบเอากล้อง Nikon D750 มาพร้อมเลนส์ AF-S Nikkor 200-500 mm. ED VR เดี๋ยวเพื่อนๆจะงงว่าผมใช้คำว่าหยิบกล้องตัวนี้มา ต้องเรียนว่า ผมใช้กล้องมีทั้ง Canon, Nikon, Sony บางทีก็ยืมเอา Olympus ที่ น้องโอ๋ใช้อยู่อีกตัว ขึ้นกับความสะดวกในการใช้งานนะครับ คราวนี้ที่เลือกเอา Nikon เพราะว่า ชุด Nikon ผมมีช่วงเลนส์ที่จะใช้งานได้มากที่สุดถึง 500 มม. สำหรับชุดอื่นๆ มีสูงสุดแค่ 400 มม. เท่านั้น ช่วงเลนส์ที่ยาวกว่าถือว่าให้ความสะดวกมากกว่าสำหรับการถ่ายภาพนกครับ

ก่อนการถ่ายภาพสิ่งที่ไม่ควรลืมก็คือ  การปรับตั้งค่าการถ่ายภาพ การถ่ายภาพนกนั้น เราใช้ความไวชัตเตอร์สูง ขนาดประมาณอย่างต่ำก็ 1/250 วินาที แต่ถ้าจะให้ดีง่ายต่อการถ่ายภาพ 1/500 ถึง 1/2000 วินาที คือ ความไวชัตเตอร์ที่น่าใช้งานครับ เมื่อเป็น เช่นนี้ ความไวแสงในการถ่ายภาพ ส่วนมากเราเริ่มกันที่ ISO 400-800 ทั้งนี้ขึ้นกับสภาพแสงที่จะถ่ายภาพ จากสภาพแสงวันนี้ผมเลือกเริ่มต้นที่ ISO 400 ครับ หรืออาจจะเลือกความไวแสงเป็นระบบ Auto แต่ควรตั้งค่าจำกัดไว้ไม่เกิน ISO 3200 หรือ 6400 เพื่อไม่ให้ Noise สูงเกินไป ระบบ WB ถ้าสะดวกก็เลือกที่ Auto WB สำหรับผมเลือกเป็นระบบ Kelvin เริ่มต้นที่ 5300K ตั้งระบบถ่ายภาพเป็นระบบ Shutter Priority AE หรือ Manual แล้วแต่ความถนัดในการถ่ายภาพ การถ่ายภาพตั้งเป็นการถ่ายภาพต่อเนื่อง

ประการสำคัญที่ต้องปรับตั้งกล้องก็คือระบบโฟกัสภาพของกล้อง ตั้งระบบโฟกัสภาพเป็นระบบโฟกัสภาพแบบต่อเนื่อง [AF-C] ถ้ากล้องมีระบบโฟกัสติดตามวัตถุ ตั้งระบบโฟกัสให้ติดตามวัตถุ [Tracking] ติดตั้งกล้องกับขาตั้งกล้องให้แน่นหนา

บางท่านอาจจะถามว่า แล้วตั้ง File ภาพเป็นอะไร ผมเรียนไว้เลยว่า ถ้าให้สมบูรณ์ ตั้ง RAW+JPEG ถ้าต้องการใช้งานเลย JPEG ใช้งานได้ทันที แต่ถ้าต้อง Process ภาพให้สมบูรณ์ RAW ให้ภาพที่สมบูรณ์ได้มากกว่าครับ

พร้อมสำหรับการถ่ายนก

กล้องพร้อม ตั้งค่ากล้อง เรียบร้อย คราวนี้คุณก็พร้อมสำหรับการถ่ายภาพนกแล้วครับ…

แต่…อย่าเพิ่งรีบร้อนครับ…ผมบอกไว้แล้วว่า… การถ่ายภาพนก… ถ้าเราไม่มีความชำนาญเกี่ยวกับเรื่องนก ก็ควรไปกับผู้มีความชำนาญในเรื่องนก เพราะผู้ชำนาญเรื่องนก จะรู้ว่า นก อยู่ที่ไหน จะหาเจอได้อย่างไร พูดง่ายๆ ก็คือ จะเป็นผู้ช่วยในการชี้เป้าในการถ่ายภาพได้ง่ายขึ้น ครั้งนี้…ได้ สมโภช แตงไทย มาเป็นผู้ชี้เป้า ง่ายไปเยอะเลย 

เริ่มจากการชี้ตำแหน่งของรังนก ซึ่งแม้จะอยู่ไม่ห่างนัก แต่ถ้าไม่ใช่นักสังเกตก็คงมองไม่เห็น หรือมองเห็น แต่รอบนี้ต้องบอกว่าเห็นง่าย เพราะบังเอิญ รักนกไปเกาะอยู่ที่กิ่งใบบัว ที่คนสวนผูกอยู่กับไม้พอดี จึงเห็นได้ง่าย

แต่อย่าเพิ่งคิดว่าจะเห็นนก แล้วถ่ายเลยนะครับ สิ่งที่ผู้ชำนาญในเรื่องนก จะเป็นผู้ชี้เป้าได้ชัดเจนก็คือ ปกตินกจะไม่เข้ารังทันที จะมีกิ่งเกาะก่อนเข้ารัง เป็นสัญชาติญาณของการระวังภัย ดังนั้นในการถ่ายภาพ เราก็จะสามารถคาดเดาจากผู้ชี้เป้าได้ว่า นกที่ต้องการถ่ายภาพนั้น จะมาเกาะที่จุดใดก่อน แล้วจึงจะมาเกาะที่รัง นั่นทำให้เราทราบได้ว่า เราควรจะเล็งกล้องไปที่ตำแหน่งใดบ้างสำหรับการถ่ายภาพ

สิ่งสุดท้าย เรื่องของเสียง และสมาธิ  ในการถ่ายภาพ ความเงียบ คือ สิ่งที่ดีที่สุด  เพื่อไม่ให้นกตกใจ สมาธิที่จดจ่อ รอคอย  นกมาเกาะ และการถ่ายภาพ 

เรื่องเวลาที่เหมาะสมสำหรับการถ่ายภาพ ผู้ที่รู้จักธรรมชาติของนก คือ ผู้ที่รู้ว่าเวลาเหมาะสมสำหรับการถ่ายภาพนก น่าจะเป็นช่วงเวลาไหนของวัน ซึ่งจะทำให้เรามีโอกาสที่จะถ่ายภาพนกได้ การรอคอยคือ สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องรอ หลังจากนี้คือ การถ่ายภาพ เมื่อนกมาเกาะกิ่งไม้ครับ

ได้ภาพนกมาแล้ว อย่าเพิ่งคิดว่าภาพที่ได้จะได้ภาพนกที่ใหญ่อย่างที่เห็นกันใน Social ครับ แม้ว่าจะใช้เลนส์ขนาด 500 มม. แล้วก็ตาม ผมอยากจะบอกว่า 80-90 % ที่เห็น เป็นภาพที่ Crop ตัดส่วนมาอีกครั้งหนึ่งครับ  โอกาสที่จะได้นกมาเต็มเฟรมเลยทีเดียว มีน้อยมาก เรื่องระยะห่างประการหนึ่ง เรื่องขนาดนก เป็นอีกเรื่องหนึ่ง อย่างคราวนี้  นกกระจิบหญ้าสีเรียบ ตัวนิดเดียวเอง ดังนั้น การถ่ายภาพจึงต้องถ่ายให้ได้ชัดเจน เมื่อนำมา Crop ตัดส่วนภาพจึงจะได้ภาพนกที่สมบูรณ์  อีกครั้งหนึ่ง   

ขอบคุณ สมโภช แตงไทย ที่ชวนมาถ่ายภาพนกครั้งนี้ และชี้เป้าที่ชัดเจน ได้ภาพนกคราวนี้ ถ้าบอกว่าได้ภาพที่ถูกใจไหม ก็ขอตอบว่า ได้ภาพที่ถูกใจได้มากเลย แต่ที่อยากได้อีกก็คือ นกที่มีลีลาในการบิน ซึ่งคราวนี้ไม่ได้เลย ที่ได้มาก็ไม่ชัด ผมได้ลงรูปที่ไม่ชัดให้ดูด้วย ต้องหาโอกาสมาแก้มือครับ ถ่ายนก เรื่องเร้าใจ ก็คือ จังหวะการกดชัตเตอร์ ว่าจะได้ภาพหรือไม่ ได้ภาพแล้ว ถูกใจหรือไม่ครับ