เรื่อง+ภาพ : นพดล อาชาสันติสุข

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 262/2019 July

Sony… เติมเต็มสำหรับการถ่ายภาพ ด้วยการเปิดตัวเลนส์ซูมซุปเปอร์เทเล Sony FE 200-600 mm. F5.6-6.3 G OSS เป็นเลนส์ในตระกูล G เพื่อให้นักถ่ายภาพได้ถ่ายภาพอย่างจุใจในราคาที่จับต้องได้ง่ายขึ้น สำหรับการถ่ายภาพกีฬา หรือ Wild-Life โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับนักถ่ายภาพที่ชมชอบการถ่ายภาพนก หรือสัตว์ป่าต่างๆ ด้วยขนาดเลนส์ให้ใช้งานตั้งแต่ช่วงเลนส์ 200 มม. ถึง 600 มม. และยังสามารถใช้ร่วมกับ Tele Converter ชื่อรุ่น SEL14TC (1.4X) และ SEL20TC (2X) ได้อีกด้วย

คุณสมบัติเด่น

Sony FE 200-600 mm. F5.6-6.3 G OSS เป็นเลนส์ซุปเปอร์ซูมระดับมืออาชีพ ที่มีลักษณะเด่นตั้งแต่ตัวเลนส์ที่ผลิตด้วย Magnesium alloy ที่มีน้ำหนักเบาแต่แข็งแกร่ง มีน้ำหนัก 2.1 กก. ซึ่งพอที่จะถือถ่ายภาพได้ด้วยมือ พร้อมด้วยระบบ Seal กันละอองน้ำละอองฝุ่น ใช้งานได้สมบุกสมบันทุกสภาพดินฟ้าอากาศ

Sony FE 200-600 mm. F5.6-6.3 G OSS ติดตั้ง Collar มาให้พร้อมใช้งานสำหรับการปรับกล้องทั้งในแนวราบ และ แนวดิ่ง มีจุดสัญลักษณ์แสดงการปรับกล้องชัดเจน ส่วนขาสามารถถอดได้ มีรูสำหรับติดกับขาตั้งกล้องได้ทั้งแบบเกลียวเล็ก และ เกลียวใหญ่

Sony FE 200-600 mm. F5.6-6.3 G OSS ติดตั้งชิ้นเลนส์คุณภาพสูงถึง 24 ชิ้นเลนส์ แบ่งเป็น 17 กลุ่ม มีชิ้นเลนส์ ED ที่ช่วยลดความคลาดสี 5 ชิ้น และชิ้นเลนส์ Aspherical ที่ช่วยลดความคลาดทรงกลม 1 ชิ้น เลนส์ชิ้นหน้า เคลือบด้วยระบบ Fluorine coating ที่ลดการเกาะของฝุ่น ละอองน้ำ และน้ำมัน

ระบบโฟกัสของเลนส์รุ่นนี้ ได้รับการออกแบบมาเป็นแบบ Internal Focus ที่เมื่อซูมเลนส์ไปช่วงที่ยาวสุดแล้ว ไม่มีการยืดของส่วนเลนส์ด้านหน้า ต่างไปจากเลนส์ในระดับเดียวกันกับยี่ห้ออื่นๆ ที่เมื่อซูมไปช่วงยาวสุดของเลนส์ ส่วนหน้าจะยืดยาวออกไป

ปุ่มปรับตั้งบนตัวเลนส์ ช่วยสำหรับการใช้งานให้ได้เต็มสมรรถนะ เริ่มจากแหวนซูมด้านหน้าเลนส์ ที่ลื่นไหลง่ายต่อการปรับ ถัดมา เป็นปุ่มสำหรับการ lock focus ที่มีอยู่ 3 ตำแหน่งสะดวกเมื่อใช้งานกับกล้องทั้งในแนวดิ่งและแนวราบ

วงแหวนถัดมา เป็นวงแหวน Manual Focus แบบ Linear ที่ปรับได้นุ่มนวลดีมาก 

ส่วนปุ่มปรับตั้งท้ายเลนส์ เริ่มตั้งแต่ ปุ่ม AF / MF สำหรับเลือกระบบโฟกัสของเลนส์ว่าเป็น Auto focus หรือ Manual focus ปุ่มถัดมา เป็นปุ่มสำหรับการเลือกระยะของ Auto focus ที่เลือกได้ 3 แบบ คือ แบบ Full คือ ระยะ 2.4 เมตร ถึง ระยะอินฟินิตึ้ แบบที่ 2 เลนส์จะโฟกัสที่ระยะ 10 เมตร ถึง 2.4 เมตร  และ แบบที่ 3 จะโฟกัสที่ระยะ 10 เมตร ถึง ระยะอินฟินิตี้

ปุ่มถัดมาเป็นปุ่มสำหรับการเลือก เปิด หรือ ปิด ระบบกันสั่น [oss] และ ปุ่มล่างสุด เป็น ปุ่มสำหรับเลือก Mode ลดการสั่น สำหรับการถ่ายภาพ ที่เลือกได้ 3 แบบ คือ แบบที่ 1 สำหรับการถ่ายภาพเคลื่อนไหวที่คาดการการเคลื่อนไหวไม่ได้ แบบที่ 2 สำหรับการถ่ายภาพแบบ แพนกล้อง และแบบที่ 3 สำหรับการถ่ายภาพวัตถุปกติ

ระบบมอเตอร์ของ Sony FE 200-600 mm. F5.6-6.3 G OSS เป็นแบบ Direct Drive Super Sonic Motor [DDSSM] ที่ทำให้เลนส์รุ่นนี้สามารถโฟกัสได้อย่างรวดเร็ว และ เงียบมาก

ทดสอบการใช้งาน

การทดสอบเลนส์ Sony FE 200-600 mm  F5.6-6.3 G OSS  ครั้งนี้ เนื่องจากมีเวลาที่จำกัดเพียงไม่กี่วันเท่านั้น ประจวบกับช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่มีมรสุมเข้ามา ฝนตกได้ตกดี แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยสมรรถนะของเลนส์ Sony FE 200-600 mm.  F5.6-6.3 G OSS ร่วมกับกล้อง Sony Alpha 9 ก็ต้องถือว่าได้ลองกันอย่างเต็มเหนี่ยวเลย ทั้งเลนส์และกล้องได้ลุยฝนพร้อมกับสภาพดินฟ้าอากาศที่ไม่อำนวย แต่ก็ยังได้ภาพที่ดีมาฝากกันได้ ที่สำคัญก็คือ ผมเลือกการถ่ายภาพ นก และ สัตว์ป่า เป็นหลัก เพื่อทดสอบความรวดเร็วและแม่นยำในการโฟกัสภาพรวมทั้งในเรื่องของความคมชัด รายละเอียด และ สีสันของภาพถ่าย ซึ่งน่าจะเป็นจุดที่นักถ่ายภาพทั่วไปได้ใช้งาน นอกจากนี้ยังได้ทดสอบใช้งานร่วมกับ Teleconverter 2X เพื่อดูสมรรถนะของเลนส์ว่าให้ผลอย่างไร

 

ผลของการใช้งาน

ผลของการใช้งาน  ผมขอแยกสรุปเป็นเรื่องๆ ดังนี้ครับ

ความไวในการโฟกัสภาพ ผมทดสอบเรื่องนี้ด้วยการถ่ายภาพนกบิน นกบินจะมีความรวดเร็วมาก การที่จะจับจังหวะการบินของนก ระบบโฟกัสต้องมีความรวดเร็วแม่นยำ Sony FE 200-600 mm. F5.6-6.3 G OSS มีความรวดเร็วและแม่นยำในการโฟกัสภาพดีมากเลยครับ สามารถโฟกัสจับจังหวะการบินได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ แม้จะเป็นการถ่ายภาพต่อเนื่อง

ความคมชัด สีสัน และ การเก็บรายละเอียดของภาพ จากภาพตัวอย่างที่ถ่ายได้ ผมได้ Crop ภาพมาให้เห็น เลนส์ซูม Sony FE 200-600 mm. F5.6-6.3 G OSS รุ่นนี้ มีความคมชัดที่ดีมากเลยทีเดียว ยิ่งถ้าเทียบกับราคาของเลนส์ที่สัมผัสได้ คุ้มค่าเลยครับ ไม่เฉพาะความคมชัด แต่ยังสามารถเก็บรายละเอียดได้ดี สีสันสดใสเป็นธรรมชาติจริงๆ

Bokeh ของภาพ ในเรื่องของการละลายฉากหลังของเลนส์รุ่นนี้ หายห่วงเลยครับ ให้ Bokeh ที่เป็นวงกลม ด้วย Diaphragm ถึง 11 กลีบ

Bokeh ของภาพ, ช่วงเลนส์ 441 mm.

ทดสอบกับ Teleconverter 2X เมื่อใช้กับ Teleconverter 2x [TC 2x] สิ่งที่เปลี่ยนแปลงคือขนาดรูรับแสง แคบสุดจะเป็น F11-F13 แต่ให้ผลของภาพยังดีเยี่ยมอยู่ ความคมชัด และการเก็บรายละเอียดในภาพ ยังให้คุณภาพของภาพที่ดีมาก

ข้อน่าสังเกต ก็คือ การใช้ TC 2X กับเลนส์รุ่นนี้ ถ้าใช้กับกล้อง Sony Alpha 7 III ระบบโฟกัสภาพจะช้าลง เนื่องจากการใช้กับกล้องรุ่นนี้ กล้องจะทำการโฟกัสภาพแบบ Contrast Detection อย่างเดียว ไม่ทำงานในระบบ Phase Detection แต่ถ้าใช้ TC 1.4X จะรองรับระบบโฟกัสเต็มสมรรถนะ

Teleconverter 2X [TC 2x], 1200 mm.

Teleconverter 2X [TC 2x], 918 mm.

Chromatic Aberration หรือ ความคลาดสี พบว่า เลนส์รุ่นนี้ มีความคลาดสีที่ต่ำมากๆ ในทุกช่วงของเลนส์ซูม ในบริเวณกลางภาพจนเกือบถึงขอบภาพไม่พบความคลาดสี ส่วนใกล้ขอบภาพ ก็แทบไม่เห็นความคลาดสีเลย

บทสรุป

ถ้าเทียบกับเลนส์ซูมซุปเปอร์เทเล ในสมรรถนะที่ใกล้เคียงกันแล้ว Sony FE 200-600 mm. F5.6-6.3 G OSS นับเป็นเลนส์ที่น่าใช้มาก ที่โดดเด่นกว่าก็คือ น้ำหนักที่ค่อนข้างเบากว่า ระบบโฟกัสแบบ Internal ที่หน้าเลนส์ไม่ยืดยาวออกไป คุณภาพของความไวและแม่นยำในการโฟกัสภาพ และ ความคมชัด สีสัน การเก็บรายละเอียดที่ดีมาก สำหรับเลนส์ขนาดนี้ ที่สำคัญก็คือ ราคาที่สัมผัสได้ วางตลาดแล้วในเมืองไทย ตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม 2562 ในราคา 69,990.00 บาท ครับ

ISO 2000, F9, 1/800 sec, ช่วงเลนส์ 422 mm.

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

บริษัท โซนี่ไทย จำกัด ศูนย์บริการข้อมูล 2126 ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ 10310

โทร. 0-2715-6100 โทรฟรี (1800) 231-991 Contact at : https://www.sony.co.th/section/contactus