เรื่อง+ภาพ : นายจักรยาน

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 253/2018 Ocetober

คราวที่แล้วผมได้พาไปชมสถานที่เที่ยวสวยๆ ที่ไม่ไกลจากกรุงเทพ ได้อารมณ์แนวป่าเขาลำเนาไพร ไม่แพ้สถานที่เที่ยวที่มีชื่อเสียงอยู่ห่างไกลต้องเดินทาง แต่ที่สุพรรณ ไม่ไกลจาก กทม. อยู่ภาคกลางระยะทางไม่เกิน 200 ก.ม. คราวนี้ ยังอยู่ที่สุพรรณครับ และไม่น่าเชื่อว่าสถานที่แห่งนี้ จะมีประวัติความเป็นมาลึกเข้าไปถึงยุคดึกดำบรรพ์ ที่มีอายุนับร้อยล้านปี ที่สามารถพบเห็นหลักฐานเหล่านั้นได้อย่างง่ายดาย และมากมายอย่างไม่น่าเชื่อครับ สำหรับผมเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น ยินดี และปลื้มปิติอย่างมากครับ ที่นี่คือ “พุหางนาค” มาติดตามครับ ว่าผมมีความอัศจรรย์ใจกับสถานที่นี้อย่างไรบ้าง

อุทยานหิน ร้อยล้านปี

สถานที่แห่งนี้เป็นปรากฏการณ์สำคัญทางธรรมชาติที่สำคัญเป็นอย่างมาก เมื่อก่อนผมเคยได้ยิน ได้อ่านแต่ในบทเรียนทางประวัติศาสตร์ เรื่องสองแผ่นดินเคลื่อนที่ชนกัน จนกลายเป็นทวีปเดียวกัน ได้มาเห็นหิน เห็นแผ่นดินโบราณของจริง ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อหลายร้อยล้านปีก่อน รู้สึกตื่นเต้น และภูมิใจครับ ว่ามันอยู่ในบ้านเรา ในประเทศไทยนี่เอง ขออนุญาตนำบทความของ อ.วรณัย พงศาชลากร ที่เขียนเรื่องราวความรู้ แบบจัดเต็มไว้ในเวปไซท์ ของ OK nation ดังนี้ครับ “ลักษณะของหินและชั้นหินของพุหางนาค จากเขากำแพงทางทิศเหนือ ผ่านเขาพระ เขาทำเทียม เขารางกะปิด เขาคอก ลงไปถึงเขาถ้ำเสือ เป็นโครงสร้างของชั้น “หินปูนโดโลไมต์” ที่มีอายุราว 450-500 ล้านปีสะสมตัวตะกอนเป็นชั้นใต้ทะเลของไหล่ทวีปในยุคออร์โดวิเชียน (Ordovician Period) จนเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลกในช่วง 50-65 ล้านปี หลังยุคไดโนเสาร์ “ครีเทเชียส” (Cretaceous Period) แผ่นอินเดีย (India Plate) ได้ไหลเลื่อนขึ้นมาจากทิศใต้ เขาชนกับ “แผ่นยูเรเซีย” (Urasian Plate) มุมทางทิศตะวันออก ไปเสยเข้ากับไหล่ทวีป “ซุนด้า” (Sunda Shelf) ทําให้เปลือกโลกที่ยังไม่แข็งนัก เกิดการคดโค้งตัว ดันให้เกิดแนวเทือกเขาขนาดใหญ่ (Orogenic Movement) จากชั้นหินใต้ทะเลเดิม อย่างเทือกเขาตะนาวศรี เรื่อยมาจนถึงแนวเทือกเขาปลายสุดที่ตั้งของสวนหินพุหางนาคไงครับ”

หินที่ได้รับการตั้งชท่อจาชาวบ้านว่า “ประตูเมืองลับแล” ใครมาเที่ยวอุทยานนี้ต้องลอดผ่านทุกคน

ความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติที่น่าทึ่ง น่าภูมิใจ น่าค้นคว้าศึกษา เป็นมรดกทางธรรมชาติ ที่หลงเหลือมาสู่ยุคปัจจุบัน หินในที่แห่งนี้แต่ละก้อนมีอายุหลายร้อยล้านปี เป็นหินดึกดำบรรพ์ ที่เกิดจาการเปลี่ยนแปลงของผิวโลก การเคลื่อนตัวเข้าชนกันของแผ่นดิน ทำให้เกิดการยกตัวของชั้นหินใต้ทะเล ที่มีการเปลี่ยนแปลงทับซ้อนกัน เมื่อถูกดัน บีบ อัด จึงเกิดรูปทรงที่บิดโก่งโค้งย่นยับ อย่างไม่เป็นระเบียบ เนื้อหินเป็นริ้ว เป็นแนวคล้ายเปลือกไม้ ดูแปลกตากว่าหินทั่วๆ ไป ผมนึกถึงกองกระดาษหนังสือพิมพ์ที่บ้านเมื่อโดนน้ำฝนครับ แต่นี่เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ ที่ใช้เวลานับล้านปี กว่าจะได้รูปทรงอย่างที่เห็น จึงเป็นเรื่องมหัศจรรย์ใจสำหรับผมครับ

หินรูปร่างแปลกๆ ของที่นี่ มีชื่อเรียกเกือบทุกก้อน ชื่อเหล่านี้ถูกตั้งขึ้นโดยชาวบ้านในชุมชนแห่งนั้น ที่รับอาสาเป็นคนนำทางพาเดินเที่ยวชมบริเวณโดยรอบ และคอยชี้ให้ชมพร้อมเรียกชื่อหินแต่ละก้อนอีกด้วย

หินรูปร่างหัวลิง และเต่า ที่ไกด์ชี้ให้ชมให้นักท่องเที่ยวจิตนาการตาม

ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของรูปร่างหินที่นี่ก็คือ ปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยา ที่น้ำที่มีแร่ธาตุ ไหลผ่านก้อนหินเป็นระยะเวลานานหลายร้อยปี เกิดการแข็งตัวตกตะกรัน หินลักษณะนี้เกิดจากกระบวนกัดเซาะ อิทธิพลของน้ำฝน ลมพายุ และการแปรสภาพเป็นสนิมหินผุกร่อน รวมไปถึงการสะสมของกรดตะกอนดิน เกิดการแข็งตัวทับซ้อนกันจนเป็นรูปร่างต่างๆ รูปร่างแปลกๆ ลักษณะเดียวกับการเกิดหินงอกหินย้อยในถ้ำที่ทุกคนรู้จักดีครับ เช่นหินรูปหัวใจ หินรูปโขลงช้างในป่าใหญ่ ที่มีช้างหลายตัวพร้อมลูกช้างน้อยๆ

หินรูปหัวใจ (ไกด์ชี้ให้ชม) ทำเอาช่างภาพทั้งหลาย ครีเอท ออกแบบท่าทางของเพื่อนๆ ร่วมทางให้เข้ากับก้อนหินที่แปะอยู่ หากมีโอกาสไปเที่ยวชม อย่าลืมสร้างสรรค์ท่าทางมาฝากกันบ้างนะครับ

นอกจากความอัศจรรย์ของธรรมชาติ สวนหินร้อยล้านปีแล้ว ที่แห่งนี้ยังเป็นศาสนสถานของคนยุคโบราณที่นำหินมาวางซ้อนกันไว้ เพื่อเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ เมื่อกว่า 2,000 ปีที่ผ่านมา นักโบราณคดีเรียกกันว่า “หินตั้ง” เป็นวัฒนธรรมหินที่คนพื้นเมืองยุคดึกดำบรรพ์สุวรรณภูมิอุษาคเนย์จัดวางเป็นกลุ่มให้ได้รูปลักษณะต่างๆ ใช้บอกเขตศักดิ์สิทธิ์ พบมากในอีสานและลาว เช่น ไหหินที่ทุ่งไหหิน แขวงเชียงขวาง ในลาว ครั้นรับพุทธศาสนาก็ปรับหินตั้งเป็นเสมาหิน เช่น ที่ภูพระบาทบัวบก-บัวบาน อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี

หินตั้งที่พุหางนาค เมืองอู่ทอง สุพรรณ คือสิ่งก่อสร้างในศาสนาผีพื้นเมืองสุวรรณภูมิอุษาคเนย์ ที่มีอยู่ก่อนรับศาสนาพราหมณ์-พุทธ จากอินเดีย แสดงว่าบริเวณลุ่มน้ำแม่กลอง-ท่าจีน มีชุมชนขนาดใหญ่ระดับเมืองหรือรัฐเล็กๆ อยู่แล้ว ก่อนติดต่อรับอารยธรรมอินเดีย

หินที่เชื่อกันว่า มีการจับนำมาเรียงซ้อนกัน ตามความเชื่อของคนในยุคโบราณ เพื่อเป็นศาสนสถานประกอบพิธีกรรม หินบางก้อน คนในสมัยปัจจุบันตั้งชื่อให้ว่า ปลาวาฬแม่ลูกอ่อน

พุหางนาค เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่น่าภาคภูมิใจของชาวสุพรรณบุรี อยู่ในอำเภออู่ทอง เป็นป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ มีต้นไม้ดึกดำบรรพ์อายุนับพันปี หลายประเภท ที่เห็นเด่นชัด คือต้นจันผา ไม้อนุรักษ์ ที่คนชอบลักลอบตัดไปขาย จันผาที่นี่มีมากมายแต่ละต้นสูงใหญ่ ไม้อายุพันปีอีกชนิดหนึ่งคือ ปรง เป็นความอัศจรรย์ของป่าใกล้เมืองที่ยังหลงเหลือพันธุ์ไม้โบราณมากมายให้เราได้ชื่นชม ขนาดของต้นจันผาที่ใหญ่โต บ่งบอกถึงอายุได้เป็นอย่างดี เป็นไม้ดึกดำบรรพ์ที่มีการเจริญเติบโตที่ช้ามาก เช่นเดียวกับ ปรง

ทางเดินในสวนหินธรรมชาติ มีแต่ความร่มรื่น นอกจากรูปร่างและพื้นผิวที่แปลกตาแล้ว ยังมีต้นไม้ขึ้นบนหินที่มีรากรูปร่างแปลกๆ ให้เห็นอยู่ทั่วไป ความสวยงามแปลกตาของรากไม้ มีให้เห็นตั้งแต่ชั้นล่างก่อนขึ้นไปชมสวนหินเลยทีเดียวครับ

พุหางนาค มีเส้นทางเดินเที่ยวหลายเส้นทาง ภายในหนึ่งวันเดินไม่ครบแน่ๆ แต่ละจุดมีความแตกต่างไม่เหมือนกันเลย เช่น บริเวณแหล่งน้ำที่เป็นจุดกำเนิดของพุหางนาค น้ำตก หรือ การเดินขึ้นเขาไปชมซากเจดีย์ที่ปรักหักพังอายุนับพันปี และความเป็นไปของวัฒนธรรมเก่า ที่ยังพบเห็นหลักฐานอยู่ ฉบับหน้าผมขอนำท่านกลับมาชม พุหางนาคอีกครั้ง กับเรื่องราวที่น่าสนใจ ที่ไม่สามารถนำมาลงได้หมดครับ