เรื่อง+ภาพ : ApochTophy’s

หลายครั้งหลายหนที่เราเดินถ่ายรูปอยู่ริมถนน แล้วมองเห็นเครื่องปั้นดินเผาน่าสนใจใบหนึ่ง ยกกล้องขึ้นถ่ายกดชัตเตอร์… หรือว่ามีสามล้อจอดอยู่ริมรั้วที่เราบังเอิญเดินไปเจอแล้วถ่ายภาพเก็บไว้… และไม่แปลกที่เราจะเคยถ่ายภาพสายไฟที่พันกันยุ่งเหยิงอยู่เหนือหัวเราขึ้นไป… ภาพแบบที่ยกตัวอย่างมานั้นแหล่ะครับ ที่เราเรียกว่า “Found objects” 

ในขณะเดียวกัน ถ้าหากว่าเราเดินถ่ายรูปอยู่ริมถนน มีเด็กกำลังเลียไอติม จังหวะนั้นเรายกกล้องกดชัตเตอร์ถ่ายภาพไว้… หรือมีคนกำลังเดินผ่านช่องตึก หรืออะไรก็ได้ที่เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาเราแบบกะทันหัน ภาพแบบนี้เราเรียกกันว่าภาพ “Snapshot”

ดูเหมือนว่าภาพแบบ “Found objects” และภาพแบบ “Snapshot” นั้นจะมีที่มาคล้ายๆ กัน แต่กลับมีความแตกต่างกันอยู่มากในเรื่องของเนื้อหาและความหมายของภาพ

ภาพประเภท Found objects ลักษณะจะเป็นภาพถ่าย วัตถุ สิ่งของ ที่เราบังเอิญไปพบเจอ แล้วเห็นว่าน่าสนใจ จึงบันทึกภาพเก็บไว้ โดยที่ไม่มีการจัดวาง ไม่ต้องใส่ความคิด หรือทำอะไรที่มากไปกว่าการกดชัตเตอร์

ส่วนภาพประเภท Snapshot นั้นคือภาพของสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ฉับพลันไม่ได้ตั้งใจ อาจจะเป็นช่วงเวลาแค่เสี้ยวนาที ที่สนุกสนาน หัวเราะ ร้องไห้ ฯลฯ ที่เราบันทึกภาพไว้ได้

อันที่จริงแล้ว ภาพ Snapshot เริ่มมีให้เห็นมาตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 แล้ว เดิมทีกระบวนการผลิตภาพถ่ายภาพถ่ายนั้นผลิตด้วยเทคโนโลยีแบบ wet platre (ระบบผลิตภาพถ่าย แผ่นพิมพ์เปียก wet platre ใช้สารละลายในอีเธอร์และแอลกอฮอล์ กับแผ่นกระจก) แต่แล้วในปี 1880 ระบบผลิตภาพถ่ายแบบ dry plate (ระบบพิมพ์ภาพถ่ายด้วยสารเจลาติน (Gelatin) ฉาบบนแผ่นกระจกตอนหลังมีการพัฒนาเป็นกระดาษม้วน) การเกิดขึ้นของระบบ Dry plate นี่เองที่ทำให้การถ่ายภาพง่ายขึ้นกว่าเดิม ทำให้เกิดการถ่ายภาพในรูปแบบใหม่เกิดขึ้นมากมาย (ซึ่งก็มีกลุ่มผู้ถ่ายภาพประเภท Snapshot นี้เกิดขึ้นมาด้วย)  

ภาพถ่ายที่เกิดขึ้นใหม่นี้มีความหลากหลายมากขึ้น และมีภาพถ่ายจำนวนมากที่เป็นเพียงเรื่องบังเอิญที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผู้คนในย่านร้านค้า สัตว์เลี้ยง ฯลฯ ภาพแบบ Snapshot นั้นหลายคนอาจจะคิดว่าเหมือนกับภาพ Candid แต่อันที่จริงแล้วมีความแตกต่างกันอยู่เล็กน้อยที่วิธีการ ภาพแคนดิตจะมาจากการที่เราเฝ้ารอ หรือคอยจังหวะที่จะกดชัตเตอร์ จากบุคคลที่เราต้องการจะแอบถ่าย หรือบุคคลที่เราสนใจจะถ่ายภาพ แต่ภาพ Snapshot นั้นเกิดขึ้นก่อนที่เราหรือขณะที่เราคิดจะถ่าย โดยที่เราอาจจะไม่จำเป็นต้องทำการแอบถ่าย ไม่ต้องวางแผน และไม่ต้องมีการรอคอยใดๆ ซึ่งนั่นก็เป็นจุดเริ่มของภาพถ่ายประเภท Street Photography นั่นเอง

สำหรับภาพประเภท Found objects นั้นเกิดขึ้นมาในช่วงที่ภาพถ่ายประเภท Street Photography เป็นที่นิยม มีช่างภาพ Street Photography จำนวนมากที่ถ่ายภาพแบบที่เน้นเฉพาะภาพ Found objects ซึ่งพื้นฐานการทำงานที่ฉับไว รวดเร็ว ประเภทว่าเดินไปแล้วเจอพอดี ก็กดชัตเตอร์กลับมาในชั่วขณะนั้น หรือเดินไปเจอสิ่งของเครื่องใช้ที่น่าสนใจก็บันทึกภาพไว้ด้วยเช่นกัน ซึ่งภาพแบบที่เน้น Found objects นั้นแม้จะเป็นภาพสิ่งของ เหมือนภาพ Still Life แต่ความแตกต่างจะอยู่ตรงที่ การจัด หรือไม่ได้จัดถ่ายนั่นเอง ภาพ Still Life จะต้องมีการวางแนวคิด การจัดวางวัตถุ สิ่งของต่างๆ ให้ได้องค์ประกอบ ได้สัดส่วน ส่วนภาพแบบ Found objects จะไม่ได้มีการจัดถ่ายแต่อย่างใดทั้งสิ้น

ในส่วนของเทคนิคการถ่ายภาพทั้งสองแบบนั้น สิ่งสำคัญจะอยู่ที่ความรวดเร็ว ฉับไวในการตัดสินใจ และในการกดชัตเตอร์ถ่ายภาพ สิ่งแรกที่เราควรฝึกฝนก็คือ การทำความเข้าใจในกล้องถ่ายภาพที่เป็นเครื่องมือในการทำงาน ปุ่มต่างๆ ปรับค่าตรงไหน อย่างไร การเปลี่ยนเลนส์ การเลือกระบบวัดแสง ระบบโฟกัส ถ้าเราสามารถควบคุมกล้องได้อย่างที่ใจต้องการ เราก็จะสามารถปรับค่าต่างๆ ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โอกาสในการบันทึกภาพก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย