เรื่อง+ภาพ : ISO9000….

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 234/2017 March

ในการถ่ายภาพ…โดยทั่วไป…เพื่อนๆ นักถ่ายภาพที่ออกถ่ายภาพกัน คงจะได้เจอะเจอปัญหาที่ว่า…ถ่ายภาพมาแล้วได้ภาพที่ไม่ถูกใจ หรือ เกือบจะถูกใจ หลายท่านเหมือนกันที่เลือกทางออกโดยการ…ลบภาพทิ้ง…ทำให้สูญเสียภาพที่อาจจะดีไปอย่างน่าเสียดาย…ผมอยากจะชวนท่านมาคิดอีกรูปแบบหนึ่ง…อย่าเพิ่งลบภาพทิ้ง…แต่ให้นำภาพถ่ายที่เกือบจะทิ้งของท่าน นำมา…พิจารณาภาพใหม่…และหาทางแก้ไขด้วยการ…Crop หรือ การตัดส่วนภาพ…ท่านอาจจะพบว่าท่านได้ภาพที่ดีอย่างไม่น่าเชื่อทีเดียว

ในเรื่องของภาพถ่ายที่มีการนำเสนอทั้งใน การแสดงภาพถ่าย หรือ นำเสนอใน Social Network นั้น มีไม่น้อยที่ผ่านกระบวนการ Crop ภาพ หรือ ตัดส่วนภาพใหม่ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เทคนิค…การ Crop ภาพ…จึงเป็นวิธีหนึ่งในการปรับปรุงให้ภาพถ่ายของท่าน กลายเป็นภาพถ่ายที่สมบูรณ์น่าชมยิ่งขึ้น

ปัญหาของภาพถ่าย

เมื่อจะคุยกันถึงเรื่องของการ Crop ภาพถ่าย สิ่งที่ท่านควรพิจารณาภาพถ่ายของท่านก่อนทิ้งว่า ปัญหาที่ท่านไม่ชอบภาพถ่ายนั้นเกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง แล้วปัญหานั้น มีโอกาสที่จะแก้ไขให้ดียิ่งขึ้นได้หรือไม่ ปัญหาที่มักจะเกิดกับภาพถ่ายของท่านนั้น ถ้าเราตัดปัญหาเรื่องสำคัญออกไปก่อน 2 เรื่อง นั่นคือ เรื่องแรกเป็นเรื่องของภาพที่ถ่ายได้ไม่คมชัด ปัญหานี้ในการแก้ไขภายหลังทำได้ยาก และคุณภาพก็เสียไป ปัญหาที่สองคือเรื่องสีและ ความมืดสว่างของภาพ ปัญหานี้อยู่ที่มันเกิดมากน้อยเพียงไร ถ้าไม่มากนัก ก็ยังสามารถปรับปรุงแก้ไขให้ได้คุณภาพดีพอควร แต่ถ้าค่าความผิดพลาดสูง นึกไว้เลยว่า  โอกาสที่จะได้ภาพถ่ายคุณภาพดี ก็จะลดลงตามคุณภาพที่เสียไป

แต่ถ้าภาพถ่ายของท่าน มีคุณภาพความคมชัดดี ค่าแสงดี ค่าสีดี ภาพของท่านมีโอกาสที่จะนำมาปรับปรุงให้ได้ภาพถ่ายที่มีคุณภาพดีได้มากยิ่งขึ้น 

ถ้าภาพถ่ายของท่านมีคุณภาพการถ่ายมาดี  ปัญหาของภาพถ่ายของท่านก็มักจะเกิดจากสาเหตุต่อไปนี้

  1. องค์ประกอบภาพถ่ายไม่ถูกใจ
  2. มีสิ่งรบกวนในภาพถ่ายมากเกินไป หรือ รกเกินไปไม่ถูกใจ
  3. ขนาดของวัตถุที่ต้องการ ไม่ถูกใจ อาจจะเนื่องมาจากขนาดของเลนส์ไม่ถึง
  4. เนื้อเรื่องในภาพถ่าย ไม่ถูกใจการพิจารณา ภาพที่จะนำมา Crop ภาพใหม่

ตัวอย่างที่ 1 จากการถ่ายภาพเหยี่ยวแดง เป็นภาพถ่ายที่มีความคมชัด และสีสันดี  แต่ในภาพถ่ายเราจะพบว่า มีนกที่รกอยู่ในภาพคือส่วนปีกที่เกินมาในฝั่งขวาและนกที่อยู่ส่วนบนของภาพ เราสามารถตัดส่วนที่ไม่ต้องการออกไป เพื่อให้เหลือนกเพียงตัวเดียว ทำให้ภาพน่าดู วางองค์ประกอบแบบสามส่วนได้ดีขึ้น มีจุดสนใจเพียงจุดเดียวในภาพได้

ในการพิจารณาภาพถ่าย ที่ท่านจะนำมาทำการ Crop ภาพ หรือ ตัดส่วนภาพใหม่นั้น ท่านจะพิจารณาเลือกภาพได้อย่างไร  เรื่องนี้เป็นเรื่องไม่ยาก ถ้าท่านจะได้ลองพยายามพิจารณาภาพดู

ประการแรก ภาพที่ท่านจะนำมาทำการตัดส่วนภาพนั้น ควรจะต้องเป็นภาพถ่าย ที่ถ่ายมาแล้ว มีความคมชัดดี มีค่าแสงที่ค่อนข้างดี ไม่มืดเกินไป หรือสว่างเกินไป และมีคุณภาพของสีสันที่ถูกต้องดี

ประการที่ 2 ภาพที่ท่านจะนำมา Crop หรือ ตัดส่วนใหม่ ท่านต้องระลึกเสมอว่า ขนาดของภาพจะมีขนาดที่เล็กลง  เพียงพอต่อการใช้งานได้หรือไม่ วันนี้ต้องขอขอบคุณ การถ่ายภาพในระบบดิจิตอล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขนาดเซ็นเซอร์ที่ใหญ่ขึ้น ขนาด Full frame หรือ APS-C ที่แม้ว่าท่านจะ Crop หรือตัดส่วนของภาพเหลือเพียง 25% ของภาพถ่าย ท่านก็ยังมีโอกาสที่จะได้ภาพถ่าย ที่สามารถขยายใหญ่ใช้งานได้คุณภาพในระดับ A4 เลยทีเดียว แต่ถ้าท่านใช้กล้องที่เซ็นเซอร์ขนาดเล็กกว่าที่กล่าวข้างต้นขนาดของภาพถ่ายที่ใช้งานจริงก็อาจจะมีขนาดเล็กลงตามการตัดส่วนของภาพ

ตัวอย่างที่ 2 มีลักษณะเดียวกับตัวอย่างที่ 1 เลือกการตัดส่วนภาพ ตัดส่วนของนกที่มีเกินมาในภาพออก ก็จะได้ภาพที่มีองค์ประกอบและจุดสนใจในภาพเพียงตัวเดียวได้

ตัวอย่างที่ 3 และ 4 จะมีลักษณะที่คล้ายกัน ในตัวอย่างที่ 3 เราจะพบว่ามีพื้นที่ในภาพว่างมากเกินไป ส่วนในตัวอย่างที่ 4 มีทั้งพื้นที่ว่างและ มีส่วนเกินคือนกในมุมขวาของภาพ การเลือกตัดส่วนภาพ เลือกตัดส่วนภาพในแนวตั้ง  เพื่อลดพื้นที่ว่าในภาพให้น้อยลง เลือก Crop ภาพ ให้เป็นภาพในแนวตั้ง คงนกไว้ 2 ตัว เพื่อเพิ่มเรื่องราวในภาพถ่าย

ประการที่ 3 พิจารณาภาพถ่ายของท่าน ว่ามีสิ่งที่รบกวนในภาพที่ท่านไม่ต้องการว่า มีโอกาสตัดส่วนทิ้ง หรือ ลบออกได้ด้วยซอฟแวร์ ได้หรือไม่ ถ้าอยู่ในวิสัยที่ทำได้ ท่านมีโอกาสที่จะตัดทิ้ง หรือลบส่วนที่ไม่ต้องการออกได้

ประการที่ 4 พิจารณาภาพถ่ายของท่าน ขณะทำการตัดส่วน จัดการปรับในเรื่องขององค์ประกอบให้ดีขึ้น จะทำให้ภาพถ่ายของท่าน น่าชมมากยิ่งขึ้น

ประการสุดท้าย พิจารณาภาพถ่ายของท่าน เลือกการ Crop หรือ ตัดส่วนภาพถ่าย ให้มีเรื่องราวภายในภาพถ่ายที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ตามที่ท่านต้องการ

ตัวอย่างที่ 5 จากการพิจารณาในภาพถ่าย พบว่า นกตัวที่ต้องการถ่ายภาพ มีความคมชัดและรายละเอียดยังดีอยู่มาก แต่ขนาดของช่วงเลนส์ไม่เพียงพอสำหรับการถ่ายภาพที่จะให้ได้นกขนาดใหญ่ แต่คุณภาพไฟล์ภาพดีมาก จึงทำการตัดส่วนเป็นภาพแนวตั้ง ยอมเสียพื้นที่ส่วนใหญ่ของภาพที่ไม่น่าสนใจออก ให้เหลือเพียงส่วนของกิ่งไม้ที่นกเกาะอยู่ ซึ่งความจริงแล้วหลายท่านอาจจะทิ้งภาพนี้ไป แต่การตัดส่วนที่พอเหมาะ จะทำให้ท่านยังคงได้ภาพที่น่าใช้งานได้เป็นอย่างดี

ตัวอย่างที่ 6 เหตุผลคล้ายกับในตัวอย่างที่ 5 ซึ่งในภาพจะพบว่า เป็นภาพถ่ายที่มีคุณภาพใช้งานได้อยู่แล้ว แม้ว่าจะมีสภาพบรรยากาศรอบข้างที่ค่อนข้างรกไปหน่อย ทำให้ความสำคัญของวัตถุที่ต้องการถ่ายภาพลดไป แต่ให้นึกเสียดายลีลาของการโผขึ้นบินของนก ตัวนี้คือ ไอ้งั่ว เป็นนกที่เสียงต่อการสูญพันธุ์ชนิดหนึ่ง การตัดส่วนของภาพเน้นที่ลีลาการโผบินของนก ทำให้ได้ภาพที่น่าชมมากยิ่งขึ้น

ภาพถ่ายที่ท่านไม่ถูกใจ…..อย่าทิ้ง…..ลองนำภาพถ่ายมาพิจารณาดู ตัดส่วนภาพใหม่ ท่านจะพบว่า ภาพถ่ายอีกหลายๆ ภาพของท่าน สามารถปรับใหม่ด้วยการ Crop หรือตัดส่วนใหม่ได้ แล้วท่านจะพบว่า อีกหลายๆ ภาพถ่ายของท่าน จะเป็นภาพที่น่าสนใจขึ้นมาได้ทันทีครับ…..