เรื่อง+ภาพ : ApochTophy’S

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 244/2018 January

ในการจัดองค์ประกอบภาพมีกฎการจัดองค์ประกอบที่เราคุ้นเคยและได้ยินการแนะนำบ่อยๆ เช่นกฎสามส่วนหรือ rules of third ซึ่งในบางครั้งเราก็พบว่ากฎสามส่วนที่เรารู้จักนั้นไม่สามารถใช้งานได้กับภาพหลายลักษณะเช่นนี้แล้วเราจะทำอย่างไรดีและถ้าผมจะบอกว่าศิลปินทั้งในอดีตและปัจจุบันหลายคนไม่ได้ใช้ rules of third ในการจัดองค์ประกอบคุณจะเชื่อหรือไม่! ถึงจะไม่น่าเชื่อแต่มันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เสียด้วยคำถามคือว่าแล้วกฎอะไรล่ะที่พวกเขาเรานั้นใช้ในการทำงานกันซึ่งนั่นก็คือหัวข้อของบทความในครั้งนี้กับกฎที่ศิลปินนักวาดภาพและนักถ่ายภาพหลายคนใช้นั้นก็คือ Dynamic Symmetry นั่นเอง

Dynamic Symmetry เป็นหลักการออกแบบเชิงเรขาคณิตที่ใช้มาเมื่อ 2,500 ปีที่แล้วหลักการของ Dynamic Symmetry ก็คือการจัดวางองค์ประกอบภาพให้สมดุล เป็นกฎที่ศิลปินนักวาดภาพนิยมใช้อีกกฎหนึ่ง โดยเฉพาะงานที่มีความสลับซับซ้อนมีองค์ประกอบที่หลากหลาย ซึ่งการใช้กฎอื่นดูจะจัดวางองค์ประกอบได้ยากแต่ Dynamic Symmetry กับทำงานได้อย่างดีทีเดียว           

ที่ผมบอกว่า Dynamic Symmetry ทำงานได้ดีนั้นก็เพราะว่า Dynamic Symmetry เป็นการรวมเส้นตั้งเส้นนอนและเส้นทแยงมุม มาใช้ในการจัดวางองค์ประกอบในพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้า เหมาะสำหรับการจัดวางองค์ประกอบที่มีจำนวนวัตถุมากๆ มีความหลากหลายในเรื่องตำแหน่งที่ซับซ้อน โดยมุ่งหวังให้เกิดจุดสนใจที่โดดเด่นและได้สมดุลของภาพโดยรวมไปพร้อมกัน

หลักการออกแบบเหล่านี้ถูกใช้โดยศิลปินชั้นบรมครูอย่าง ดาวินชี, พิกัสโซ และอีกมากมาย มันใช้กับศิลปินชั้นยอดสมัยใหม่อย่าง Juliette Aristides, Daniel F. Gerhartz, Nelson Shanks, Dot Bunn, Sidney McGinley และJeffrey Watts และใช้กับช่างภาพอย่าง Henri Cartier-Bresson, Alex Webb, Leonard Freed, Elliott Erwitt, Constantine Manos

Dynamic Symmetry เส้นที่ตัดผ่านไขว้กันไปมาที่เราเห็น มันเกิดจากการนำสัดส่วนทองคำและคณิตศาสตร์ มาคิด คำนวณ ทดลอง จนเป็นองค์ประกอบที่สามารถสร้างความต่อเนื่อง เชื่อมโยง องค์ประกอบภายในภาพให้เข้ากันได้ Dynamic Symmetry จึงถูกนำไปใช้ทั้งใน งานจิตรกรรม งานประติมากรรม งานศิลปะแขนงต่างๆ รวมทั้งงานภาพถ่าย

หลายๆ คนไม่คุ้นเคยกับ Dynamic symmetry เพราะเข้าใจว่ามันใช้ยากและต้องการความเข้าใจในเรื่องของคณิตศาสตร์ขั้นสุดที่จะเรียนรู้ แต่อันที่จริงแล้ว มันไม่จริงถ้าศิลปินต้องการที่จะใช้เวลาในการศึกษาพื้นฐานการออกแบบบางอย่างมันจะทำให้งานของเขาพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วและก็เพราะว่า Dynamic symmetry เป็นเรขาคณิตเชิงกายภาพมันไม่ต้องการการคำนวณที่ซับซ้อนหรือความรู้ในคณิตศาสตร์ Dynamic symmetry นั้นใช้กับนักวาด, ช่างภาพ, ติมากร, นักออกแบบ

เส้นใน Dynamic symmetry 

เมื่อเราพิจารณาลักษณะของเส้นตัดใน Dynamic symmetry  นั้นจะพบว่ามีเส้นตัดกันมากมาย ก่อนอื่นเลยเรามาทำความเข้าใจก่อนว่าแต่ล่ะเส้นมีที่มาและการใช้งานอย่างไร

เส้นทแยงมุมหลัก และเส้นตรงข้าม (Main Diagonal & Reciprocals)

เส้นทแยงมุม (Main Diagonal) เป็นเส้นไกด์แบ่งขอบเขตในการวางองค์ประกอบหลักของภาพ ทำหน้าที่แบ่งพื้นที่สำหรับการสร้างสมดุลทั้ง 2 ด้าน หรือใช้เพื่อเป็นเส้นนำสายตาเชื่อมโยงจากองค์ประกอบจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง หรือนำสายตาไปสู่จุดสนใจของภาพ.

เส้นตรงข้าม (Reciprocals) เป็นเส้นจากมุมที่ตัดกับเส้นทแยงมุมในแนวตั้งฉาก เป็นเส้นไกด์ในการวางองค์ประกอบเสริมเพื่อสร้างสมดุลของภาพ

ในการใช้เส้นทแยงมุมหลัก และ เส้นตรงข้าม เราสามารถกำหนดได้ว่า จะเลือกใช้เพียงเส้นทแยงมุมด้านใดด้านหนึ่ง หรือใช้ร่วมกันทั้ง 2 เส้นทแยงมุมก็ได้ เส้นตรงข้าม หรือเส้น Reciprocals ก็เช่นกัน สามารถใช้เพียงเส้นใดเส้นหนึ่ง หรือใช้ทั้งหมดทุกเส้นก็ได้ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความต้องการของเราเอง

เส้นแนวตั้ง และ แนวนอน (Verticals & Horizontals)

เส้นแนวตั้ง และเส้นแนวนอนนั้น ถูกกำหนดโดยตำแหน่งที่ตัดกันของเส้นต่างๆ ทั้ง เส้นทแยงมุม (Diagonals) และ เส้นตรงข้าม (Reciprocals) เป็นเส้นไกด์สำหรับแบ่งขอบเขตของภาพ ซึ่งจะเป็นไปตามจุดตัดที่เกิดขึ้นจากเส้นทแยงมุม และเส้นตรงข้ามนั่นเอง

จุดตัด (Points)

จุดตัดของเส้นแกน เป็นตำแหน่งที่เหมาะสมในการวางจุดสนใจของภาพ ซึ่งจะเห็นได้ว่าเราสามารถวางจุดสนใจของภาพได้มากกว่าหนึ่งจุด แต่ต้องระวังถึงการแย่งความสนใจกันเองของแต่ล่ะจุดเด่นนั้นๆ โดยเฉพาะระหว่างตัวแบบกับพื้นหลังซึ่งในภาพอาจจะมีความแตกต่างกันออกไป และควรอย่าละเลยเส้นนำสายตาที่เกาะไปตามแกน เพื่อเชื่อมโยงจุดสนใจของภาพจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งด้วย

รูปแบบต่างๆของ Dynamic Symmetry

Dynamic Symmetry ในงานศิลปะ

ตัวอย่างภาพถ่ายของ Annie Leibovitz ภาพนี้เป็นตัวอย่างที่ถูกหยิบยกมาบ่อยครั้งที่สุดเมื่อพูดถึงการวางองค์ประกอบแบบ Dynamic Symmetry เพราะถึงแม้จุดเด่นของภาพคือนางแบบถึง 10 คน แต่ทุกคนต่างโดดเด่นและส่งเสริมซึ่งกันและกัน และภาพรวมยังรู้สึกถึงความสมดุล

สังเกตว่าองค์ประกอบภายในภาพนี้ถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มย่อยๆ ซึ่งในแต่ละกลุ่มก็มีเส้นแกนของตัวเองอีกชุดหนึ่ง เมื่อลองดูนางแบบในกลุ่มย่อยก็จะพบว่า ใบหน้าของทุกคนจะอยู่ในบริเวณจุดตัดของเส้นแทบทั้งสิ้น และเมื่อลองดูเส้นแกนต่างๆในภาพใหญ่ ก็พบว่านางแบบก็ยังคงอยู่ตามแนวแกนเช่นเดียวกัน

ในภาพนี้ยังใช้วิธีการที่ทำให้ใบหน้าของนางแบบโดดเด่นขึ้น จากการให้นางแบบสวมใส่เสื้อผ้าสีเข้ม บนฉากหลังสีเข้ม และสร้างความสมดุลทั้งภาพ ด้วยการใช้นางแบบ 9 คน แบ่งแต่ละกลุ่ม ให้มี 3 คน และเกาะกลุ่มกระจายกันเต็มพื้นที่ 2 ส่วนล่างของภาพ มี 1 คนในชุดสีอ่อน ยืนสูงตามเส้นแนวตั้งในกลุ่มย่อย ใช้ภาพวาดรูปคนยืนสีอ่อนกว่าฉากหลัง มาสร้างน้ำหนักสมดุลในเส้นแนวตั้งด้านขวา แม้ตัวภาพจะดูเหมือนมีขนาดเล็กกว่านางแบบด้านซ้าย แต่เมื่อรวมกับน้ำหนักของกรอบรูป ก็ทำให้เกิดสมดุลได้

Dynamic Symmetryในภาพของ Henri Cartier-Bresson’s

Dynamic Symmetryในภาพของ Henri Cartier-Bresson’s

Dynamic Symmetryในภาพของ Henri Cartier-Bresson’s

Dynamic Symmetry เป็นอีกกฎหนึ่งในการจัดองค์ประกอบที่ถูกนำมาใช้ในการจัดองค์ประกอบภาพที่มีความซับซ้อน การฝึกใช้ Dynamic Symmetry ให้เกิดความเคยชินจะทำให้เราจัดวางองค์ประกอบต่างๆ ในภาพได้ง่ายและได้สมดุลในภาพที่ดี นับว่าเป็นเทคนิคการจัดองค์ประกอบชั้นสูงที่ต้องใช้การทำซ้ำบ่อยๆ จนมองภาพออก และจะส่งผลต่อคุณภาพของผลงานของเราที่ดียิ่งขึ้นกว่าเดิมครับ…