เรื่อง+ภาพ : ApochTophy’S

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 250/2018 July

หากจะพูดถึงช่างภาพที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับช่างภาพยุคหลังๆ คงจะขาดชื่อของช่างภาพผู้นี้ไปไม่ได้ โดยเฉพาะช่างภาพในสายงานของ Photojournalism ด้วยช่วงของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ที่ทำให้ชื่อของเขาถูกจดจำ หรือแทบจะบอกว่าเป็นตำนานอีกคนหนึ่ง Henri Cartier Bresson

Henri Cartier-Bresson with his Leica M3 in 1964. Photo by Ara-Güler.

อองรี กาติเยร์ เบรสซง Henri Cartier Bresson (HCB) ช่างภาพชาวฝรั่งเศส เกิดเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2451 เสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2548 เขาเข้าสู่แวดวงศิลปะโดยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคิวบิสม์และเซอร์เรียลลิสต์ เพราะได้รับอิทธิพลจากพ่อของเขาที่ชอบสเกตซ์ภาพ และลุงของเขาที่ชอบการวาดภาพสีน้ำมัน แต่สุดท้ายเขาได้เลือกการถ่ายภาพเป็นงานที่สร้างชื่อให้กับเขา

ตอนที่เขาอายุประมาณ 23 ปี เขาได้มีกล้องตัวแรกคือ brownie box ในช่วงนั้นเขายังถ่ายภาพเป็นงานอดิเรก ทั่วๆ ไปเขาเริ่มหันมาสนใจถ่ายภาพอย่างจริงจังก็เมื่อเขาได้เห็น ภาพเด็กๆ ผิวดำที่กำลังวิ่งเล่นอยู่กับคลื่น ในภาพถ่ายที่ชื่อว่า Three Boys at Lake Tanganyika ของ Martin Munkacsi ช่างภาพชาวฮังกาเรียน HCB เล่าถึงแรงบันดาลใจที่เขาได้รับเอาไว้ว่าเป็นภาพที่แสดงถึงอารมณ์ ความสนุกสนาน และความมหัศจรรย์ของชีวิต เขาบอกว่าเขาเหมือนถูกเร่งเร้าให้ออกไปถ่ายภาพ และนั่นคือจุดเริ่มของการทำงานที่มุ่งมั่นของ HCB (ครั้งหนึ่งราวๆ ปี 1994 มีผู้ไปสัมภาษณ์ HCB ได้บรรยายถึงอพาร์ตเมนต์ของ HCB ที่ปารีสเอาไว้ว่า บนผนังห้องสีขาวโล่งไม่มีผลงานของ HCB แขวนอยู่เลยแม้แต่ภาพเดียว แต่มีรูปของ Munkacsi แขวนอยู่)

Three Boys at Lake Tanganyika ของ Martin Munkacsi ช่างภาพชาวฮังกาเรียน

ในปี 1932 HCB ได้ถ่ายภาพภาพหนึ่งที่ปารีส ภาพนั้นมีชื่อว่า Derrière la Gare Saint-Lazare (Behind the Gare Saint-Lazare) ซึ่งต่อมากลายมาเป็นภาพที่อ้างอิงถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของการตอบสนองต่อสิ่งที่เกิดขึ้นของความบังเอิญ จังหวะ สายตา เครื่องมือ หัวใจ และศิลปะ หรือวลีคุ้นหูว่า “decisive moment”

ภาพ Derrière la Gare Saint-Lazare

ฟิล์มต้นฉบับของภาพ Behind the Gare Saint-Lazare Photo by John Leongard.

Decisive moment เป็นภาพถ่ายที่สามารถบันทึกในจังหวะที่เหมาะสม มีองค์ประกอบที่สวยงาม และสื่อความหมายได้ดี คำถามก็คือช่างภาพมีระยะห่างกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแค่ไหน จึงสามารถได้มาซึ่งภาพเหล่านั้น และช่างภาพกำลังคิดอะไรอยู่ ความบังเอิญรอเขาหรือเขารอความบังเอิญ เขาใช้เลนส์อะไร กล้องอยู่ในมือของเขาตลอดเวลาหรืออย่างไร เพราะระยะห่างที่พอดีนั่นหมายความว่าเขาเข้าไปบันทึกภาพในลักษณะที่ไม่โดดเด่นหรือแปลกปลอมไปกับสถานการณ์แวดล้อมเหล่านั้น ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าเขากับกล้องเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน และเขาใช้มันเหมือนกับดวงตาของเขา

HCB บอกว่าการเป็นช่างภาพก็เหมือนเป็นหัวขโมย คือการหยิบฉวยวินาทีของชีวิตโดยไม่มีใครสังเกตเห็นด้วยสัญชาตญาณ และไม่ทิ้งร่อยรอยใดๆ เหลือเอาไว้ ช่างภาพต้องฝีเท้าเบาแต่มีสายตาที่คมกริบ ต้องเข้าใกล้ subject ด้วยฝีเท้าของหมาป่า แม้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นเพียงวัตถุ

หลังจากได้รับคำแนะนำจาก เพื่อนสนิท และช่างภาพสงครามอย่าง Robert Capa ว่าเขาควรจะทำงานในด้าน photojournalism ต่อไป โดยเก็บความปรารถนาในการทำงานด้านศิลปะไว้ในใจ ในเดือนพฤษภาคมปี 1947 เขาได้ร่วมก่อตั้งเอเจนซี่ช่างภาพ Magnum Photos Inc. กับเพื่อนช่างภาพอีก 3 คน คือ Robert Capa, David Seymour, George Rodger เอเจนซี่แห่งนี้มีส่วนในการปรับเปลี่ยนมาตรฐานใหม่ของการจ้างงานช่างภาพ และลิขสิทธิ์ผลงานของช่างภาพ มันเป็นช่วงเวลาที่ HCB ถ่ายภาพสถานการณ์ต่างๆ ทั่วโลก ในฐานะช่างภาพอาชีพให้กับนิตยสารข่าวรายเดือนหลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็น Life, Paris Match และ Ce Soir (นิตยสารฝรั่งเศส) เขาเดินทางไปรอบโลก โดยเฉพาะในเอเชียที่เขาได้ไปตามประเทศต่างๆ ตั้งแต่อินเดีย อินโดนีเซีย และจีน โดยเข้าไปเป็นผู้บันทึกการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองครั้งประวัติศาสตร์ในภูมิภาคนี้ เช่น ในประเทศอินเดีย เขาเป็นช่างภาพคนสุดท้ายที่ได้สนทนาและบันทึกภาพมหาตมะ คานธี หนึ่งชั่วโมงก่อนถูกลอบสังหาร ในประเทศจีน เขาเข้าไปมีส่วนร่วมกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองและการกำเนิดขึ้นของสาธารณรัฐประชาชนจีน ฯลฯ ด้วยช่วงของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ และการปฏิวัติด้านเทคโนโลยีการถ่ายภาพ (โดยเฉพาะการกำเนิดขึ้นมาของกล้องไลก้า กล้องที่มีคุณภาพ และขนาดที่พอเหมาะพอดีกับงาน photojournalism) การเติบโตของสื่อนิตยสารภาพ และช่างภาพที่มีความสามารถอีกจำนวนหนึ่งจาก Magnum Photos Inc. จึงทำให้เวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์การถ่ายภาพยุดหนึ่ง

magnum photos agency

logo magnum

ภาพ Rue Mouffetard, Paris

ภาพมหาตมะ คานธี ผลงานของ HCB ยังมีให้ชมอยู่ในเว็บไซด์ของแมกนั่มโฟโต้

ในปี 1952 หนังสือรวมผลงานภาพชื่อ Image à la Sauvette ของ HCB ได้รับการตีพิมพ์ ในบทนำของหนังสือภาพเล่มนี้เขาได้เขียนถึงวิธีการ และสิ่งที่เขายึดถือในการทำงานเอาไว้อย่างละเอียด จนกล่าวได้ว่ามันเป็นบทเรียนสำคัญที่ถ่ายทอดไว้ให้ช่างภาพรุ่นหลัง ปรัชญาการทำงานที่ HCB เขียนอธิบายไว้ในหนังสือ บอกถึงวิธีคิดของเขาไว้ 6 หัวข้อคือ report, subject, composition, colour, technique และ clients

นอกจากเทคนิคการถ่ายภาพนั้นแล้ว เวลาถ่ายภาพ HCB จะไม่ใช้แฟลช เพราะเขารู้สึกว่าแสงวาบของแฟลช มันทำให้เหตุการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่สะดุด และเหมือนกับเป็นการกระทำที่ไร้มารยาท และเมื่อถึงเวลาเลือกภาพเพื่อตีพิมพ์ เขาจะไม่ crop ภาพ เพราะเขาคิดว่ามันเป็นความสมบูรณ์ของการทำงานในขณะกดชัตเตอร์แล้ว HCB นั้นได้รับการยกย่องว่าเป็นเลิศในด้านทักษะ จังหวะ สุนทรียศาสตร์ ผู้คนที่รู้จัก HCB ต่างบอกว่ากล้องกลายเป็นอวัยวะหนึ่งของร่างกาย และมันคือดวงตาที่สามของเขา เพราะมันไม่เคยห่างจากมือของเขา และเขามักจะเอามันติดตัวไปด้วยตลอดเวลา

หนังสือรวมผลงานภาพ Image à la Sauvette

หนังสือรวมผลงานภาพ Image à la Sauvette

ผลงานของ HCB มีมากมายทั้งหนังสือรวมภาพ Image à la Sauvette และ The Decisive Moment รวมไปถึงหนังสือภาพถ่ายอีกหลายเล่ม ในปี 1970 HCB อายุได้ 62 ปี เขาวางกล้อง โดยไม่แตะมันอีกเลย แล้วหันไปจับงานอันเป็นความรักแรกตั้งแต่ตอนที่เขายังเป็นเด็ก นั่นก็คืองานศิลปะที่เรียกว่า การวาดรูป อาจเป็นเพราะในหัวใจเต็มไปด้วยความรักในงานศิลปะ ภาพถ่ายของ HCB จึงเต็มไปด้วยพลัง และความน่าตื่นใจมากกว่าภาพข่าวปกติทั่วไป ทำให้ชื่อของเขาอยู่ในใจช่างภาพหลายต่อหลายคนมาจนทุกวันนี้…

หนังสือรวมผลงานภาพ The Decisive Moment