เรื่อง+ภาพ : HCOP

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 264/2019 September

เดี๋ยวนี้การถ่ายภาพได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อนนะครับ ด้วยความสะดวกของเทคโนโลยีที่ทำให้เราได้ภาพที่สวยขึ้น ถ่ายภาพได้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการใช้โทรศัพท์มือถือมาถ่ายภาพด้วยแอพพลิเคชั่นต่างๆ อย่าง instagram ซึ่งเป็นแอพฯ ที่มีผู้ใช้กันทั่วโลก ทั้งช่างภาพมืออาชีพและช่างภาพสมัครเล่น ที่แชร์ภาพกันบนโลกออนไลน์ สิ่งหนึ่งที่เราเห็นได้ชัดบนความนิยมการถ่ายภาพในยุคนี้ก็คือ เฟรมภาพสี่เหลี่ยมจัตุรัส หรือที่เรียกกันว่า สัดส่วนของภาพแบบ 1:1

อันที่จริงแล้วสัดส่วนของภาพแบบ 1:1 นี้มีมาให้เห็นกันนานแล้วนะครับ ในสมัยยุคฟิล์มโดยสัดส่วนขนาดภาพแบบนี้ จะใช้ในกล้อง medium format ของ Hasselblad ซึ่งใช้ฟิล์ม 120 ให้ภาพขนาด 6×6 cm. (จึงมีการเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า format 6×6) ด้วยเสน่ห์ของกรอบภาพสี่เหลี่ยมจัตุรัส ของขนาดสัดส่วนภาพ 1:1 ทำให้ภาพไม่มีแนวตั้งและแนวนอน มีผู้ที่ชื่นชอบกรอบภาพแบบนี้มากมาย ด้วยอิสระในการนำภาพไปใช้งาน บนพื้นที่ฟิล์มขนาดใหญ่ ทำให้ช่างภาพโฆษณาหลายคนใช้กล้องที่ให้สัดส่วนภาพแบบ 1:1 เพื่อสามารถเลือกตัดส่วนภาพจะเป็นแนวตั้งหรือแนวนอนในภายหลังได้ หรือแม้แต่การนำไปใช้ในงานดีไซน์ที่กราฟิกจะเลือกตัดส่วนภาพได้อย่างเต็มที่นั่นเอง

นอกจากกล้อง medium format ที่ใช้งานในระดับมืออาชีพแล้ว ก็ยังมีกล้อง Polaroid ที่ให้เฟรมภาพสัดส่วนแบบ 1:1 ที่ในอดีตนั้นมีช่างภาพทั้งมืออาชีพและสมัครเล่นใช้กันมากมาย แม้ว่าในปัจจุบันจะมีผู้ที่ชื่นชอบภาพจากกล้อง Polaroid อยู่บ้างหลายกลุ่ม แต่ฟิล์มที่ให้ขนาดภาพสัดส่วนแบบ 1:1 ก็นับว่าหาซื้อได้ยากเต็มที แต่เสน่ห์ของภาพสัดส่วน 1:1 นั้นไม่ได้หมดตามไปด้วย แต่กลับมาแพร่หลายและได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้นอีกในยุคการถ่ายภาพดิจิตอล

ในเฟรมภาพสี่เหลี่ยมจัตุรัสนี้ มีเรื่องเล่าบอกต่อมากมาย จากบรรดาช่างภาพทั้งมืออาชีพ มือสมัครเล่น ดารา นักออกแบบ ฯลฯ ผู้คนหลากหลายอาชีพกำลังบอกเล่าเรื่องราวผ่านภาพถ่ายในกรอบสี่เหลี่ยมจัตุรัสนี้กันทุกวัน

Picture aspect ratio คือ สัดส่วนของภาพถ่ายในด้านยาว x ด้านกว้าง ขนาดภาพสัดส่วนแบบ 1:1 ก็คือภาพที่ด้านกว้างและด้านยาวของภาพนั้นมีขนาดเท่ากันทั้งสองด้าน เฟรมภาพจะเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส นั่นหมายความว่า ภาพแบบนี้จะไม่มีแนวตั้งหรือแนวนอน ดังนั้นในเรื่องขององค์ประกอบภาพ จึงนับว่าต้องให้ความสำคัญ

สัดส่วนภาพแบบ 1:1 นี้ให้อิสระในการวางเฟรมภาพได้มากมาย โดยไม่มีแนวตั้งหรือแนวนอนของภาพมากำหนด ภาพสัดส่วน 1:1 นั้นจะมีลักษณะของความสมดุล ด้วยด้านที่เท่ากันทั้งสี่ด้านของภาพ แตกต่างจากภาพจากขนาดภาพปกติ (3:2 หรือ 4:3) ที่วัตถุในภาพจะถูกเน้นไปโดยปริยาย ถ้าเข้าใกล้วัตถุ หรือถ่ายภาพในระยะใกล้มาก ดังนั้นการเว้นระยะห่างที่เหมาะสมจะได้ภาพที่น่าสนใจกว่า

อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ภาพดูน่าสนใจคือการใช้ texture & detail ในภาพที่มีลวดลาย พื้นผิวและรายละเอียดที่น่าสนใจ จะเหมาะสมกับสัดส่วนภาพ 1:1 นี้ โดยเฉพาะลวดลายหรือพื้นผิวของฉากหลัง ที่เมื่ออยู่บนเฟรมสี่เหลี่ยมจัตุรัส จะดูโดดเด่นขึ้นมาก

นอกจากการนำเสนอผ่านพื้นผิวและลวดลายที่น่าสนใจแล้วการใช้เส้นน้ำสายตาก็เป็นอีกหนึ่งวิธีของการวางองค์ประกอบภาพบนเฟรมสี่เหลี่ยมจัตุรัส ไม่ว่าจะใช้เส้นทแยง เส้นโค้ง หรือแม้แต่การใช้ perspective และรวมไปถึงการวางจุดเด่นที่กึ่งกลางภาพ แม้แต่การใช้หลักของ Rule of Third มาช่วยในการวางองค์ประกอบภาพ ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่เหมาะสมกับเฟรมภาพแบบสัดส่วน 1:1 นี้เช่นกัน

มาในยุคดิจิตอลเราจะสังเกตเห็นว่ามีกล้องดิจิตอลหลายรุ่นที่สามารถเลือกขนาดภาพให้เป็นสัดส่วน 1:1 ได้เช่นกัน หรือแม้แต่การตัดส่วนภาพในภายหลังด้วยโปรแกรมปรับแต่งภาพก็ตาม เราจึงยังเห็นได้ว่า ภาพสี่เหลี่ยมจัตุรัสนั้นไม่ได้หายไปไหนยังคงมีอยู่ในทุกๆ ที่ ในรูปแบบของกล้องดิจิตอลบนโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน ผ่านการใช้งานแอพพลิเคชั่นที่ชื่อว่า instagram นั่นเอง

ไม่ว่าจะก่อนทานอาหาร ซื้อขนม ขึ้นรถลงเรือ เดินริมหาด จ่ายตลาด กินข้าว ฯลฯ เราจะเห็นภาพของการยกมือถือขึ้นมาถ่ายรูปและแชร์ภาพผ่านโลกออนไลน์ และ instagram ก็เป็นหนึ่งในแอพพลิเคชั่นที่ใช้ขนาดภาพสัดส่วนแบบ 1:1 เช่นกันครับ ณ เวลานี้ต้องบอกว่าภาพถ่าย 1:1 ที่อยู่บน instagram นั้นเป็นล้านๆ ภาพจากทั่วทุกมุมโลกเชียวนะครับ

แอพพลิเคชั่น instagram นี้เป็นแอพนที่ให้ภาพในสัดส่วน 1:1 ที่ต้องบอกว่า ในทุกวันนี้ มันได้ทำงานไปไกลเกินกว่าแค่ความสนุก ช่างภาพอาชีพหลายคนใช้ อินสตาแกรมเป็นสื่อในการนำเสนอผลงาน เพราะนอกจากการได้ภาพในกรอบสี่เหลี่ยมจัตุรัสนี้แล้ว การแชร์ภาพถ่ายผ่านโซเชี่ยล เน็ตเวิร์ค ก็ยังมีผลไปถึงการส่งภาพให้ผ่านตาเอเจนซี่ภาพหลายแห่งทุกมุมโลก ดีไซน์เนอร์หลายคนก็เปิดดูภาพผ่านการ follow และผ่านคีย์เวิร์ดในการ search ใน EXPLORE ของ instagram ดารา นักร้อง นักแสดงในบ้านเราหลายคนก็แชร์ภาพผ่านแอพฯ instagram นี้เช่นกันครับ

และในอีกมุมหนึ่ง นิตยสารภาพข่าวอันดับต้นของโลกอย่าง TIME ก็ได้ให้ช่างภาพข่าวหลายคนใช้ภาพ ในการนำเสนอภาพเหตุการณ์สดผ่าน Instagram feed ของ TIME เองอีกด้วย (ในช่วง 48 ชั่วโมงมีคนมา “follow” อินสตาแกรมของไทม์เพิ่มขึ้นถึง 12,000 คน) ยังไม่นับช่องทางเสนอข่าวของบุคคลทั่วไปในทุกวันนี้ ที่พบเห็นภาพเหตุการณ์ใดๆ ก็ตามก็สามารถถ่ายภาพและแชร์ภาพขึ้นได้ทันที

ไม่ว่าจะเป็นกรอบสี่เหลี่ยมจากกล้องฟิล์ม กล้องดิจิตอล หรือว่าจากโทรศัพท์มือถือ สิ่งสำคัญคงไม่ได้อยู่ที่ว่าอุปกรณ์เหล่านั้นมีลูกเล่นที่น่าสนใจเพียงใด แต่อยู่ที่การสร้างสรรค์มุมมองของผู้ใช้มันต่างหาก เพราะไม่ว่า instagram จะมีฟิลเตอร์ให้เลือกใช้มากมายเพียงใด โปรแกรมตกแต่งภาพก็สามารถทำได้ หรือแม้แต่การเลือกฟิล์ม เลือกกระบวนการล้าง อัด-ขยาย เหล่านี้คือสิ่งที่เราสามารถเลือกทำงานได้ทั้งนั้น สำคัญที่ในกรอบเฟรมภาพสี่เหลี่ยมจัตุรัสนี้ เราจะใส่อะไรลงไปในนั้นบ้าง เราจะวางองค์ประกอบภาพอย่างไร เราจะนำเสนออะไรผ่านมุมมองแบบไหนก็เท่านั้นเอง และแม้ว่าทุกวันนี้แอพฯ instagram จะสามารถโพสภาพในสัดส่วนอื่นได้ด้วย แต่ช่างภาพจำนวนไม่น้อยก็หลงเสน่ห์ของสัดส่วนภาพแบบ 1 ต่อ 1 ไปเสียแล้วนี่สิครับ …