เรื่อง : eyejung, ภาพ : ทีม Camerart

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine ฉบับ 227/2016 August

ถ้าพูดถึงเทศกาลเข้าพรรษาหลายคนคงจะคิดถึง…จังหวัดอุบลราชธานี…ต้นกำเนิดเทศกาลแห่เทียนพรรษาแม้ปัจจุบันจะมีหลายจังหวัดจัดงานแห่ต้นเทียนพรรษาเหมือนจังหวัดอุบลราชธานี แต่จะเที่ยวทั้งที่ก็ขอไปถึงแหล่งกำเนิดประเพณีแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานีกันเลยดีกว่า สำหรับการจัดงานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา ซึ่งทางจังหวัดจัดขึ้นด้วยวัตถุประสงค์เพื่อสืบสานวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นและส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดอุบลราชธานี…เราจึงวางแผนที่จะไปท่องเที่ยวที่อื่นที่น่าสนใจของจังหวัดอุบลฯ นั่นคือ วัดภูพร้าว หรือ ชื่ออย่างเป็นทางการ “วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว”  วัดต้นไม้เรืองแสง อันน่าอัศจรรย์

จากกรุงเทพฯ มุ่งตรงสู่…วัดภูพร้าว ตั้งใจจะไปเก็บแสงเย็นและ ถ้าโชคดีอาจจะได้ถ่ายดาวด้วย ต้องไปลุ้นเอาดาบหน้า เราเดินทางจากตัวจังหวัดอุบลราชธานีออกไปราว 70 กม. ใช้เส้นทางไป อ.พิบูลมังสาหาร เมื่อถึง อ.พิบูลมังสาหาร แล้วจะมีสามแยกไฟแดง ให้เลี้ยวซ้ายไปทาง อ.สิรินธร ขับตรงไปยังเส้นนั้น ซึ่งสามารถไปถึงสถานที่ท่องเที่ยวอย่าง พัทยาน้อย ทะเลน้ำจืดคนอุบล หรือเขื่อนสิรินธร ซึ่งอยู่ระหว่างทางได้ วัดจะอยู่ก่อนถึงด่านตรวจคนเข้าเมืองช่องเม็ก ราว 3 กม. ทางซ้ายมือ จะมีป้ายบอกทางเข้าวัดที่ถนนใหญ่เลย โดยเลี้ยวซ้ายเข้าไปอีกราว 2 กม. จะเห็นทางเข้าเป็นป่าไม้ วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว เป็นวัดที่ตั้งอยู่บนเนินเขาสูง โดยจำลองสภาพแวดล้อมของวัดป่าหิมพานต์ หรือเขาไกรลาศ  บริเวณบนยอดเขาจะมองเห็นพระอุโบสถสีปัดทองจุดเด่นของวัดคือ การได้มาชมภาพเรืองแสงเป็นสีเขียวของต้นกัลปพฤกษ์ที่เป็นจิตรกรรมอยู่บนผนังด้านหลังของอุโบสถ

ช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับการมาชม และถ่ายภาพต้นกัลปพฤกษ์ คือ ตั้งแต่เวลา 18.00-20.00 น. จะเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่จะได้มองเห็นต้นไม้เรืองแสง วัดภูพร้าว เลยเป็นแหล่งท่องเที่ยวช่วงค่ำคืน ที่นักท่องเที่ยวจะมาถ่ายภาพแสงเย็นและต้นกัลปพฤกษ์เรืองแสงเปล่งประกายท่ามกลางความมืด จนผู้คนขนานนามวัดแห่งนี้ว่า “วัดเรืองแสง”

ส่วนตัวอุโบสถมีต้นแบบมาจากวัดเชียงทอง ประเทศลาว แต่มีความกว้างมากกว่า 1 เท่า  และความยาวมากกว่า 2 เท่า เสาแต่ละต้นลงลวดลายด้วยมือ โดยรอบนอกเป็นลายดอกบัวและสัตว์ทั้งหลายตามคติบัว 4 เหล่าส่วนพระประธานมีผู้นำมาถวายวัด ดั้งเดิมนั้นเป็นองค์พระพุทธชินราช  แต่ช่างคุณากรได้ออกแบบใหม่  โดยถอดรัศมีและพระเกตุมาลาออก  แล้วแกะสลักไม้เป็นต้นโพธิ์ไปวางอยู่ด้านหลังพระประธาน   กลายเป็นพระประธานที่สวยงามแก่ผู้มาเห็นเป็นอย่างมาก

อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจของวัดภูพร้าว คือ ไม่มีร้านค้า ไม่มีประกาศชวนทำบุญ ทำให้วัดดูสะอาดตามาก ไม่มีขยะจากนักท่องเที่ยว ถามชาวบ้านแถวนั้นว่าทำไมไม่มีร้านค้า ชาวบ้านบอกว่าทางชาวบ้านก็อยากมาขายของ แต่ทางวัดไม่อนุญาตให้มีร้านค้า อีกอย่างวัดอยู่ในเขตป่าสงวนด้วย เราจึงเห็นแค่มีโรงทานแจกน้ำเปล่าที่ทางวัดตั้งไว้บริการนักท่องเที่ยว  หรือนักท่องเที่ยวท่านใดอยากทำบุญก็สามารถซื้อน้ำไปถวายให้กับทางวัดได้

แม้ว่าวัดยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่ก็เปล่งประกายความสวยงามจนมีนักท่องเที่ยวจากทั่วสารทิศเดินทางมาท่องเที่ยวที่วัดภูพร้าว ไม่ขาดสาย โดยเฉพาะคนที่ชอบถ่ายภาพอย่างพวกเรา ยิ่งช่วงค่ำคืนนักท่องเที่ยวก็แห่แหนมา เราจะได้เห็นพฤติกรรมแปลกๆ ที่นักท่องเที่ยวทำกัน คือ นำโทรศัพท์มาเปิดไฟฉายเพ้นท์  เป็นชื่อตัวเองบ้าง มาเขียนคำอธิฐานบ้าง ดูเป็นกิจกรรมแปลกใหม่ กับ สารเรืองแสงที่เรียกว่า “ฟอสฟอรัส” เรามองดูเหมือนกับนักท่องเที่ยวเดินส่องกบในยามค่ำคืน ดูแล้วก็งงๆ ว่าใครเป็นต้นคิดการเดินส่องกบแบบนี้ พอนักท่องเที่ยวเริ่มซาก็เป็นนาทีทองของนักถ่ายภาพที่จะเก็บความสวยงามของวัดที่เปล่งประกายในยามค่ำคืนแบบนี้ แม้วันนี้ฟ้าจะไม่เป็นใจในการให้เก็บภาพดาว  แต่พวกเราก็ตั้งใจว่าถ้ามีโอกาสต้องมาถ่ายภาพดาวที่นี่อีกครั้ง จากวัดภูพร้าวเราเดินทางมุ่งหน้าสู่ที่พัก ณ โขงเจียม เพื่อจะรอเก็บพระอาทิตย์ขึ้น ณ ริมโขงเจียม เป็นจุดที่เห็นตะวันก่อนใครในสยาม และแม่น้ำสองสี แม่น้ำมูลไหลมาชนกับแม่น้ำโขง สุดตะวันออกสุดเขตประเทศไทย

เป็นช่างภาพเรื่องการตื่นเช้าและ นอนดึกถือว่าเป็นเรื่องปกติของคนชอบถ่ายภาพ เช้านี้เราตื่นกันตั้งแต่ตีสี่ เพื่อภารกิจเก็บภาพแสงเช้าที่ริมโขงเจียม สุดเขตประเทศไทย ดินแดนเห็นตะวันก่อนใครในสยาม ด้วยเหตุที่อำเภอโขงเจียมนั้น เป็นจุดที่สายแม่น้ำมูลไหลมาบรรจบกับแม่น้ำโขงตรงบริเวณดอนด่าน กลายเป็นสายน้ำสองสี “โขงสีปูน มูลสีคราม” มีพื้นที่ตั้งอยู่บนเส้นรุ้งที่ 15.3 องศาเหนือ เส้นแวงที่ 105.5 องศาตะวันออก และ ผืนแผ่นดินยื่นสู่ด้านทิศตะวันออกสุดโต่ง จนกล่าวกันว่า “โขงเจียมตะวันออกสุดเขตประเทศไทย เห็นตะวันก่อนใครในสยาม” วันนี้พวกเราจึงตื่นกันแต่เช้าเพื่อไปยังจุดชมวิววัดถ้ำคูหาสวรรค์ ณ อ.โขงเจียม เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และธรรมชาติที่สำคัญของจังหวัดอุบลราชธานี มีพื้นที่ติดลำน้ำโขง มองข้ามไปเห็นเป็นฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน (ลาว) เราตั้งกล้องรอพระอาทิตย์ยังไม่ทันไร  ท้องฟ้าก็เริ่มเปลี่ยนสีเป็นแสงสีทอง บ่งบอกว่าพระอาทิตย์เริ่มขึ้นแล้ว แต่ติดสันเขา เราเลยได้เก็บแค่แสงสีทองและเที่ยวชมวิถีชีวิตริมฝั่งโขง หาอาหารเช้าทานแบบฉบับพื้นบ้านก่อนแวะเที่ยวต่อในอำเภอโขงเจียม

จากตลาดเช้าโขงเจียมเดินทางต่อมายังน้ำตกสร้อยสวรรค์อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติผาแต้ม “น้ำตกสร้อยสวรรค์” เป็นน้ำตกขนาดใหญ่สูงประมาณ 30 เมตร เกิดจากลำน้ำห้วยสร้อย และแซไผ่…ตกจากยอดเขาแล้วไหลมาบรรจบกัน มองดูลักษณะคล้ายสายสร้อยจึงได้ชื่อว่า “น้ำตกสร้อยสวรรค์” จากจุดจอดรถเราต้องเดินเท้าต่อไปอีก 500 เมตร ก็จะพบกับน้ำตกไหลรินเป็นสายยาวสวยงามตกลงมาจากแนวผาหน้าตัด ด้านหน้ามีแอ่งน้ำตื้นเล็กๆ… ปีนี้น้ำน้อยเราเลยเห็นน้ำตกสร้อยสรรค์เป็นสายสร้อยบางๆ เดินต่อมารัดเลาะตามโขดหินก็จะพบกับความสวยงามของน้ำตกสร้อยสวรรค์ช่วงที่สอง ที่น้ำตกไหลแรงกว่า แต่จุดนี้อยู่ในพื้นที่โล่งแจ้งไปกลางวันจะร้อนมา เที่ยวชมธรรมชาติพอหอมปากหอมคอได้เวลากลับเข้าสู่ตัวเมืองเพื่อเก็บภาพประเพณีแห่เทียนพรรษา

จากโขงเจียมมุ่งหน้าสู่ตัวเมือง ด้วยว่าเป็นฤดูฝน ภาพที่เราอาจจะได้เห็นระหว่างทางคือ วิถีชีวิตการทำนา ซึ่งครั้งนี้ถือว่าโชคดี  ระหว่างเจอชาวบ้านกำลัง ถอนกล้า และดำนาตามวิถีชีวิตดั้งเดิม เราเลยอดใจไม่ได้ที่จะขอลงไปเก็บภาพ เพราะวิถีชีวิตการทำนาดั้งเดิมแบบนี้อาจจะมีให้เห็นแค่ภาพถ่าย  ด้วยปัจจุบันมีการแข่งขันที่ค่อนข้างสูง การใช้เครื่องจักรมาแทนที่แรงงานคนทำให้ต้นทุนการผลิตที่ถูกลง และรวดเร็วกว่าแรงงานคน อีกทั้งการทำนา เป็นงานที่หนักและเหนื่อยมาก คนรุ่นใหม่ไม่มีใครสนใจทำมากนัก จากภาพวิถีชีวิต เราเข้าสู่การท่องเที่ยวสายวัฒนธรรมท่องถิ่นกับประเพณีแห่เทียน เป็นประเพณีทางพุทธศาสนา ของชาวอุบลฯ เป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนของการพัฒนาบนพื้นฐานของทุนทางวัฒนธรรม และประเพณีที่มีมาอย่างยาวนาน ถือเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจังหวัดอุบลราชธานี โดยได้กำหนดจัดงานขึ้นทุกปีในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 และแรม 1 ค่ำเดือน 8 หรือวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา

ประเพณีแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี มีความเป็นมาที่ยาวนานราวหนึ่งศตวรรษมาแล้ว ซึ่งเรียกได้ว่าเทียนพรรษาและงานแห่เทียนพรรษาเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดอุบลฯ ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเชื่อที่มาจากหลักแนวคิดของพระพุทธศาสนา โดยวัฒนธรรมทำหน้าที่เป็นเครื่องหมาย หรือ สัญลักษณ์ ที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนอีสาน และสัญลักษณ์ที่ส่งผลต่อคุณค่าทางจิตใจ เพราะเทียนไม่เพียงแต่ให้แสงสว่าง แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของความสว่างไสว ความเจริญรุ่งเรือง นอกจากนี้วัฒนธรรมยังมีหน้าที่ในการตอบสนองความต้องการด้านต่างๆ ซึ่งประเพณีแห่เทียนพรรษาในบทบาทของวัฒนธรรมก็เป็นสิ่งๆ หนึ่ง ที่กลุ่มคนในสังคมคิดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการทั้งด้านจิตใจและ สัญลักษณ์แทนความเชื่อในทางพระพุทธศาสนา และยังมีหน้าที่ในการสร้างความสามัคคีของคนในชุมชน เสริมสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการจัดงานประเพณีแห่เทียนเพราะแต่ละชุมชุนจะมีการส่งต้นเทียนพรรษาเข้าประกวดต้นเทียนที่มีอยู่ 2 ประเภท คือ ประเภทติดพิมพ์ และ ประเภทแกะสลัก

วันนี้เราจะเข้าเยี่ยมชมคนทำเทียนเมืองอุบลในแต่ละวัดกัน ประเดิมวัดแรกที่ วัดบูรพา ตั้งอยู่ที่ ถ.พโลรังฤทธิ์ ในอดีตวัดบูรพาเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมต้นกำเนิดวัดสายวิปัสสนากรรมฐาน แต่วัดได้ตระหนักถึงประเพณีที่ดีงามของจังหวัดอุบลราชธานี จึงได้ร่วมกับชุมชน เพื่อทำต้นเทียนพรรษประเภทติดพิมพ์ส่งเข้าประกวดทุกปี และทางวัดบูรพา มักจะได้รางวัลชนะเลิศ หรือรองชนะเลิศ มาโดยตลอด ซึ่งนอกจากจะได้เก็บภาพการทำต้นเทียนพรรษาแล้ว พี่ๆ ยังให้พวกเราลองแกะพิมพ์เพื่อเอามาประดับต้นเทียน ได้ภาพสวยแล้วยังได้เรียนรู้เรื่องการทำเทียนพรรษาไปด้วย

จากนั้น แวะดูการทำเทียนของ Teach tourism photography. ถือว่าเป็นอีกวัดคู่แข่งของทางวัดบูรพา ที่ทำต้นเทียนส่งเข้าประกวดประเภทติดพิมพ์ และได้รางวัลชนะเลิศ  สลับกับวัดบูรพามาโดยตลอด ต่อจากนั้นแวะเยี่ยมชมชุมชนคนทำเทียนกันต่อกับแชมป์เมื่อปีที่แล้ว วัดแจ้ง และคนชุมชนวัดแจ้ง ที่มาช่วยกันทำต้นเทียนพรรษาส่งเข้าโชว์ในปีนี้ ในฐานะแชมป์รางวัลชนะเลิศเมื่อปีที่แล้ว ในประเภท ติดพิมพ์ ขนาดใหญ่เราเข้ามาถึงวัด และได้รับการต้อนรับจากชาวชุมชนวัดแจ้ง ที่ภูมิใจนำเสนอต้นเทียนพรรษา มีการจัดไกด์พาชมและนำชมลายพิมพ์ การมีส่วนร่วมของชุมชนที่ช่วยกันระดมสรรพกำลัง ความคิดทั้งหมด มาทำต้นเทียนพรรษาส่งเข้าประกวดปี ต้องบอกว่าต้นเทียนพรรษาของวัดแจ้ง สวยสมตำแหน่งแชมป์จริงๆ ดูการทำต้นเทียนแบบติดลายพิมพ์ ไปหลายวัดแล้ว คราวนี้เราแวะดูการแกะสลักต้นเทียนที่ยาวที่สุดในโลก 40 เมตร ณ วิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานี เนื้อหาของขบวนจะเป็นเรื่องราวพุทธประวัติของพระพุทธเจ้า แบ่งออกเป็น 4 ตอน ได้แก่ ประสูติ ตรัสรู้ การแสดงปฐมเทศนา และปรินิพาน ซึ่งใช้งบประมาณกว่า 2 ล้านบาทถือว่าการจัดแห่เทียนในปีนี้ยิ่งใหญ่มาก ภารกิจสุดท้ายในค่ำคืนนี้ คือ เก็บภาพการทำเทียนพรรษาที่ วัดพระธาตุหนองบัว และเก็บภาพแสงเย็น สิ่งที่น่าสนใจมีพระบรมธาตุที่สวยงาม มีพระเจดีย์พุทธคยาจำลอง มาจากประเทศอินเดีย เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ

วัดพระธาตุหนองบัว เป็นวัดราษฎร์ อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ไปทางทิศเหนือ 5 กิโลเมตร วัดหนองบัวสร้างเมื่อปี 2500 โดยนายฟองสิทธิธรรม ได้มอบที่ดินให้ประมาณ 30 ไร่เศษ โดยบริเวณใกล้เคียงมีหนองน้ำขนาดใหญ่ และกอบัวขนาดใหญ่หลากหลายสีสันชาวบ้านจึงเรียกวัดนี้ว่า วัดหนองบัว วัดหนองบัวก็เป็นอีกหนึ่งวัดที่ได้จัดทำต้นเทียนประเภทแกะสลัก ขนาด ก. (ขนาดใหญ่) ส่งเข้าประกวดทุกปี และเคยได้รางวัลชนะเลิศเช่นกัน ด้วยชื่อเสียงและฝีมือของชาวบ้านในชุมชน

นอกจากการทำ ต้นเทียนที่งดงามด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นของครูช่างเทียนที่สั่งสมประสบการณ์และความรู้ที่ได้ถ่ายทอดกันมารุ่นแล้วรุ่นเล่า อีกงานที่น่าสนใจศิลปะเทียนนานาชาติครั้งที่ 10 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี เป็นการจัดแสดง “งานประติมากรรมเทียนร่วมสมัย” ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมไฮไลท์ที่จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Her Story” โดยศิลปินจากประเทศชิลี, ลัตเวีย, รัสเซีย, สเปน, ไต้หวัน, เวียดนาม, สหรัฐอเมริกา และ ไทย จำนวน 9 ชิ้นงาน แนะนำไปไปช่วงค่ำคืน เพราะจะแสดงโชว์ร่วมกับแสงสี ดูมีสีสันมากกว่าชมช่วงกลางวัน

ปิดท้ายงานแห่เทียนด้วยการเก็บภาพ ขบวนรถแห่เทียน ที่แต่ละวัดนำออกมาแสดงโชว์ ณ ถนนรอบโรงเรียนอนุบาลอุบลราชธานี และเข้าร่วมพิธีมหาเวียนเทียนวันอาสาฬหบูชา ณ วัดศรีอุบลรัตนาราม วัดมหาวนาราม และ คุ้มวัดต่างๆ ในจังหวัดอุบลราชธานี กับแสงเย็นที่สาดส่องทำให้เห็นความสวยงามสุดอลังการของประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาวิถีวัฒนธรรมการตกแต่งต้นเทียนเมืองอุบลกับการเที่ยวถ่ายภาพสืบสานศิลปวัฒนธรรมไทย