เรื่อง+ภาพ : ศุภฤกษ์ นฤเบศร์ไกรสีห์

ปกติผมไม่ชอบเที่ยวถ่ายภาพทะเลเอามากๆ ประเภทให้ไปยอมนอนอยู่บ้านดีกว่า สาเหตุหลักเพราะมันร้อนๆๆๆๆๆ และเหนียวตัวแบบสุดๆ แต่พักหลังเห็นภาพ “ต้มทะเล” หรือภาพทะเลกับคลื่นนุ่มๆ ที่เกิดจากการเปิดรับแสงนานๆ ทำให้คลื่นพลิ้วอย่างสวยด้านหลังเป็นพระอาทิตย์ตกบ่อยๆ ชักอยากจะไปถ่ายภาพแบบนี้บ้าง แต่ความอยากยังไม่มากพอที่จะทำให้ออกจากบ้านไปผจญความร้อนริมทะเล ผมก็เลยไม่มีภาพทะเลสวยๆ กับเขาสักที จนกระทั่งทางตัวแทนจำหน่าย LEE Filter คือ IMG (http://www.img-distribution.com/lee-filters-100mm) มาทำความรู้จักกับผม (ในฐานะนักถ่ายภาพและนักรีวิว) และส่งฟิลเตอร์มาให้ลองใช้งานแบบไม่กำหนดเวลาว่าต้องลองเมื่อไร ผมเองปกติก็ใช้แต่ฟิลเตอร์แก้วกลมไม่กี่แบบ พวก ND, PL พื้นฐาน นอกนั้นไม่ได้ใช้เลย ก็เลยไม่ได้ลองสักที ฟิลเตอร์ LEE เหมาะกับเวลาถ่ายพระอาทิตย์ตอนเย็นและเช้า ถ่ายเมฆเคลื่อน น้ำพลิ้ว เสกคนให้หายไป อะไรทำนองนี้ ซึ่งงานประเภทนี้ผมถ่ายไม่เยอะซะด้วยก็เลยไม่ได้ลองสักที จนกระทั่งมีโอกาสไปถ่ายภาพ Seascapeเพื่อทำงานคอนเทนท์ของ Nikon ก็เลยไปที่เขาแหลมหญ้า จังหวัดระยอง ที่นี่ทะเลคลื่นแรงใช้ได้ วิวสวย ได้ทั้งฉากหน้าและฉากหลัง พระอาทิตย์ขึ้นแบบสมบูรณ์แบบมาก ได้ทั้งเช้าและเย็น เช้าก็สวย เย็นก็แจ่ม จะมีช่วงกลางวันที่แดดแจ๋มากต้องหลบร้อนแบบเอาชีวิตรอดสักหน่อย ผมเลยเล็งเอาไว้ว่าจะกลับมาถ่ายภาพเขาแหลมหญ้าอย่างจริงๆ จังๆ อีกสักรอบน่าจะเป็นการดี และที่ดีที่สุดคือ ควรมากับกล้อง Medium Format อย่าง FUJIMILM GFX

เวลาผ่านไปเกือบ 4 เดือน ในที่สุดผมก็ได้มาเขาแหลมหญ้าแบบตั้งใจอีกรอบ คราวนี้มาพร้อมกับกล้อง FUJIMILM GFX 50s และเลนส์ FUJINON GF 23 mm. F4 ซึ่งเทียบเท่ากับเลนส์ 18 mm. ของกล้อง Full Frame และฟิลเตอร์ LEE ทั้ง ND 0.6 0.9 64 และ 1000 กับฟิลเตอร์ครึ่งซีกทั้ง Hard (ตัดแนวแบบไม่ไล่โทน) และ Soft (ตัดแนวแบบไล่โทน) เรียกว่าอาวุธครบมือ แถมมีขาตั้งกล้องตัวใหม่ใหญ่บึ้ม Slik CF4 Pro สู้กับคลื่นซัดได้สบายๆ ที่เหลือมีสายกดชัตเตอร์ ฟิลเตอร์ Cir-PL ที่ขาดไม่ได้คือ ผ้าขนหนูกับน้ำเปล่าสะอาดๆ เอาไว้รับมือกับน้ำทะเลซัดเข้ากล้อง การถ่ายภาพทะเล Seascape มีเทคนิคเฉพาะหลายอย่าง เรียงไล่ตามความสำคัญ เริ่มจาก

1. กล้องและเลนส์แบบ WR กล้องควรเป็นกล้องแบบ Weather Resistance เวลาอยู่ริมทะเลจะมีละอองน้ำทะเล ฝุ่นทรายละเอียดเป็นจำนวนมากพัดเข้ามาซึ่งเราจะสังเกตุไม่เห็นเลย พวกไอเกลือและฝุ่นทรายสามารถสร้างความเสียหายได้ในระยะยาว กล้องที่ใช้งานริมทะเลบ่อยๆ ยาวๆ จึงควรเป็นกล้องและเลนส์แบบ WR จะป้องกันไอเกลือและฝุ่นทรายได้ดีกว่า แต่ไม่ได้หมายความว่ากล้องที่ถ่ายต้องเป็น WR เท่านั้น กล้องปกติก็สามารถใช้ได้เช่นกัน แต่ให้ระมัดระวังมากขึ้นเท่านั้นเอง กล้องที่ใช้ต้องใช้สายกดชัตเตอร์ได้ เปิดรับแสงยาวๆ และตั้งชัตเตอร์ B ได้ ส่วนเลนส์จะใช้เลนส์มุมกว้างเป็นหลัก ส่วนจะกว้างแค่ไหนแล้วแต่มุมภาพ ไม่ได้กำหนดตายตัว ในทริปนี้ผมเอา FUJIMILM GFX  

2. ผ้าขนหนูผืนเล็กชุบน้ำ หรือถุงพลาสติก เวลาที่ถ่ายภาพ ผมแนะนำให้เอาผ้าขนหนูชุบน้ำหมาดๆ คลุมกล้องเอาไว้ โผล่ไว้แต่หน้าเลนส์ หรือไม่ก็เอาถุงพลาสติกคลุมกล้องเอาไว้เพื่อสะท้อนความร้อนและป้องกันไอเกลือและฝุ่นไม่ให้เข้ากล้องโดยไม่จำเป็น การคลุมกล้องสำคัญมากเพราะเวลาถ่ายภาพทะเลมีโอกาสโดนน้ำทะเลซัดกล้องแบบเต็มๆ ถ้าเอาผ้าหรือพลาสติกคลุมไว้จะช่วยป้องกันกล้องและเลนส์ได้มากทีเดียว

3. ขาตั้งกล้อง ต้องใช้ขาตั้งกล้องที่แข็งแรงมากๆ มีน้ำหนักสักหน่อย และสูงพอควร ขาตั้งกล้องเล็กเวลาโดนคลื่นซัดจะสั่นมาก ทำให้ภาพสั่นไหว ควรมีน้ำหนักถ่วงขาตั้งให้หนักจะได้มั่นคงมากขึ้น หรือไม่ก็กดขาตั้งกลับพื้นแรงๆ เพื่อให้ขานิ่งเวลาโดนน้ำซัด ส่วนความสูงของขาจะมีประโยชน์เวลาต้องกางขาตั้งบนหินต่างระดับ ไม่สามารถปักขาไว้บนทรายที่โดนน้ำซัดได้ เพราะทรายที่ปลายขาจะโดนน้ำซัดออกไปตลอดเวลาทำให้ขาขยับ ต้องกางบนหินจะมั่นคงกว่า

4. ฟิลเตอร์ ND หรือ Graduate ฟิลเตอร์ ND มีประโยชน์ใช้ในการลดแสงเพื่อให้ใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำลงในระดับที่ต้องการได้ ND ที่ใช้จะมีหลายตัว ND1000 ใช้ช่วงแสงแดดจ้ามาก ND64 ใช้ช่วงเช้าและเย็นกับช่วงพระอาทิตย์ขึ้นและตก ส่วน ND0.9 หรือ 0.6 เอาไว้ช่วงโพล้เพล้ ส่วน Graduate เอาไว้ปรับความสว่างของท้องฟ้าหรือพื้นล่างให้สมดุลกัน จะได้เห็นรายละเอียด สีสัน และคุมแสงได้ง่ายขึ้นด้วย

5. สายกดชัตเตอร์ แนะนำให้ใช้เพราะการขยับกล้องเพียงเล็กน้อยมีผลต่อความคมชัดของภาพทันที การใช้สายกดชัตเตอร์จะเสี่ยงต่อการสั่นไหวของภาพน้อยกว่า

6. ผ้าเช็ดเลนส์หลายๆ ผืน และกระดาษทิชชู่เนื้อละเอียด มีโอกาสสูงมากเกือบ 100% ที่อุปกรณ์จะโดนน้ำทะเล การมีหยดน้ำหรือคราบน้ำบนฟิลเตอร์จะทำให้เกิดรอยวงน้ำบนภาพ ภาพไม่ชัดเป็นดวงๆ โดยเฉพาะเวลาที่ใช้เลนส์มุมกว้างมากๆ และช่องรับแสงแคบจะยิ่งเห็นชัดเจนยิ่งขึ้น ต้องเอาน้ำเปล่าล้างฟิลเตอร์แล้วใช้ผ้าเช็ดเลนส์ซับแห้ง (ไม่แนะนำให้เช็ด) ที่ต้องมีผ้าหลายผืนเพราะว่าเช็ดไปไม่นานผ้าจะเปียก เกิดคราบบนฟิลเตอร์ ต้องเปลี่ยนผืน และมันจะมีคราบน้ำเกลือทำให้เช็ดเลนส์แล้วไม่ใส ทำให้เกิดแสงฟุ้งแสงแฟร์ได้ง่าย จึงต้องเปลี่ยนผ้าบ่อยๆ หรือมีกระดาษทิชชู่เนื้อละเอียดสำหรับการซับคราบน้ำที่ฟิลเตอร์ก่อนจะใช้ผ้าเช็ดเลนส์ เมื่อจบทริปในวันนั้นควรซักผ้าด้วยน้ำยาล้างจานแล้วผึ่งลมให้แห้งเตรียมใช้ในวันต่อไป

ในการถ่ายภาพทะเล มีการถ่ายภาพยู่หลายแนว ในทุกๆ แนว สิ่งสำคัญคือ มุมกล้อง แสง จังหวะการถ่ายภาพ และเวลาเปิดรับแสง แนวการถ่ายภาพจริงๆ ไม่ได้จำกัดว่าต้องถ่ายภาพแบบนั้นแบบนี้ ขึ้นกับความคิดสร้างสรรค์ของคนถ่ายภาพเองเลย  แต่จะมีการแบ่งแนวเพื่อให้ง่ายต่อการฝึกการถ่ายภาพและจำแนกเทคนิคที่ใช้งาน  

แนวถ่ายแรก ที่แนะนำคือ การถ่ายภาพน้ำทะเลให้นุ่มๆ หรือที่เรียกว่า “การต้มทะเล” เทคนิค คือการเปิดรับแสงยาวๆ นานกว่า 30 วินาที เพื่อให้คลื่นพลิ้วจนเรียบคล้ายหมอก การตั้งกล้องควรหามุมที่มีหินโผล่จากน้ำหลายๆ ก้อน ถ้าไม่มีหินแทรกออกมาจะดูภาพราบเรียบเกินไป มุมกล้องควรสูงและกดลงนิดหน่อยเพื่อให้เห็นแผ่นน้ำกว้าง ตรงนั้นคลื่นไม่ควรแรงมากจนกลบโขดหิน การถ่ายภาพต้องใช้ขาตั้งกล้องเพราะมีการลากเวลาเปิดรับแสงให้ยาวมากและใช้สายกดชัตเตอร์ ใช้ความไวแสงต่ำ ช่องรับแสงแคบปานกลางเพื่อให้ความชัดลึกมากพอ หลักการสำคัญคือ การใช้ความเร็วชัตเตอร์ หากนานไปบางครั้งคลื่นนุ่มไปและไม่เห็นฟองคลื่นสีขาว หากเร็วเกินไปน้ำจะแข็งไม่พลิ้วเป็นหมอก ความเร็วที่เหมาะจะอยู่แถวๆ 15-30 วินาที ต้องมีการใช้ฟิลเตอร์ ND ช่วย ส่วนมากจะใช้ ND1000 หรือ ND64 เพื่อลดแสงให้ได้ความเร็วชัตเตอร์ในระดับที่ต้องการ แสงเงาจะนุ่มๆ หรือมีแดดเฉียงข้าง หรือเป็นช่วงโพล้เพล้ได้ทั้งนั้น แล้วแต่สไตล์ภาพที่ต้องการ ผมใช้ ND ทั้ง 4 เบอร์คือ 1000, 64, 0.9, 0.6 ครบหมดทุกแผ่นเพราะสภาพแสงมันเปลี่ยนตลอด ข้อควรระวังคือ อย่าใส่ ND เยอะเกินไปเพราะจะไปลดแสงส่วนมืดจนทำให้เซ็นเซอร์รับแสงไม่พอ ค่า Dynamic Range ของกล้องจะลดลงไป หากต้องมีการดึงส่วนขาวและดำจะดึงได้น้อยและมี Noise เข้ามากวน หากต้องลากชัตเตอร์ยาวมากๆ แนะนำให้ถ่ายภาพหลายๆ ภาพแล้วมาใช้กระบวนการ Stack ในการทำให้ภาพดูนุ่มลงเหมือนกันลากชัตเตอร์ยาวๆ หากมีการถ่ายภาพช่วงพระอาทิตย์ขึ้นหรือตกอาจจะใช้ฟิลเตอร์ครึ่งซีกช่วยลดแสงส่วนท้องฟ้า

แนวที่สอง คือ การถ่ายภาพคลื่นที่กำลังซัดเข้ามา การถ่ายภาพแนวนี้โอกาสกล้องและอุปกรณ์พังเยอะมาก เพราะมุมสวยมักเป็นมุมภาพกว้างๆ แล้วไปอยู่ในมุมที่คลื่นซัดเข้าหา แนะนำให้เอาผ้าหรือถุงพลาสติกคลุมกล้องแล้วโผล่แต่เลนส์ออกมานะครับ ใส่ฟิลเตอร์ให้เรียบร้อย แล้วเตรียมน้ำเปล่าไว้ล้างฟิลเตอร์สัก 1 ขวด มุมกล้องที่สวยมันเป็นมุมต่ำ มองเห็นคลื่นที่ซัดเข้ามาชัดๆ และต้องสูงมากพอที่จะเห็นภาพระยะไกลๆ ด้วยใช้ชัตเตอร์ต่ำนิดหน่อยแถว ¼ วินาที ถ้าเร็วกว่านี้น้ำจะแข็ง ช้ากว่านี้น้ำที่ซัดมาจะหายไป ขาตั้งต้องแข็งแรงมั่นคงพอที่จะรับมือกับน้ำซัดได้ รวมทั้งหาที่ยึดเกาะให้ดีเวลาน้ำซัดมาแรงๆ ภาพแนวน้ำซัดจะสวยมากเวลาถ่ายภาพด้วยแสงหลังหรือเฉียงหลัง น้ำจะได้รายละเอียดกระเซ็นสวย แนะนำให้ถ่ายภาพไว้หลายๆ ภาพเยอะๆ เผื่อเลือก เพราะเราจะไม่รู้แน่ๆ 100% ว่าคลื่นตอนไหนจะดีที่สุด ถ่ายไปเรื่อยๆ เผื่อเลือกในภายหลังดีกว่า เวลาที่โดนน้ำซัดเข้าหน้าฟิลเตอร์ แนะนำให้เอาน้ำเปล่าล้างก่อนแล้วซับน้ำให้แห้ง ควรขึ้นไปด้านบนฝั่งไกลๆ ละอองน้ำ เวลาเปลี่ยนเลนส์ต้องออกห่างจากละอองน้ำมากๆ ไม่เช่นนั้นจะมีคราบสกปรกที่เซ็นเซอร์ได้ สุดท้ายคือ ทำใจไว้ถ้ากล้องจะพังหรือหล่นน้ำ

ส่วนแนวที่สาม คือ ถ่ายภาพเน้นแนวหิน โขดหิน หาดทราย หรือสิ่งที่มีรายละเอียดเยอะๆ และมีพื้นผิวน่าสนใจ อย่างที่เขาแหลมหญ้าผมชอบแนวหินทรายที่มีรายละเอียดสูง แสงเช้าและแสงเย็นจะสวยมาก เน้นรายละเอียดหินแล้วไล่แนวไปทะเลจนสุดขอบฟ้า ให้พื้นที่ของแนวหินเยอะ ทะเลเป็นแค่ส่วนประกอบเล่าเรื่องเท่านั้นเอง ผมจะใช้เลนส์มุมกว้าง ตั้งกล้องสูงมาก เพื่อเอาแนวหิน ใช้ช่องรับแสงปานกลาง ถ่ายนิ่งๆ เน้นๆ คมๆ เพื่อเก็บรายละเอียดให้กริปที่สุด เวลาเปิดรับแสงจะนานมากเพื่อให้ทะเลนุ่มๆ ส่วนค่า White Balance มักตั้งเป็น Kelvin เพื่อปรับสีของภาพด้วยตัวเองแบบตามใจฉัน ภาพแนวนี้ถ่ายได้ทั้งวันที่มีแดด เน้นแสงเงาที่ตัวหินเยอะๆ

ปกติเวลาผมถ่ายภาพทะเล ผมจะถ่ายภาพทั้งสามแนว แล้วแต่สภาพพื้นที่และเวลา เช้ามืดกับหลังพระอาทิตย์ตกมักจะถ่ายแนวต้มทะเล ส่วนแสงเช้าและเย็นที่แสงสาดแรงถ่ายแนวสองกับสาม  ช่วงเที่ยงหากมีแนวหินที่เหมาะสมจะถ่ายภาพแนว 3 หรือไม่ก็นอนพักผ่อนหลบร้อนไปเลย การปรับค่าแสงผมใช้วิธีการมองภาพผ่านจอ EVF สะดวกสบายง่ายดี โดยเฉพาะเวลาใช้ ND 1000 กับ 64 สีของภาพหลังใส่ฟิลเตอร์จะเปลี่ยนไป ต้องปรับค่า White Balance และจูนสีสักหน่อยก็จะกลับมาสวยกริปๆ แล้ว ถ่ายภาพเป็น RAW+JPG ทุกภาพเผื่อเอาไว้ Process ในภายหลังเสมอ

ทริปนี้ผมใช้กล้อง FUJIMILM GFX เป็นกล้อง Medium Format เซ็นเซอร์ขนาด 52 ล้านพิกเซลขนาด 44×33 มิลลิเมตร  กล้องตัวนี้เหมาะมากกับการถ่ายภาพทะเล ให้ภาพรายละเอียดสูง คมกริปๆ สีสันสวยมาก และมีช่วงการเก็บรายละเอียดของแสงสูงมาก ภาพที่ได้จึงมีมีสันและมิติรายละเอียดที่สุดยอดมาก และยังมีระบบซีลป้องกันที่ดีมากด้วย ใช้เลนส์ FUJINON GF 23 mm. F4 ที่พึ่งออกมาใหม่ให้ความคมชัดที่ดีเยี่ยมมาก แต่ด้วยความเป็นกล้องเซ็นเซอร์ใหญ่ ต้องระมัดระวังเรื่องการคุมความชัดลึกให้ดี หากพลาดมันจะชัดไม่หมดทุกระยะ แนะนำให้ใช้สเกลชัดลึกที่กล้องแล้วถ่ายภาพหลายระยะชัดมาทำ Stack Focus ส่วนการถ่ายคร่อมค่าเปิดรับแสงเล่นยากมากเพราะเป็นภาพเคลื่อนไหว ต้องมาทำรีทัชอีกหลายขั้นตอน ส่วนฟิลเตอร์ LEE ที่ใช้ประทับใจมาก เรื่องแรกคือ ความคมชัดเปลี่ยนไปน้อยมาก สีอาจจะผิดไปแต่จูนกลับมาได้ง่ายและไม่มีปัญหาเวลาถ่ายภาพที่มีทั้งแดดออกและเงา ทำความสะอาดง่าย ใช้น้ำล้างๆ ซับๆ ก็ใช้งานได้ต่อแล้ว

การถ่ายภาพ Seascape มีหลักง่ายๆ อยู่เพียงเท่านี้เองในเบื้องต้น ที่เหลือไปหาประสบการณ์ มุมมอง และเทคนิคของตัวเอง ไม่ได้ยาก ขยันออกไปถ่ายภาพบ่อยๆ และขยันดูภาพ คิดวิธีปรับแก้ไข ก็จะก้าวหน้าได้รวดเร็วแบบไม่ยากนัก