เรื่อง : นพดล

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine ฉบับ 250/2018 July

สงครามไลก้า

เห็นจั่วหัวแล้ว ท่านผู้อ่านอย่าเพิ่งตกใจว่า Leica ไปก่อสงครามหรือทะเลาะวิวาทเอากับใครถึงขั้นต้องขับเคี่ยวเอาเป็นเอาตายกัน แต่เรื่องราวของกล้อง Leica ที่จะหยิบยก มาเล่าเป็นกรณีพิเศษใน “CAMERART” ตอนนี้ เป็นกล้อง Leica ที่เข้าไปมีเอี่ยวอยู่ใน สงครามโลกครั้งที่ 2 ต่างหาก

พูดถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 (ระหว่างปี ค.ศ. 1939-1945) ท่านผู้อ่านคงรู้กันแล้วว่า เป็นสงครามครั้งใหญ่ระดับโลก มีชาติต่างๆ เข้าร่วมหลายสิบชาติ ชาติที่เป็นหัวหน้าทีมคู่กรณีที่เด่นๆ ก็มีเยอรมัน อิตาลี ญี่ปุ่น เรียกว่าฝ่ายอักษะ พวกหนึ่ง กับ ฝ่ายสัมพันธมิตร อันมี สหรัฐ อังกฤษฝรั่งเศส รัสเซีย และจีน อีกพวกหนึ่ง

ทีนี้ก็อย่างที่พวกเราทราบกันคือ Leica เป็นกล้องที่ผลิตในเยอรมัน และกำลังเป็นกล้องที่ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่นักถ่ายภาพ และกลุ่ม “มืออาชีพ” โดยเฉพาะในแง่ของการเป็นกล้องที่แข็งแกร่ง ทนทาน และทำงานเป็นเยี่ยมในขณะนั้น เมื่อเกิดสงครามโลกขึ้นในปี ค.ศ. 1939 โรงงานไลทซ์ ผู้ผลิตกล้อง Leica จึงเป็นโรงงานอุตสาหกรรมอีกแห่งหนึ่งที่ถูกรัฐบาลควบคุมตาม “กฎอัยการศึก” และต้องผลิตกล้อง Leica ตาม “ใบสั่ง” หรือ “Order” ของกระทรวงกลาโหมแต่เพียงประการเดียว

ทางฝ่ายสัมพันธมิตรเองใช่ว่าจะยอมน้อยหน้า บางประเทศออกคำสั่ง “อายัดทรัพย์” กล้อง Leica ที่ไลทซ์ส่งไปขายและ ยังเก็บอยู่ใน “โกดังสินค้า” ของตน และบางประเทศซ้ำร้ายยิ่งกว่า คือมีการออก “หมายเกณฑ์” บุคคลผู้มีกล้องถ่ายภาพไว้ในครอบครองให้นำกล้องส่งมอบต่อทางการ เพื่อนำไปใช้ต่อในราชการสงคราม เรียกว่า ถูกเกณฑ์ทั้งคนทั้งกล้อง กันเลยทีเดียว  ซึ่งก็ยังปรากฏอยู่อีกว่า หลังสงครามโลกสงบแล้ว  เจ้าของกล้องบางรายยังได้กล้องของตนคืนอีกแนะ…ไม่รู้อะไรจะโชคดีปานนั้น

กล้อง Leica ที่ถูกเกณฑ์เข้าสู่สนามรบ นับว่ามีอยู่มากมายหลายแบบ เรียกกันโดยทั่วไปว่าเป็น “Military Version” แต่เรื่องราวของกล้องเหล่านี้ยังต้องอาศัยการตรวจสอบข้อมูลอีกมากมาย เนื่องจากเท่าที่มีบันทึกไว้ใน โรงงานไลทซ์เอง กับที่ปรากฏตามงานวิจัย บางครั้งไม่สัมพันธ์กัน บ้างก็ไม่สามารถยืนยันได้ ฉะนั้นสิ่งที่จะเสนอต่อไปข้างหน้า จึงเป็นเพียงเรื่องราวของกล้อง Leica ชุด “Military Version” แต่เรื่องราวของกล้องเหล่านี้ยังต้องอาศัยการตรวจสอบข้อมูลอีกมาก เนื่องจากเท่าที่มีบันทึกไว้ในโรงงานไลทซ์เอง กับที่ปรากฏตามงานวิจัย บางครั้งไม่สัมพันธ์กัน บ้างก็ไม่สามารถยืนยันได้ ดังนั้นสิ่งที่จะเสนอต่อไป จึงเป็นเพียงเรื่องราวของกล้อง Leica Mililtary Version เท่าที่สามารถตรวจสอบได้จาก “ภาพถ่าย” และหมายเลขการผลิตกล้อง (Serial Number) เป็นหลัก

เริ่มจากกล้อง Leica ของฝ่ายเยอรมัน

กล้อง Leica ที่ทางกระทรวงกลาโหมเยอรมันสั่งซื้อ ในระยะแรกยังไม่มี “คำสั่ง” ระบุให้ทางโรงงานสลักชื่อหรือสัญลักษณ์อื่นใดไว้เป็นพิเศษ ยกเว้นกล้องที่จะนำไปใช้ในกองทัพอากาศ ซึ่งนอกจากจะได้รับการพัฒนาเทคโนโลยีให้ก้าวหน้ามากขึ้น เพื่อนำไปติดตั้งบนเครื่องบินรบได้แล้ว ยังมีการสลักสัญลักษณ์ “FL” ไว้หน้าหมายเลขกล้องด้วย เฉพาะตัวอักษร “L” ที่อยู่ด้านหน้า “No 38079” เป็นสัญลักษณ์แสดงว่ากองทัพอากาศเยอรมัน (Luftwaffe อ่านว่า ลูฟท-ฝะ-ฟะ) เป็นผู้สั่งซื้อโดยตรวจจากไลทซ์ เดิมสันนิษฐานกันว่า สัญลักษณ์ “FL. No 38079” น่าจะเป็นหมายเลขที่เกี่ยวข้องกับการผลิตภายในโรงงานหรือ มิฉะนั้นก็คงจะเป็นรหัสย่อทางการทหาร ซึ่งประการหลังน่าจะเข้าท่ามากกว่า เพราะกล้องตัวเดียวจะมีหมายเลขกล้องถึง 2 ที่ได้ก็ดูกระไรอยู่ (ภาพ 1) ส่วนคำว่า “Luftwaffen Eigentum” ที่เห็นตรงขอบด้านหลังของฝาด้านบน (Top plate) นั้นเป็นการสลักเพิ่มในภายหลัง

ภาพ 1. กล้อง Leica IIIc ที่นำไปใช้ในกองทัพอากาศเยอรมัน สลักสัญลักษณ์ Fl. No 38079 และ Luftwaffen-Eigentum.

เกี่ยวกับการสลักสัญลักษณ์ทางทหารลงบนกล้องนี้ ฝ่ายเยอรมันมิได้ใช้สัญลักษณ์อันเดียวกันทั้งหมด บริเวณของกล้องที่มีการสลักสัญลักษณ์กัน มีตั้งแต่การสลักตรงฝาครอบด้านบน ทำเป็นตราประทับลงบนโวลคาไนท์ ที่ฝาหลังกล้อง (ภาพ 2.) และการเคลือบโวลคาไนท์ลงบนฝาหลังกล้อง

ภาพ 2. การทำสัญลักษณ์แบบตราประทับบนโวลคาไนท์ที่ฝาหลังกล้อง

เมื่อกองทัพอากาศมีการสลักสัญลักษณ์ทางการทหารลงบนกล้องแล้ว กองทหารหน่วยอื่นๆ จึงมี “คำสั่ง” ให้สลักสัญลักษณ์ของตนบ้าง อย่างเช่นกองทัพบก มีการสลักคำว่า “Heer” หรือ “W.H.” ซึ่งมาจากคำว่า “Wermacht Heer” ที่แปลเป็นไทยว่า กองทัพบก (ภาพ 3) ส่วนกองทัพเรือ ยังมีอะไรที่พิเศษยิ่งกว่า กล่าวคือ นอกจากจะมีการสลักสัญลักษณ์เป็นอักษร “M” ที่มาจากคำว่า “Marine” แล้ว เหนืออักษร “M” ขึ้นไป ยังมีสัญลักษณ์รูปนกอินทรีย์กางปีก ยืนอยู่เหนือวงกลมที่ล้อมรอบเครื่องหมาย สวัสดิกะ ซึ่งหมายถึงความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรไรซ์ (Reichsadler) (ภาพ 4) และสำหรับกล้องไลก้าที่นำมาไปใช้ในเรือดำน้ำ ตรงปุ่มกรอฟิล์มกลับยังมีการเจาะรูไว้สำหรับแขวนกล้องเข้ากับช่องมองภาพของกล้องเพอริสโคป (periscope) (ภาพ 5)

ภาพ 3. กล้อง Leica IIIc ที่ใช้ในกองทัพบก สลักสัญลักษณ์ Heer ถัดจาก Leica D.R.P. Ernst Leitz Wetzlar

ภาพ 4. กล้อง leica IIIc ที่ใช้ในกองทัพเรือ สลักสัญลักษณ์ “Reichsadle”

ภาพ 5. กล้อง Leica IIIc ที่นำไปติดตั้งเข้ากับกล้องเพอริสโคปในเรือดำน้ำ นอกจากมีเครื่องหมาย Reich sadle แล้ว ยังมีการเจาะรูตรงที่กรอฟิล์มด้วย

ระหว่างที่สงครามดำเนินอยู่วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเริ่มขาดแคลนและเทคนิคบางอย่างคงจะมีการปรับปรุงให้เหมาะสมกับสภาพการใช้งานจึงปรากฏว่าเฉพาะกล้อง Leica IIIc ซึ่งเป็นสายการผลิตหลักในเวลานั้นมีรูปร่างหน้าตาและโครงสร้างการทำงานภายในแตกต่างกันหลายรูปแบบ และแน่นอนโอกาสที่นักสะสมกล้องจะมองหาในตลาดกล้องก็ย่อมแตกต่างกันด้วย กล่าวคือ กล้อง Leica IIIc ที่ผลิตครั้งแรกสุดในช่วงปี 1940-41 ยังเป็นการผลิตแบบ Chrome มีลักษณะคล้ายคลึงกับ Leica IIIb ดังที่เคยกล่าวไว้ใน CAMERART ฉบับก่อน (ภาพ 6) รุ่นต่อมาผลิตแบบเคลือบด้วยสีเทา/กรมท่า (Grey/blue) อยู่ในช่วงปี 1942-44 เป็นรุ่นที่มีการขยายวงแหวนโลหะห่อหุ้มไกชัตเตอร์ดังกล่าวเป็นแบบแผนที่ ไลทซ์ ยึดถือต่อมาจนถึงยุคของ Leica M3 และความเปลี่ยนแปลงประการสำคัญอันถือได้ว่าเป็นการเปิดทางให้แก่การนำฐานเหล็ก (Base plate) พร้อมปุ่มล็อค Slow Speed Shutter กลับมาใช้ใหม่

ภาพ 6. กล้อง Leica IIIc รุ่นแรกที่ผลิตในปี 1940-41

ภาพ 7. กล้อง Leica IIIc ชุด Grey/blue ที่ผลิตในช่วงปี 1942-44 มีการขยายวงแหวนโลหะที่ห่อหุ้มไกชัตเตอร์ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น

ในปี 1942-44 ไลทซ์ ได้ผลิต Leica IIIc ออกมาอีกรูปลักษณ์หนึ่งมีการนำตลับลูกปืน (ballbearing) เขามาใช้ในการผลิตด้วย ซึ่งจะส่งผลทำให้กล้องทำงานได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น แม้ในสภาวะอุณหภูมิต่ำ กล้องLeica รุ่นนี้มีชื่อเรียกว่า Leica IIIck หรือ k type หรือ ‘Kugellar” สัญลักษณ์ที่กำกับสำหรับ Leica IIIck ก็มีการระบุอักษร “K” ต่อจากหมายเลขกล้อง ด้วยสีขาวหรือดำ ว่ากันว่าส่วนตัว “K” นี้น่าจะหมายถึง กล้องที่ทำขึ้นสำหรับใช้ถ่ายภาพในฤดูหนาวโดยเฉพาะในที่ๆ มีอากาศหนาวจัดมากๆ เพราะตัว “K” มาจากคำว่า “Kalfast” ในภาษาเยอรมัน ซึ่งตรงกับ Coldproof (กล้องกันหนาว) ในภาษาอังกฤษนั่นเอง (ภาพ 8-9) 

ภาพ 8. กล้อง Leica IIIck แบบ ball-bearing shutter ระบุสัญลักษณ์ “K” และ “W.H.” ซึ่งหมายความว่าเป็นกล้อง Leica IIIck ที่ใช้ในกองทัพบกเยอรมัน

ภาพ 9. กล้อง Leica IIIck อีกเช่นกัน แต่ตัวนี้ระบุสัญลักษณ์ “FI. No 38079” จึงหมายถึงกล้อง Leica IIIck ที่ใช้ในกองทัพอากาศเยอรมัน

กล้อง Leica IIIc เป็นกล้องไลก้าอีกรุ่นหนึ่งที่เป็นเรื่องเล่าได้ “ไม่รู้จบ” ด้วยเหตุที่มีทั้ง ของแท้ของไม่แท้ ของที่นำกลับมาปรุงแต่งใหม่และกล้อง IIIc เช่นกัน แต่เป็น IIIc ที่ผลิตหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ ดังนั้นเรามาดูภาพและเรื่องที่กล่าวถึงต่อไปดีกว่าว่านอกจากกล้อง Leica แล้วอุปกรณ์เสริมต่างๆ ที่กองทัพเยอรมันใช้ในระหว่างสงครามมีอะไรที่น่าสนใจบ้าง

เลนส์ เลนส์ที่ใช้ร่วมกับกล้อง Leica ในระหว่างสงครามก็มีเลนส์ Elmar 3.5 ซม., Elmar 5 ซม., Hektor 2.8 ซม., Hektor 7.3 ซม., Hektor 13.5 ซม., Summitar 5 ซม. และ Summarex 8.5 ซม. (ภาพ 10-13)

ภาพ 10. เลนส์ Elmar 5 ซม. สลัก “Luftwaffen-Eigentum” ตรง mount lens ที่เป็น Chrome

ภาพ 11. เลนส์ Summarex 8.5 ซม. ที่ใช้กับกล้อง Leica IIIc รุ่น Grey paint

ภาพ 12. เลนส์ Summitar 5 ซม. ที่สลักคำว่า “Heer”

ภาพ 13. เลนส์ Hektor 2.8 ซม. ของกองทัพเรือ สลักคำว่า “W. Haven” (Wilhelmshaven)

อุปกรณ์เสริมอื่นๆ เท่าที่พบได้แก่ โฮลเดอร์ กระบังเลนส์สำหรับติดตั้งเลนส์ Summitor 5 ซม. ห่วงสำหรับนักบินที่สวมถุงมือใช้กล้องถ่ายภาพได้ถนัดมือ กระเป๋ากล้องที่ทำจากอะลูมิเนียม สลักสัญลักษณ์ “Sonnenblende fur Luftaufnahmen Objektiv Summitar  f5 cm. 1:2” ที่ด้านบนด้านหลังเจาะเป็นช่องให้สามารถเปิดใช้กล้องได้สะดวกรวดเร็ว แม้ในสภาพอากาศคลื่นลมแรงจัด (ภาพ 14)

ภาพ 14. กระเป๋ากล้องชุดพิเศษที่ใช้ในกองทัพอากาศ ทำจากอะลูมิเนียม

เอาละ คราวหน้าเราจะมาเล่ากันต่อถึงกล้องไลก้าที่ประเทศอื่นๆ ที่ใช้กันบ้าง และความนิยมของนักสะสมกล้องที่มีต่อ Leica Military Version ว่าจะขะไหนหนาด !

ไม่ใช่มีแต่กองทัพของเยอรมันเท่านั้นที่ใช้กล้อง Leica ในช่วงสงคราม กองทัพของประเทศอิตาลี ก็ใช้กล้อง Leica ในช่วงของสงครามด้วยเช่นกัน ในช่วงของก่อนสงครามโลก กองทัพอิตาลีซื้อกล้อง Leica IIIb เพื่อนำไปใช้ในกองทัพอากาศ มีการสลักคำว่า “R.Aeronautica” ที่ตัวกล้อง ซึ่งคำว่า “R” นั้นหมายถึง “Regai” หรือในภาษาอังกฤษว่า “Royal” กล้องรุ่นพิเศษซึ่งมีตรา 250 ถูกขายทอดตลาดในระหว่างปี ค.ศ. 1983 มีการสลักคำว่า E.Aeronautica และก็ไม่มีใครทราบถึงความหมายของคำว่า “E” ที่สลักเอาไว้ภายหลังสงคราม กล้อง Leica IIIc จำนวนมากที่ผลิตในรุ่นการผลิตเดียวกันถูกซื้อเข้ามาใช้ในกองทัพอากาศ และสลักคำว่า “Aeronautica Militare” สีแดงเหนือหมายเลขประจำกล้อง (Serial Number) ซึ่งภายหลังก็มีการขายกล้องรุ่นนี้ออกไป และมีกล้องจำนวนมากในรุ่นนี้ที่ตกอยู่ในมือของนักสะสมกล้อง

หน่วยบริการของ สหราชอาณาจักร ก็ใช้กล้อง Leica ในระหว่างที่เกิดสงครามเช่นเดียวกันกล้องที่ใช้ในช่วงสงครามอาจจะมาจาก E.Leitz หรืออาจจะมาจากร้านขายปลีก ในช่วงที่สงครามเริ่มต้น รัฐบาลอังกฤษต้องการกล้องที่สามารถใช้ได้โดยไม่ต้องเสริมอุปกรณ์อะไรอีกเป็นการชั่วคราว เมื่อสิ้นสงคราม กล้องเหล่านี้จึงต้องตกอยู่ในมือของเจ้าของเดิมอีกครั้ง กล้องพวกนี้จะสลักคำว่า Patt 8665 (ภาพ 15-16) ซึ่งมาจากคำว่า Pattern 8665 โดยการสลักของกองทัพเรือกล้องเหล่านี้ถูกส่งไปขายในสวีเดน แล้วส่งต่อมายังอังกฤษโดย Mosquito Aircraft ซึ่งในช่วงนี้เป็นช่วงกลางสงคราม แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้แน่นอน

ภาพ 15. กล้อง Leica IIIc ของ Royal Naval

ภาพ 16. กล้อง Leica IIIb ของ Royal Air Force

หลังจากสงครามได้สิ้นสุดลงแล้วมีกองทัพอากาศของหลายประเทศที่สนใจกล้อง Leica เช่น กองทัพสหรัฐอเมริกาได้ซื้อกล้อง Leica IIIf, Leica M2 ซึ่งใช้รหัสในกองทัพว่า KS-15 ตาม ด้วย Leica M4 รุ่นใหม่ ซึ่งใช้รหัสในกองทัพว่า KE-7A (ภาพ 17) กองทัพสวีเดนมีกล้อง Leica IIIg รุ่นพิเศษอยู่บ้างเช่นกัน (ภาพ 18) มีการแกะสลักรูปมงกุฎของสวีเดน 3 อัน ที่ด้านหลังของตัวกล้อง (ภาพ 19-20) และที่ขอบเลนส์ 50 มม. F2.8 ELMAR ซึ่งติดมากับกล้อง เยอรมันใช้กล้อง Leica M1 สีเขียวดำ มีหมายเลข .5+13.5” (ภาพ 21) สลักเอาไว้ที่ด้านบนของตัวกล้องใต้คำว่า “Wetzlar Germany” ซึ่งแสดงถึงเลนส์และช่องมองภาพที่ใช้กับเลนส์ตัวนี้และก็ยังมีกล้อง Leica M3 สีโอลีฟ กล้องที่กล่าวไปนั้นมีการสลักคำว่า “Bundeseigentum” (ภาพ 22) นอกจากนี้ ทางโรงงานยังได้มีการผลิตกล้อง Leica M1, M2 และ M4 สีเขียวเข้ม และ Leica M2 สีเทาอีกด้วย

ภาพ 17. กล้อง Leica M4 KE-7A ของกองทัพสหรัฐ ผลิตโดย Leitz Midland

ภาพ 18. กล้อง Leica IIIg ของกองทัพอากาศสวีเดน

ภาพ 19. (ภาพบน) เป็นรูปมงกุฎบนตัวเลนส์
ภาพ 20. (ภาพล่าง) เป็นรูปมงกุฎที่บนตัวกล้อง

ภาพ 21. กล้อง Leica M1 สีเขียวเข้ม มีเครื่องหมาย 5+13.5 ที่ด้านบนตัวกล้อง

ภาพ 22. กล้อง Leica M3 สีโอลีฟ

Leica M4 ที่ใช้ในกองทัพของอเมริกาถูกผลิตมาจากแคนาดามีรายละเอียดของวิธีการใช้และซ่อมแซม ซึ่งคู่มือนี้ถูกผลิตออกมาโดยหน่วยบริการกล้องเทคนิคของกองทัพสหรัฐอเมริกา ซึ่งอ่านได้ง่ายและเข้าใจได้ดีกว่ามาก และ ในคู่มือการใช้นี้ก็มีวิธีการทำลายกล้องเพื่อป้องกันไม่ให้กล้องตกอยู่ในมือศัตรู มีส่วนหนึ่งบอกวิธีการทำลายชิ้นส่วนของกล้อง จะใช้ฆ้อน ขวาน วิธีการตีหรือกระแทก แม้กระทั้งการระเบิดทิ้ง

ความยืนยงของ Leica ไม่ใช่มีเฉพาะสำหรับการถ่ายภาพ แต่…เสน่ห์ของ Leica คือ เรื่องราวทั้งประวัติการใช้งาน การคิดค้น ที่อยู่เหนือกล้องทุกยี่ห้อในเวลานั้น…และ…กล่าวได้ว่า Leica เป็นต้นแบบของการออกแบบกล้องในยุคต่อมา Leica เป็นกล้องที่ถูกลอกเลียนแบบมากที่สุดเลยก็ว่าได้ มาติดตาม เรื่องราวของ Leica กันต่อไปครับพบกันใหม่ ตอนหน้า…

ย้อนไปดูตอนที่ 1 ได้ลิงค์ข้างล่างนี่

Leica…ตำนานกล้องที่ช่างภาพใฝ่ฝัน (กำเนิดกล้อง Leica)

ย้อนไปดูตอนที่ 2 ได้ลิงค์ข้างล่างนี่

Leica…ตำนานกล้องที่ช่างภาพใฝ่ฝัน ตอน 2 (ปอกเปลือก…UR-CAMERA)

ย้อนไปดูตอนที่ 3 ได้ลิงค์ข้างล่างนี่

Leica…ตำนานกล้องที่ช่างภาพใฝ่ฝัน ตอน 3 (Leica I หรือ Leica model A)

ย้อนไปดูตอนที่ 4 ได้ลิงค์ข้างล่างนี่

Leica…ตำนานกล้องที่ช่างภาพใฝ่ฝัน ตอน 4

ย้อนไปดูตอนที่ 5 ได้ลิงค์ข้างล่างนี่

Leica…ตำนานกล้องที่ช่างภาพใฝ่ฝัน ตอน 5

ย้อนไปดูตอนที่ 6 ได้ลิงค์ข้างล่างนี่

Leica…ตำนานกล้องที่ช่างภาพใฝ่ฝัน ตอน 6

ย้อนไปดูตอนที่ 7 ได้ลิงค์ข้างล่างนี่

Leica…ตำนานกล้องที่ช่างภาพใฝ่ฝัน ตอน 7 (The Die-cast Model)