เรื่อง : นพดล

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine ฉบับ 247/2018 April

Leica Standard “Model E”

ในขณะที่ Leitz ผลิตกล้อง Leica II Model D ออกสู่ตลาดตั้งแต่ต้นปี 1932 ในปลายปีนั้นเอง Leitz ก็เสนอกล้องรุ่นใหม่อีกรุ่นหนึ่งตามมา ได้แก่ Leica  Standard หรือ Leica Model E กล้องรุ่นนี้มีรูปลักษณ์คล้ายคลึงกับ Leica I Model C แต่กลับมีลักษณะการทำงานที่สำคัญบางประการเหมือน Leica II คือมีการปรับปรุงปุ่มกรอฟิล์มกลับให้สามารถใช้งานได้สะดวกขึ้น

การผลิตกล้อง Leica Standard Model E เริ่มปรากฏตัวอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคมปี 1932 กล้องตัวแรกยังคงเคลือบผิวส่วนที่เป็นโลหะด้วยสีดำ เริ่มที่หมายเลข 101001 และเพียงชั่วระยะเวลาสามเดือนสุดท้ายของปีเดียวกัน จำนวนการผลิตเพิ่มขึ้นถึง 5,000 กล้อง ในจำนวนนี้บางส่วนเข้าใจว่าจำหน่ายหมดในปีถัดมา ทั้งนี้เพราะว่าในปี 1933 มีเพียง 50 กล้องเท่านั้นที่ผ่านการจดทะเบียน และสายงานการผลิตกล้องรุ่นนี้ในปีต่อๆ มา ก็ยังยืนอยู่ในระดับ 3-4,000 กล้องต่อปี และถึงแม้ว่า Model E จะเป็นอีกรุ่นหนึ่งที่มีการผลิตต่อเนื่องมาจนถึง ปี ค.ศ. 1948 แต่ส่วนใหญ่จะผลิตในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยหลังจากปี 1940 เป็นต้นมา จำนวนการผลิตแต่ละปีลดเหลือเพียงปีละ 2-300 กล้องเท่านั้น และกล้องตัวสุดท้ายของรุ่นนี้คือ หมายเลข 355650

Leica Standard Model E

สำหรับรุ่นที่ชุบด้วยโครเมียมหรือ ที่เรียกกันว่า Leica Standard Chrome เริ่มผลิตครั้งแรกในปี 1933 ที่หมายเลย 114001 และยุติลงในปี ค.ศ. 1935 ที่หมายเลข 154900

น่าสังเกตว่า ในปี ค.ศ.1933  เป็นปีที่ Leica ผลิตกล้องโดยใช้โครเมียมชุบเคลือบผิวส่วนที่เป็นโลหะ ดังจะเห็นได้ใน Leica II Model D และ Leica Standard Model E ที่กล่าวมาแล้ว และนับตั้งแต่ปี 1933 เป็นต้นมา สายการผลิตกล้อง Leica ทั้งหมด ก็จะเป็นการชุบด้วยโครเมียมแทบทั้งสิ้น

กล่าวมาถึงตรงนี้ก็มีอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจว่า อะไรที่ทำให้ Leica Standard รุ่นนี้เป็นที่ต้องการของตลาด โรงงาน Leitz ผลิตกล้อง Leica Standard Model E โดยเน้นให้เป็นกล้องถ่ายภาพที่ “พกง่ายถ่ายสะดวก” ให้มากที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมา ดังนั้น Leica Standard จึงเป็นรุ่นที่รวบรวมเอาแต่สิ่งดีๆ ของกล้องรุ่นต่างๆ มาไว้ในที่เดียวกันโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Leica II, Leica III และ Leica IIIa (ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไปข้างหน้า) มิเพียงเพื่อจะให้ผู้ใช้สามารถบันทึกถ่ายภาพได้โดยการมองช่องมองภาพเท่านั้น แต่ยังสามารถเปลี่ยนความเร็วชัตเตอร์ ได้ตั้งแต่ 1/20, 1/30, 1/40, 1/60, 1/100, 1/200 และ 1/500 พร้อม ชัตเตอร์ Z

ลักษณะอื่นๆ ที่สำคัญ มีการติดตั้งห่วง สำหรับสายสะพายกล้องไว้ที่ริมด้านซ้าย และด้านขวาของตัวกล้อง ทำให้การหยิบจับถือกล้อง มีความกระชับถนัดมือยิ่งขึ้นกว่ากล้องยุคที่ผ่านๆ มาอาจจะนับได้ว่า เป็นกล้อง Leica รุ่นแรกที่มีอุปกรณ์ชิ้นนี้ และรูปร่างของ Leica Standard ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังมีหน้าตาเปลี่ยนแปลงอยู่บ้าง โดยมีขนาดกะทัดรัดมากขึ้น เพื่อให้สามารถเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำๆ ได้ บางตัวก็มีอุปกรณ์เสริมคือ แผ่นอลูมีเนียม เพลท ซึ่งยึดติดด้วยสกรู 3 ตัว และแผ่นยาง Volcanite เพิ่มขึ้นมาอีกด้วย 

Code ของกล้องรุ่นนี้ ถ้ามีเฉพาะตัวกล้องเคลือบสีดำ ใช้ ALVOO และถ้าเป็นแบบชุบโครเมียม ก็จะมีคำว่า CHROM ถ้าติดตั้งเลนส์ ELMAR ใช้ AROOG และถ้าเป็นแบบชุบโครเมียม ก็จะมีคำว่า CHROM กำกับเพิ่มเข้าไปด้วย

Leica III Model F

เพื่อให้ผู้ใช้กล้องสามารถเลือกซื้อได้ตามความนิยม ตามกำลังทุนทรัพย์ และตามความเหมาะสมของการใช้งาน Leitz ได้ผลิตกล้องรุ่นใหม่ตามออกมาอีกรุ่นหนึ่งในปีถัดมา คือปี ค.ศ. 1934 กล้อง Leica รุ่นใหม่นี้มีชื่อว่า Leica III Model F เป็นกล้องที่พัฒนามาจากรุ่น Leica II Model D ทำให้กล้องทั้ง 2 รุ่นนี้ มีลักษณะที่คล้ายคลึงกันมาก เนื่องจาก Leica II นั้นสร้างขึ้นในขณะที่ Leica III กำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงระบบการทำงาน 

ดังนั้น Leica III ที่ปรากฏตัวออกสู่ท้องตลาดภายหลังจึงมีการเพิ่มระบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นไปอีก คือมีการเพิ่มความเร็วชัตเตอร์ ให้เลือกใช้ได้เต็มพิกัด ตั้งแต่ 1/500 ถึง 1 วินาที เพิ่มปุ่มปรับความเร็วชัตเตอร์แบบ Slow Speed อีกปุ่มหนึ่งอยู่ทางด้านหน้าปรับเลือกขนาดความเร็วชัตเตอร์ได้ตั้งแต่ 1, 1/2, 1/4, 1/8, 1/20 วินาที พร้อมชัตเตอร์ Z ซึ่งระบบนี้ชัตเตอร์จะเปิดค้างไว้จนกว่าปุ่ม Slow Speed จะหมุนกลับมาตามเดิม

นอกจากนี้ Leica III Model F ยังได้ปรับปรุงให้มีขีดความสามารถมากขึ้น ทำให้ Leica III  แตกต่างจากล้อง Leica ในยุคก่อนๆ เป็นต้นว่า มีการเพิ่มห่วงพร้อมสายหนังสะพายกล้อง เพื่อให้ผู้ใช้จับถนัดมือขึ้น ระบบช่องมองภาพให้ภาพขยายใหญ่ขึ้นถึง 1.5 เท่า ทำให้ภาพที่ถ่ายด้วยเลนส์ที่มีทางยางโฟกัสมากๆ มีความคมชัดมากขึ้น และยิ่งกว่านั้น เครื่องหาระยะชัด ยังได้รับการปรับปรุงให้มองเห็นภาพที่มีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิม ทำให้ผู้ใช้สามารถปรับโฟกัส จนได้ภาพที่ชัดเจนดังตาเห็น ซึ่งต่างกับ Leica II ที่จะต้องปรับโฟกัสของเลนส์ ทั้งจากเครื่องหาระยะชัด และจากช่องมองภาพซ้อนทับกันพอดี อนึ่ง Leica III ยังสามารถเพิ่มขีดการทำงานมากขึ้นไปอีกโดยผู้ใช้สามารถติดตั้ง ฐานสวม SCNOO ซึ่งทำงานในระบบกลไกเพื่อช่วยให้การขับเคลื่อนฟิล์มดำเนินไปรวดเร็วขึ้น

หมายเลขการผลิตของกล้อง Leica III Model F ดูเหมือนจะเป็นรุ่นมีมีการสับสนกันอยู่บ้างกล่าวคือ เริ่มการผลิตที่หมายเลข 107601 ถึง 107757 แต่หมายเลขดังกล่าว ก็เป็นกล้องที่ผลิตในปีค.ศ. 1934 เท่านั้น หมายเลขการผลิตครั้งถัดมา ปรากฏที่หมายเลข 108651 ถึง 108700 และปรากฏว่าปีที่ผลิต เป็นปี ค.ศ. 1933 ดังนั้นกล้อง Leica III รุ่นแรก จึงน่าจะผลิตในปี 1933 มากกว่า

ในระยะแรกการผลิต Leica III Model F ยังคงใช้สีดำเคลือบผิวส่วนที่เป็นโลหะ แต่ต่อมาไม่นานนักก็เคลือบด้วยโครเมียมเช่นเดียวกัน โดยเริ่มที่หมายเลข 116001

Code ของกล้องรุ่นนี้ ถ้าเป็นแบบ Black เรียก AFOOV ถ้าติดตั้งเลนส์ ELMAR F3.5 ใช้ ACOOS ถ้าติดตั้งเลนส์ SUMMAR F2 ซึ้งผลิตออกมาพร้อมกับกล้อง ใช้ ACHOO และถ้าเป็นแบบชุบโครเมียม ก็จะมีคำว่า CHROM กำกับเพิ่มเข้าไปด้วย

ท่านผู้อ่านที่ติดตาม ตำนาน Leica มาหลายตอน คงเห็นแล้วใช่ไหมครับว่า ขณะที่พี่ไทยเราในปี ค.ศ. 1932 กำลังอยู่ในยุคของการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบบอบประชาธิปไตย วงการถ่ายภาพของโลกก็กำลังก้าวหน้าไปสู่ยุคสมัยของการผลิตกล้องถ่ายภาพแบบอุตสาหกรรม การแข่งขันของการตลาดก็กำลังเริ่มจะเข้มข้นขึ้น ขณะเดียวกันการพัฒนาเทคนิคทางอุตสาหกรรมก็กลายเป็นสิ่งสำคัญ ดังจะเห็นได้ว่า ในระยะแรก ประมาณ ปี 1925-1932 สายการผลิตหลักๆ จะเป็น Leica I Model A, B, C และนับแต่ปี 1932 เป็นต้นมา จนถึงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การผลิตเพิ่มขึ้น ทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็น Leica II Model D, Leica Standard Model E, Leica III model F และแม้แต่กล้องที่เราจะกล่าวถึง ต่อไป คือ Leica 250 Model FF, Model GG, Leica IIIa Model G และ Leica IIIb

Leica III Model F

การที่โรงงาน Lietz เริ่มผลิตกล้องถ่ายภาพออกจำหน่าย ทำให้กล้องถ่ายภาพเหล่านี้ไม่ยากต่อการแสวงหาอีกต่อไป และราคาที่ไม่สูงเท่ากับกล้องถ่ายภาพในยุคแรกๆ เป็นต้นว่า กล้อง Leica II Model D ถ้าเป็นแบบเคลือบสีดำหรือที่เรียกว่ารุ่น Black ราคาประมาณการไม่ต่ำหว่า 350 เหรียญสหรัฐ (ข้อมูลและราคาที่ปรากฏในปี 1992) โอกาสที่จะหาพบได้ในตลาดสะสมประมาณ 14 วันต่อหนึ่งกล้อง และถ้าเป็นกล้องที่เคลือบด้วยโครเมียม มีราคาประมาณการ ไม่ต่ำกว่า 300 เหรียญสหรัฐ โอกาสที่จะหาพบได้ในตลาดสะสมกล้องประมาณ 1-3 เดือนต่อกล้อง แต่ราคาที่กล่าวถึงนี้ เป็นแค่ราคาประมาณการ ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ถึง 300% ตามสภาพของกล้องและความชื่นชอบของแต่ละบุคคล (ข้อมูลและราคาที่ปรากฏในปี 1992)

ส่วน Leica Standard Model E ราคาไม่ต่ำกว่า 350 เหรียญสหรัฐ โอกาสที่จะหาพบได้ในตลาดสะสมกล้อง ประมาณ 1-3 เดือนต่อกล้องเช่นเดียวกัน และสำหรับ Leica III Model F ทั้งแบบ Black และแบบ Chrom ก็อยู่ในอัตราที่ไม่แตกต่างจากที่กล่าวมาแล้ว คือ แบบ Black มีราคาไม่ต่ำกว่า 350 เหรียญสหรัฐ โอกาสที่จะหาพบได้ในตลาดสะสมกล้องประมาณ 3-6 เดือนต่อกล้อง และแบบ Chrom มีราคาไม่ต่ำหว่า 250 เหรียญสหรัฐเป็นอีกรุ่นหนึ่งที่มีแพร่หลายหาได้ง่ายในตลาดสะสมกล้อง และอย่างที่บอกเสมอก็คือ ราคาที่กล่าวมาก็อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ถึง 300% เช่นเดียวกัน  (ข้อมูลและราคาที่ปรากฏในปี 1992)

สิ่งสำคัญที่ทำให้กล้อง Leica ทั้ง 3 รุ่นนี้เด่นสะดุดตานักสะสมกล้องในยุคนี้ ได้แก่ การที่กล้องรุ่นเหล่านี้เป็นกล้องรุ่นแรกๆ ที่มีการจารึกชื่อ “Leica” ลงบนตัวกล้อง จากแต่เดิม กล้อง Leicaที่ผลิตออกมา จะปรากฏแต่ชื่อของโรงงาน Leitz และ ชื่อของเลนส์ที่กำกับอยู่ที่แหวนของเลนส์และนับตั้งแต่ Leica II Model D เป็นต้นมา ตรงด้านบนของเครื่องหาระยะชัด จะมีการจารึกชื่อ “Leica” พร้อมกับชื่อของ “Ernst Leitz Wetzlar’ และชื่อย่อ “D.R.P.” ลงไปด้วยโดยยังคงมีหมายเลขกำกับอยู่

Viewfinder/Rangefinder on Leica III

Detail of slow speed dial on Leica III

การพัฒนาอุตสาหกรรมกล้องถ่ายภาพในทศวรรษ 1930 มีความเข้มข้นไม่แพ้การเมืองของโลก ซึ่งกำลังร้อนระอุจนบานปลายเกิดเป็นอภิมหาสงครามโลกครั้งที่ 2 กล้องถ่ายภาพที่ผลิตออกสู่ตลาดในยุคนั้น นอกจากแต่ละค่ายจะต้องประดิษฐ์คิดค้นในแง่เทคนิควิธีการใช้แล้ว ยังต้องพัฒนาให้เป็นกล้องถ่ายภาพที่เหมาะสมต่อการใช้งานด้วย ดังจะเห็นได้ว่า ในปี ค.ศ. 1934 โรงงาน Leitz ได้ผลิตกล้องถ่ายภาพรุ่นพิเศษออกมารุ่นหนึ่ง เป็นที่อกถูกใจนักข่าวเป็นอย่างมาก จนถูกเรียกว่า Reporter Leica หรือ กล้อง Leica นักข่าว ในปีถัดมา ไลทซ์ ก็ผลิตกล้องถ่ายภาพที่เพิ่มขนาดความเร็วชัตเตอร์ให้สูงขึ้นไปอีก เพื่อเอาใจช่างภาพกีฬาทั้งหลายที่กำลังใจจดใจจ่ออยู่กับมหกรรมการแข่งรถกรังซ์ปรี ในประเทศเยอรมนี  

เรามาดูกันเลยดีกว่าว่า กล้องแต่ละตัวพิเศษกันอย่างไร

Leica 250 Model FF และ GG

ในปี ค.ศ. 1933 ระหว่างที่ไลทซ์ ผลิตกล้อง Leica รุ่นต่างๆออกสู่ตลาด ไม่ว่าจะเป็น Leica IIModel D, Leica Standard Model C หรือ Leica III Model F ภายในโรงงานได้มีการประดิษฐ์กล้องรุ่นใหม่ออกมาอีก 2 กล้อง เรียกกันว่ารุ่น  FF เพราะเป็นรุ่นที่พัฒนาต่อจาก Leica III Model F การนำลำดับตัวอักษร A, B, C,…. มาใช้เรียกชื่อกล้องที่ผลิตขึ้น นับเป็นแบบอย่างที่ดีอีกประการหนึ่งของระบบการผลิตในยุคนั้น

กล้อง Leica Model FF มีรูปร่างหน้าตาแปลกไปจากกล้องในรุ่นก่อนหน้า คือ มีขนาดใหญ่ขึ้น กลักฟิล์มสามารถบรรจุฟิล์มได้ยาวถึง 10 เมตร บันทึกภาพได้ 250 ภาพ ลักษณะดังกล่าว  จึงเป็นที่มาของฉายาที่ใช้เรียกกล้องรุ่นนี้ด้วย ซึ่งถูกเรียกในชื่อต่างๆ กัน เช่น The Big, Leica 250 และ Ten-metve Leica คุณสมบัติของกล้อง Leica รุ่นใหม่ นับเป็นกล้องถ่ายภาพที่เอื้อประโยชน์ต่อนักข่าวมืออาชีพ  (Photo-Journalist) เป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ต้องบันทึกภาพเป็นจำนวนมากๆ ติดต่อกัน โดยไม่อยากเสียเวลามานั่งเปลี่ยนกลักฟิล์มบ่อยๆ กล้อง Leica 250 จึงมีฉายาที่ใช้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า กล้อง Reporter Leica หรือ กล้องไลก้านักข่าว!!

Leica 250 Model FF และ GG

การบรรจุและขับเคลื่อนฟิล์มทำได้สะดวกง่ายดายมากขึ้นโดยใช้ฟิล์มม้วน บรรจุที่ด้านล่างของตัวกล้อง โดยพาดแผ่นฟิล์มจากช่องด้านหนึ่งไปยังซี่เฟืองอีกด้านหนึ่ง ตลับฟิล์มจะเปิด-ปิด อัตโนมัติ เมื่อมีการเปิด-ปิดฝาด้านล่างของตัวกล้อง การขับเคลื่อนฟิล์มใช้ระบบ Cassette-to-Cassette Operation ซึ่งนับเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นหนึ่งที่ Leica มีส่วนพัฒนาขึ้นชัตเตอร์ทำงานในระบบกลไก เช่นเดียวกับ Leica III model F และยังคงต้องปรับ ขนาดความเร็วชัตเตอร์ด้วยการหมุนปุ่มบนตัวกล้อง ซึ่งมีขนาดความเร็วชัตเตอร์ให้เลือกใช้ 2 แบบ คือ แบบ Slow Speed ตรงปุ่มเล็กๆ ด้านหน้า ปรับเลือกได้ตั้งแต่ขนาด 1, 1/2, 1/4, 1/8 และ 1/20 วินาที พร้อมชัตเตอร์ T กับความเร็วชัตเตอร์ตั้งแต่ขนาด 1/20 ถึง 1/500 วินาที บนปุ่มด้านซ้ายของตัวกล้อง ต่อมาใน ค.ศ.1935 เมื่อโรงงาน Leitz ผลิตกล้อง Leica IIia Model G ซึ่ง เพิ่มขนาดความเร็วชัตเตอร์ขึ้นไปอีกถึง  1/1000 วินาที  Leica 250 ที่อยู่ในสายการผลิตก็ได้รับการพัฒนาให้มีขนาดความเร็วชัตเตอร์ 1/1000 วินาทีด้วย โดยเรียกรุ่นนี้ว่า Model GG

Leica 250 เริ่มผลิตออกสู่ตลาดจำนวน 60 กล้อง ในปี ค.ศ. 14934 สองปีต่อมาผลิตเพิ่มขึ้นปีละ 70 กล้องจากนั้นผลิตในอัตราเฉลี่ยปีละ 100 กล้อง จนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่สองจึงยุติการผลิตลงในปี ค.ศ. รวมทั้ง 2 Model (FF กับ GG) จะมีเพียง 952 กล้อง เท่านั้น

ต้นแบบของกล้องรุ่นนี้ยังเป็นแบบ Black หรืออีกนัยหนึ่ง ยังคงเคลือบส่วนที่เป็นโลหะด้วยสีดำ แต่สิ่งสำคัญที่พัฒนาขึ้นในกล้อง Leica รุ่นนี้ นอกจากขนาดที่ใหญ่โตกว่าปกติแล้วยังมีที่นับจำนวนภาพที่ถ่ายภาพ ปุ่มกรอฟิล์ม หลังจากที่มีการบันทึกภาพไป 2 ครั้ง ปุ่มทั้งสองจะขับเคลื่อนไปช้าๆ โดยอาศัยซี่เฟืองขนาดเล็กที่หมุนรอบซี่เฟืองใหญ่ ซึ่งแตกต่างจากกล้อง Leica ในรุ่นก่อนหน้าที่ต้องปรับเลื่อนโดยอาศัยปุ่มทั้งหมด อย่างไรก็ดี เมื่อระบบนี้ใช้ได้ผลดี ในท้ายที่สุดก็ได้นำไปใช้ในกล้อง Leica รุ่นปกติด้วย

หมายเลขของกล้องสองตัวแรกที่ผลิตขึ้นใน ค.ศ. 1933 คือ หมายเลข 114051 กับ 114052  กล้องรุ่นนี้ยังไม่มีความเร็วชัตเตอร์แบบ Slow Speed และหมายเลขกล้องที่ผลิตในปีต่อๆ มาไม่ได้เรียงลำดับกัน กล้อง Leica 250 ตัวที่แสดงอยู่ ณ พิพิธภัณฑ์ของ Leitz ที่เมือง Wetzlar มีหมายเลข 353753 ซึ่งเป็นรุ่นที่ผลิตขึ้นหลังสุด และสุดท้ายจริงๆ ของกล้อง Leica รุ่นนี้คือหมายเลข 353800 ผลิตในปี ค.ศ.1934 ในจำนวนทั้งหมดบางส่วนมุ่งส่งไปจำหน่ายที่ตลาดในสหรัฐอเมริกาบางส่วนก็เป็นกล้องที่ทำจำลองขึ้น และบางส่วนก็ทำแบบชุปโครเมี่ยม แต่ก็มีไม่มากนัก

ก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่สองได้มีการติดตั้งมอเตอร์ไดรฟ์  ทำงานในระบบไฟฟ้า เพื่อช่วยในการขับเคลื่อนฟิล์มที่มีขนาดยาวมาก เข้าใจว่ามีไม่ถึง 200 ตัว มอเตอร์ไดรฟ์ที่ผลิตขึ้นมีขนาดใหญ่ เป็นแบบติดตั้งอยู่ภายนอกตัวกล้อง ยกเว้นกล้องที่มีตัวอักษรM ปรากฏอยู่ (ดังรูป)

Code ของกล้อง ถ้าไม่มีเลนส์ใช้ LOOMY ถ้าติดตั้งเลนส์ ELMAR F 3.5 ใช้ LOOYE และถ้าติดตั้งอุปกรณ์เสริมใช้ ESFOO

อนึ่ง เรื่องราวของกล้อง Leica รุ่นนี้ จริงๆ แล้วน่าทึ่งไม่แพ้รูปร่าง กล่าวคือ นอกจากจะเป็นผลการทดลองครั้งยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งของโรงงาน Leitz ในช่วงต้นทศวรรษ 1930 ในเรื่องของประวัติการใช้งานของกล้อง นับเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ ว่ากันว่ากล้องไลก้ารุ่นนี้เป็นกล้องถ่ายภาพที่ใช้ในกองทัพนาซีในสงครามโลกครั้งที่สอง ส่วนหนึ่งใช้ติดตั้งบนเครื่องบินเพื่อการบันทึกภาพถ่ายทางอากาศ จึงปรากฏว่า เป็นกล้อง Leica รุ่นที่ค่อนข้างหายากในตลาดสะสมกล้องและมีราคาแพง กล้อง Leica 250 Model FF นั้นมีราคาไม่ต่ำกว่า 5,000 เหรียญสหรัฐ แต่โอกาสที่จะหาพบได้ในตลาดสะสมกล้อง อาจต้องรอฟลุคถึง 10 ปีต่อกล้อง ส่วนรุ่นถัดมา หรือ Model GG นั้น มีราคาเท่ากันแต่ไม่ถึงกับต้องรอนาน เพียง 3-5 ปีก็อาจจะพบได้สัก 1 กล้อง และรุ่นที่ติดตั้งมอเตอร์ไดรฟ์แบบ Motor Coupled ยิ่งมีราคาสูงขึ้นไปอีกคือประมาณ 6,000 เหรียญสหรัฐ โอกาสที่จะหาพบได้ในตลาดสะสมกล้อง ประมาณ 5 ปีต่อกล้อง และรุ่นสุดท้ายคือ Leica 250 with Motor นั้นมีราคาสูงถึง 12,000 เหรียญสหรัฐ และโอกาสที่จะหาพบได้ในตลาดสะสมกล้องเหมือนกับ Model FF คือ 10 ปีต่อกล้อง โดยที่โอกาสและราคาที่กล่าวมาทั้งหมดยังมิใช่เกณฑ์ที่กำหนดไว้ตายตัว เป็นแค่การประมาณการเท่านั้น และสามารถเปลี่ยนแปลงได้ถึง 300% ตามสภาพกล้อง และรสนิยมของแค่ละบุคคล (ข้อมูลและราคาที่ปรากฏในปี 1992)

ย้อนไปดูตอนที่ 1 ได้ลิงค์ข้างล่างนี่

Leica…ตำนานกล้องที่ช่างภาพใฝ่ฝัน (กำเนิดกล้อง Leica)

ย้อนไปดูตอนที่ 2 ได้ลิงค์ข้างล่างนี่

Leica…ตำนานกล้องที่ช่างภาพใฝ่ฝัน ตอน 2 (ปอกเปลือก…UR-CAMERA)

ย้อนไปดูตอนที่ 3 ได้ลิงค์ข้างล่างนี่

Leica…ตำนานกล้องที่ช่างภาพใฝ่ฝัน ตอน 3 (Leica I หรือ Leica model A)

ย้อนไปดูตอนที่ 4 ได้ลิงค์ข้างล่างนี่

Leica…ตำนานกล้องที่ช่างภาพใฝ่ฝัน ตอน 4